เปิดเปลือยโลกเบื้องหลังและชีวิตที่ต้องฟันฝ่าของสาวบริการ
2024.10.31
กรุงเทพฯ

“ไม่มีใครภูมิใจที่ทำงานอาชีพนี้หรอก แต่ความรู้เรามีแค่นี้ ทำไงได้ อย่างน้อยเราก็ได้ปลูกบ้านให้พ่อแม่ ส่งน้อง ส่งหลานเรียน ได้ช่วยเหลือญาติพี่น้องเรา เขาไม่รู้หรอกว่าเราได้เงินมาจากงานแบบไหน ขอแค่เขาดีใจ เราก็ดีใจกับเขาด้วย สิ่งนี้มันทำให้เรามีความสุขมาก” แวว เล่าให้เบนาร์นิวส์ฟัง
แวว ในวัย 59 ปี บอกว่า ทางเลือกในชีวิตของเธอมีไม่มากนัก เพราะเรียนไม่สูง ฐานะทางบ้านที่เชียงรายก็ยากจน เธอตัดสินใจทำอาชีพนี้จากการชักชวนของเพื่อน ถึงปัจจุบัน เธอทำงานบริการมาร่วม 30 ปี เริ่มงานตอนเที่ยงวัน เลิกงานเมื่อรถประจำทางหมด ในหนึ่งวันรับลูกค้าประมาณ 4-5 คน คิดค่าบริการ 300-400 บาทต่อครั้ง
สหพันธ์ผู้ขายบริการทางเพศนานาชาติ (International Union of Sex Workers) ประเมินว่า ไทยมีพนักงานบริการทางเพศ (Sex Worker) กว่า 250,000 คน อยู่ในอันดับ 8 ของโลก แต่ในทางกฎหมาย บริการทางเพศกลับเป็นอาชีพต้องห้าม มีโทษทางอาญา ไม่มีสวัสดิการ และไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือนแรงงานทั่วไป
“เฉลี่ยพนักงานบริการ 1 คนดูแลคนข้างหลัง 5 คน ถ้าประเมินว่าไทยมีพนักงานบริการ 300,000 คนทั่วประเทศ เท่ากับพวกเขาดูแลคนข้างหลังเกือบล้านคน อาชีพนี้มีส่วนในการขยาย GDP แต่กลับไม่ถูกกฎหมาย สิ่งที่เราเรียกร้องจึงเป็นการให้พวกเขาทำงานได้อย่างถูกต้อง ได้รับการคุ้มครองในฐานะแรงงานเหมือนอาชีพอื่น” ทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงาน มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์(Empower Foundation) กล่าว
ในประเทศไทย อาชีพพนักงานบริการทางเพศเป็นอาชีพเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 หลักฐานที่ชัดเจนคือ ในปี 2411 รัฐบาลได้ออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีบำรุงถนนจากผู้ค้าบริการทางเพศ เพื่อนำเงินไปสร้างถนนขยายตัวเมือง ซึ่งเท่ากับว่า อาชีพนี้เคยถูกกฎหมาย และเป็นที่ยอมรับจากรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหประชาชาติ(United Nations-UN) เริ่มให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้หญิงและเด็ก ทำให้ไทยต้องปรับปรุงกฎหมายตาม รัฐบาลจึงออก พรบ. ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ที่ทำให้อาชีพบริการทางเพศมีความผิดทางอาญา และแม้ว่า ปัจจุบัน รัฐบาลจะเปลี่ยนมาใช้ พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 แทนกฎหมายเดิม แต่อาชีพบริการทางเพศก็ยังคงสถานะผิดกฎหมายอยู่
“ทุกวันนี้ กฎหมายทำให้พนักงานบริการอยู่ในสถานะไม่ต่างจากอาชญากร ที่น่าตลกคือ แม้จะทำงานอยู่ในสถานบริการที่ถูกกฎหมาย แต่ตัวพนักงานกลับเป็นคนทำผิด ไม่มีสถานะลูกจ้าง และถ้าถูกดำเนินคดีก็จะมีสถานะเป็นอาชญากร เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นไม่ได้ เลิกทำอาชีพเดิมก็ไม่ได้ กลายเป็นถูกขังในอาชีพนี้ โดยไม่มีอนาคต” ทันตา กล่าว
งานบริการทางเพศคืออาชีพ
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา กลุ่มพนักงานบริการบาร์, อะโกโก้, อาบอบนวด และคาราโอเกะ จึงนัดทำกิจกรรม “ฉันมาทวงกฎหมายของฉันคืน” SEX WORK IS WORK เพื่อเรียกร้องให้ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจัดทำ ร่าง พรบ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ที่ประชาชนร่วมกันลงเชื่อเสนอต่อรัฐบาลตั้งแต่ปี 2566 ให้เสร็จสมบูรณ์
“มีครั้งนึง มีลูกค้าประจำมาใช้บริการ เขาขอเลี้ยงเบียร์เรา แล้วเราก็ให้บริการกันไปจนเสร็จกิจ พอแยกย้าย ปรากฎว่า โทรศัพท์ของเราหาย เราคิดว่า ลูกค้าน่าจะขโมยไปตอนที่เราเข้าห้องน้ำ แต่พอเราไปแจ้งความ ตำรวจดันบอกว่า จะปรับเรา 1,000 บาทแทนการให้ติดคุก เราถามว่า ปรับเราทำไม เขาบอกว่า เพราะเราขายบริการ เราคิดว่า เราไม่ใช่ผู้ร้ายนะ เพราะทั้ง 2 คนสมยอมกัน” มะนาว พนักงานบริการทางเพศ-แม่เลี้ยงเดี่ยว เล่าให้เบนาร์นิวส์ฟัง
มะนาว บอกว่า เธอทำอาชีพพนักงานบริการมาตั้งแต่อายุ 28 ปี อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 20 ปี แม้มันจะเป็นอาชีพที่มอบหลายอย่างให้กับเธอ แต่หลายครั้งก็นำพาเธอไปอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายเช่นกัน
“เพื่อนเราหลายคนโดนตำรวจล่อซื้อ แล้วก็ต้องไปเสียค่าปรับที่โรงพัก บางครั้งก็มีพวกนอกเครื่องแบบมาขอเงินกันดื้อๆ 500 บาท ถ้าไม่มีก็ต้องผ่อนจ่ายเอา บางคนก็ขอหลับนอนด้วยแทนเงิน เราเถียงอะไรเขาไม่ได้ เพราะต้องทำงานเลี้ยงดูคนข้างหลัง หลายครั้งพวกเราก็ต้องเลือกที่จะยอมให้จบๆกันไป เพราะไม่อยากมีปัญหา” มะนาว กล่าว

ในการแก้ปัญหาระยะสั้น มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (Service Workers in Group Foundation : SWING) เสนอว่า ถ้าการทำ พรบ.คุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ต้องใช้เวลานาน รัฐบาลควรออกกฎกระทรวง เพื่อคุ้มครองลูกจ้างในสถานบริการชั่วคราว ระหว่างที่กระบวนการยกเลิกกฎหมายเดิม และร่างกฎหมายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ
“พรบ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เป็นกฎหมายที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากๆ เพราะคนที่ทำงานตรงนี้เลือกด้วยความสมัครใจ เขาใช้เนื้อตัวร่างกายของตัวเองทำงาน แต่กฎหมายกลับเปิดโอกาสให้ข้าราชการที่ไม่สุจริตมาเอาเปรียบ และหาประโยชน์จากเขา โดยที่เขาไม่สามารถต่อสู้ได้” สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการ SWING กล่าว
ก่อนหน้านี้ ในงาน Pride Month เดือนมิถุนายน 2567 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยืนยันต่อผู้ร่วมงานว่า รัฐบาลจะผลักดันให้อาชีพบริการทางเพศเป็นที่ยอมรับ และมีสิทธิเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ แต่ถึงปัจจุบัน สถานะของพนักงานบริการทางเพศยังคงไม่ต่างจากเดิม
“ทุกวันนี้ เวลาเราออกไปยืนทำงาน เราก็อายนะ ถ้าเราขอได้ก็แค่อย่ามาดูถูกกันเลย เราก็ทำงานของเรา เราก็เหนื่อยเหมือนกัน ต้องเจอกับลูกค้าสารพัดรูปแบบ เราคิดว่า ถ้าอาชีพนี้มันถูกกฎหมายก็ดี เพราะเราก็อยากมีสวัสดิการ มีประกันสังคม เหมือนคนทำงานบริษัททั่วไป ถ้ามันถูกกฎหมาย คนก็คงจะยอมรับเรา แล้วก็คงเข้าใจอาชีพเรามากขึ้น” แวว กล่าว