ประชาชน แนะคณะพูดคุยฯ เน้นความปลอดภัย ปากท้อง และความโปร่งใส

มารียัม อัฮหมัด
2019.01.09
ปัตตานี
190109-TH-bomb-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ ใกล้ฐานกองกำกับการตำรวจตระเวณชายแดนที่ 43 ในพื้นที่อำเภอเทพา สงขลา วันที่ 8 มกราคม 2562
(มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

ในวันพุธนี้ พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดเวทีเพื่อพูดคุยกับภาคประชาชนเพื่อการดำเนินการพูดคุยเพื่อสันติสุขให้ได้ผล ซึ่งภาคประชาชนได้ให้ความเห็นว่าควรเน้นการรักษาความปลอดภัย เรื่องปากท้องประชาชน และให้เปิดเผยถึงการดำเนินการพูดคุยฯ ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างโปร่งใส

ในเวทีที่จัดให้มีขึ้นในวันพุธที่ 9 มกราคม 2562 นี้ โดยมีภาคประชาชน สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 200 คน โดยทางรัฐบาลมีเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้แก่ภาคประชาชนอีกด้วย เช่น นายธวัชชัย ฤทธากรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ พลโทบรรพต พูลเพียร ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามสถานการณ์ กอ.รมน. นายฉัตรชัย บางชวด ผู้ช่วยเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ พลตรีเกรียงไกร ศรีรักษ์ ผู้บัญชาการกอบัญชาการช่วยรบที่ 4 กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า และนางสาววันรพี ขาวสะอาด นักวิชาการยุติธรรม ชำนาญการพิเศษกระทรวงยุติธรรม

นางบุษยมาส อิศดุลย์ ประธาน กลุ่มเยาวชนนอกระบบบ้านบุญเต็ม ซึ่งรับผิดชอบดูแลสิทธิของเยาวชนในคดีความเบื้องต้น กล่าวว่า เรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในขณะระหว่างการเจรจาสันติสุข ก็คือ เรื่องความปลอดภัย และเศรษฐกิจ

"เรื่องที่มีความสำคัญที่สุด คือความปลอดภัยในชีวิตของพี่น้องไทยพุทธมุสลิม... วันนี้ เราก็ต้องพูดถึงเรื่องเมื่อวาน ในเรื่องของความปลอดภัยในเรื่องของเป้าหมายอ่อนแอในพื้นที่สามจังหวัดทุกจังหวัด ในสังคมของคนเมืองเราไม่เจอตรงนี้ ในไทยพุทธมีบ้าง ส่วนที่อยู่ในพื้นที่รอบนอกคือเป้าหมายอ่อนแอ” นางบุษยมาส กล่าวถึงเหตุการณ์ปล้นฆ่าชิงรถยนต์เพื่อทำคาร์บอมบ์ ในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เมื่อวานนี้  

“และตามที่ได้ข้อมูลมา ปัญหาปากท้องคือปัญหาที่สำคัญที่สุด ยังมีคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้สนใจประเด็นสันติภาพ สนใจแค่ว่าราคายางกิโลเท่าไหร่ จะกินอะไร พรุ่งนี้จะมีงานทำไหม ครอบครัวจะตกงานเมื่อไหร่ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญที่สุดในพื้นที่ กระบวนการสันติภาพมันจะขับเคลื่อนไปได้ ถ้าได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ทุกภาคส่วน" นางบุษยมาส กล่าวในเวที

"ขอให้คณะพูดคุยเรียกความศรัทธากลับมา โดยเฉพาะในเรื่องของการเคลื่อนไหวว่ากำลังทำอะไรกัน กำลังจะคุยกับปาร์ตี้-บี แบบไหน กำลังจะส่งสัญญาณกับพวกเราซึ่งเป็นพลเมืองพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่เราคาดหวัง แล้วก็ต้องการคำตอบอย่างชัดเจน" นางบุษยมาส กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พลเอกอุดมชัย ธรรมสาโรรัตน์ กล่าวว่า มาเลเซีย ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกได้ประกาศช่วยเหลือไทยในกระบวนการพูดคุยอย่างความชัดเจน และได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อมาอำนวยความสะดวกการพูดคุยชุดใหม่ขึ้นมา สวนฝ่ายไทยนั้น ได้กำหนดให้การพูดคุยเป็นวาระแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว

“ซึ่งการพูดคุยครั้งนี้ คณะเราไม่ได้บังคับใครเข้ามาคุยเราจะเชิญตามกระบวนการเพื่อมาคุยและให้ตกผลึกที่สุด คำตอบจะออกมาเป็นอย่างไร ก็จะนำมาพูดคุยกับทุกกลุ่มทุกฝ่ายทั้งหมด ทั้งไม่เป็นทางการและเป็นทางการ เราจะมีการแยกคุยเป็นกลุ่มทั้งในประเทศและในพื้นที่ และสังคมที่ต่างประเทศ โดยจะเชิญทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อยุติความรุนแรง” พลเอกอุดมชัย กล่าว

“แม้สุดท้ายที่เราจะคุยกันแล้วได้ข้อตกลงที่ว่า จะต้องมีการแก้กฎหมาย เราก็จะแก้กฎหมาย ตอนนี้การพูดคุยก็ได้เป็นวาระแห่งชาติแล้วก็อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วม” พลเอกอุดมชัย กล่าวเพิ่มเติม

นายรักชาติ สุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพลเรือนในพื้นที่ในระหว่างที่มีการพูดคุย เราจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ยังไง นอกจากเราจะคุยกับกลุ่มข้างบน แล้วเราก็ต้องคุยกับคนในพื้นที่ด้วย

"ถ้ามีใครสามารถต่อบีอาร์เอ็นได้ก็น่าจะเป็นบทบาทที่ดี เพราะขณะนี้ คนจากพื้นที่น่าจะยังไม่มีการพูดคุยกัน อาจจะมีการพยายามประสานกับบีอาร์เอ็น เพื่อที่จะให้เข้ากลุ่มขบวนการพูดคุย แต่ว่าล่าสุดที่เราดูคลิป ก็เกิดการปฏิเสธที่จะไม่ร่วมกับสยาม อันนี้ก็เป็นการบ้านอีกข้อหนึ่งเป็นโจทย์ข้อใหญ่ ที่คณะพูดคุยที่จะต้องแก้" นายรักชาติ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย ได้กล่าวว่า ทางมาเลเซีย ได้ทำตามคำร้องขอของพลเอกอุดมชัย ที่ให้นัดพบกับนายดูนเลาะ แวมะนอ ซึ่งทางการไทยระบุว่า เป็นผู้มีอำนาจควบคุมฝ่ายกองกำลังของบีอาร์เอ็น แต่นายดูนเลาะได้หลบการนัดพบไปสองครั้ง ขณะที่ตัวแทนสำนักประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็นออกมาปฏิเสธการเจรจา หากไทยเห็นด้วยกับเงื่อนไขที่เรียกร้อง เช่น การให้มีตัวแทนนานาชาติเข้าร่วม

"การพูดคุยไม่จำเป็นที่จะต้องคุยกับคนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐหรือในขบวนเท่านั้น จะต้องมีการคุยกับทุกคนทุกภาคส่วนในพื้นที่พร้อมๆ กับการพัฒนาทุกส่วนช่วยกันทำให้พื้นที่ดีขึ้น ทั้งเศรษฐกิจทุกอย่างให้สามารถดีขึ้น ให้ชาวบ้านมีความอยู่ที่ดีกว่าทุกวันนี้" ผู้นำศาสนา ในพื้นที่รายหนึ่งกล่าวว่า

“ไม่ใช่เป็นแต่คำพูดลอยๆ ของรัฐ ต้องคุยกับกลุ่มยาเสพติด ต้องคุยกับกลุ่มอิทธิพล ต้องคุยกับกลุ่มคอรัปชัน ทุกวันนี้ รัฐให้งบมา 6 บาท ถึงประชาชนแค่ 2 บาท ที่เหลือช่วยกันกิน ต้องคุยกับคนเหล่านี้ด้วย” ผู้นำศาสนาคนเดียวกันกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง