สหภาพยุโรปประกาศ “ปลดใบเหลือง” ประมงไทย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.01.08
กรุงเทพฯ
190108-TH-fishermen-1000.jpg แรงงานประมงต่างชาติกำลังถ่ายปลาที่จับได้ลงที่ท่าเรือประมงแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559
(เบนาร์นิวส์)

ในวันอังคารนี้ สหภาพยุโรป ได้ประกาศยกเลิกใบเหลืองที่ออกให้กับประเทศไทยที่เป็นการเตือนให้ไทยแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ประเทศไทยได้ใช้ความพยายามมากว่าสี่ปีในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว  

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป โดยกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง ได้ออกใบเหลืองให้ประเทศไทย ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 หลังจากที่สื่อมวลชนเปิดโปงถึงการค้ามนุษย์ และการใช้แรงงานในภาคการประมงอย่างขาดมนุษยธรรม

ในช่วงค่ำของวันอังคารนี้ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวร่วมกับนายเคอเมนู เวลลา (Mr.Karmenu Vella) กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง (European Commissioner for Environment, Maritime Affairs, and Fisheries) ณ สำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม หลังจากที่ นายเวลลาได้อ่านประกาศแถลงผลการพิจารณาปลดใบเหลืองไอยูยู ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ได้รับการพิจารณาในครั้งนี้

ทั้งนี้ กรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมฯ ได้ออกแถลงการณ์เช่นเดียวกันว่า ได้ยกเลิกใบเหลือง เพราะไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ โดยสัมฤทธิ์ผล

“คณะกรรมาธิการยุโรป ลบชื่อประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ถูกตักเตือน เป็นการรับรู้ถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม วันนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปฯ แจ้งให้ประเทศไทยทราบว่า ได้จัดการกับปัญหาที่บกพร่องในเรื่องกฎหมายการประมง และระบบการบริหารจนบรรลุผลเรียบร้อยแล้ว” ข้อความในแถลงการณ์ของอีซีส่วนหนึ่งแสดงไว้

พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า เป็นความสำเร็จของทุกภาคส่วน ในการร่วมมือแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายทั้งระบบอย่างเต็มที่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยได้ยกระดับการทำประมงเชิงพาณิชย์ทั้งในและนอกน่านน้ำเข้าสู่มาตรฐานสากล และยืนยันจะเดินหน้าจัดการการทำประมงผิดกฎหมายให้หมดไปอย่างสมบูรณ์

“จากนี้ไปรัฐบาลไทยจะยังมีความมุ่งมั่นที่จะขจัดปัญหาการทำประมงไอยูยู เพราะตระหนักดีถึงความจำเป็นที่จะต้องรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่ออนุชนรุ่นหลัง” พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว

ในการแก้ปัญหานั้น รัฐบาลไทยได้ตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ซึ่งรวมเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งได้มีการแก้กฎหมายประมงให้เหมาะสม รื้อรายการเรือที่ไม่จดทะเบียนหรือจดทะเบียนซ้อน กำจัดเครื่องมือผิดประเภท วางระบบติดตามควบคุมการเข้าออกเรือ การทำสัญญากับแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นธรรม รวมทั้ง ได้ประกาศลงสัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานในภาคการประมง ฉบับที่ C188 ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีการปรับปรุงสภาพการทำงาน เช่น มีห้องพัก และห้องน้ำให้กับลูกเรือขนาดยาว 24 เมตรขึ้นไป เป็นต้น แม้ว่าอนุสัญญาฯ นี้ จะไม่ได้เป็นหนึ่งเงื่อนไขของไอยูยูก็ตาม

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ประเทศไทยได้วางรากฐานระบบป้องกันการทำประมงไอยูยูไว้อย่างสมบูรณ์ ใน 6 ด้าน คือ ด้านกฎหมาย  ด้านการบริหารจัดการประมง ด้านการบริหารจัดการกองเรือ ด้านการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวัง (MCS) ด้านการตรวจสอบย้อนกลับ และ ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนการดำเนินการต่อไปหลังการเจรจาระดับทวิภาคีร่วมกับนายเวลลา ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันเกี่ยวกับแผนงานความร่วมมือในอนาคตกับสหภาพยุโรปเพื่อให้ไทยบรรลุการเป็นประเทศปลอดประมงไอยูยู หรือ ไอยูยูฟรี ได้โดยสมบูรณ์ต่อไป

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดี โดยได้กล่าวผ่านโฆษกรัฐบาลว่า ขอบคุณอียูที่เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยู ที่สำคัญต้องยกความดีให้ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ ทั้งชาวประมง ผู้ประกอบการ และหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้ร่วมมือร่วมใจกันทุ่มเทอย่างเต็มที่ รวมทั้งหวังว่าสามารถค้าขายผลผลิตได้มากขึ้น เมื่อต่างชาติมีความมั่นใจ

ด้านนายมะนาเซ สาและ ชาวประมงในปัตตานี กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่ทราบเรื่องนี้ แต่ก็รู้สึกดีใจ

“ก็ขอให้จริง เหมือนเอาโซ่ตรวนออกจากคอ จะทำอะไรก็จะง่าย ทั้งเวลาลงไปหาสัตว์น้ำและเวลาได้สัตว์น้ำมา เจ้าหน้าที่และรัฐบาลก็ไม่ควรปฎิบัติกับชาวบ้านเคร่งตึง โดยที่ไม่ฟังความเห็นจากชาวประมง” นายมะนาเซ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

กรมประมงและสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเรือขนาดใหญ่กว่า 10 ตันกรอสขึ้นไปขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ 10,600 ลำ ยังไม่นับรวมส่วนเรือประมงพื้นบ้านหรือเรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี มีส่วนร่วมในการรายงานข่าวฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง