อินเดีย: การทำประมงผิดกฎหมาย ในเบงกอลตะวันตก ก่อให้เกิดการขาดแคลนปลา
2016.02.12
ปรับปรุงข้อมูล เวลา 2:17 p.m. ET 2016-02-16
เมื่อผนวกการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่ทำลายล้างสิ่งแวดล้อม และการทุจริตคอรัปชั่น เข้าด้วยกัน นั่นคือสาเหตุสำคัญในการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำและแหล่งที่อยู่อาศัยสัตว์น้ำ ในชายฝั่งตะวันออกของอินเดีย ผู้สังเกตุการณ์เฝ้าระวังด้านการประมงระดับสูง กล่าว
"เรือประมงอวนลากที่เข้ามาทำการประมงอย่างผิดกฎหมายในน่านน้ำของอินเดีย ในอ่าวเบงกอล ส่วนใหญ่มาจากประเทศบังคลาเทศ และไต้หวัน บางส่วนมาจากประเทศไทยด้วย" ปรานับ กูมาร์ การ์ รองประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมประมงอินเดีย (FIFI) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
"เรือเหล่านี้ล้วนติดอุปกรณ์ที่ทันสมัยสำหรับใช้ลาก ซึ่งสามารถกวาดล้างถึงพื้นดินใต้ทะเล และจับปลาได้ปริมาณสูงมาก" การ์ กล่าว
การ์ กล่าวเสริมว่า ชาวประมงอินเดีย มักจะตกเป็นเหยื่อถูกโจรสลัดปล้นด้วย
"เรืออวนลากที่มาจากประเทศอื่น มักจะบังคับเอาปลาจำนวนมากที่ชาวประมงอินเดียจับมาได้" การ์ กล่าว "ไม่มีทางเลือก ที่จะปฏิเสธการขายปลาให้แก่โจรสลัดเหล่านี้ เพราะเป็นที่รู้กันดีว่ามันอันตราย"
ในการประชุมข่าว ที่กัลกัตตาสัปดาห์นี้ สหพันธ์อุตสาหกรรมประมงอินเดีย กล่าวเตือนว่า หากไม่มีการตรวจสอบการหาประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรทะเล ในอ่าวเบงกอล แล้วนั้น ตลาดในประเทศอินเดียจะเกิดวิกฤตขาดแคลนปลาอย่างแน่นอน
อวนลาก ลักษณะคล้ายถุง เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำ โดยการใช้เรือลากจูงอวนให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง ถึงพื้นดินใต้ทะเล ซึ่งนักอนุรักษ์กล่าวถึงเครื่องมือชนิดนี้ว่าเป็นตัวทำลายพื้นท้องทะเล
‘ไม่มีมูลความจริง’
เจ้าหน้าที่พาณิชย์นาวี ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่งบอกเบนาร์นิวส์ว่า เรือประมงต่างชาติเข้ามาในน่านน้ำอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้การติดสินบนเจ้าหน้าที่ยามชายฝั่ง
ได้มีการพยายามติดต่อเพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้จากหน่วยยามฝั่งของประเทศอินเดียหลายครั้ง ซึ่งไม่สามารถติดต่อได้ในทันที แต่ในเวลาต่อมา ทางหน่วยงานดังกล่าวได้ให้การปฏิเสธการกล่าวอ้าง
คำกล่าวหาว่า เรือประมงต่างชาติเข้ามาในน่านน้ำอย่างผิดกฎหมาย โดยให้การติดสินบนเจ้าหน้าที่ยามชายฝั่ง
นั้นไม่มีมูลความจริง และยอมรับไม่ได้ รองผู้บัญชาการ อวินันดาน มิตรา โฆษกยามชายฝั่งภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวในข้อความ
นายมิตรา ยังปฏิเสธการกล่าวอ้างที่ว่า หน่วยงานยามฝั่งได้รับอนุญาตให้ "ละเว้นการตรวจค้น เรืออวนลากที่ผิดกฎหมาย" โดยเรือต่างชาติในอ่าวเบงกอล ได้เปิดเผย
"ไม่มีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นในเขตน่านน้ำอินเดีย เมื่อเรือประมงอวนลากที่ผิดกฎหมายเข้ามาในน่านน้ำอินเดีย พวกเขาจะถูกจับกุมทันที" มิตรา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์
จากรายงานของสหประชาชาติปี 2549 ความเสียหายในระบบนิเวศน์ของภูเขาใต้ทะเลทั่วโลก ร้อยละ 95 เกิดจากการทำลายล้างท้องทะเลโดยการใช้เครื่องมืออวนลาก
อีนัคชี ซินฮา รอยด์ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากกัลกัตตา กล่าวว่า หลายประเทศได้มีการห้ามใช้ หรือกำหนดข้อจำกัดอย่างเข้มงวดในการใช้เครื่องมือชนิดนี้
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่กล่าวถึง
ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ห้ามใช้เครื่องมืออวนลาก ในเรือประมง หลังจาก สหภาพยุโรปได้ออกใบเหลืองให้แก่ประเทศไทย ซึ่งไทยอาจเผชิญกับการถูกห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล สู่สหภาพยุโรป นอกจากไทยจะมีการจัดการหรือดำเนินมาตรการทางกฎหมาย เนื่องจากการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน หรือ ไอยูยู
'เรืออวนลากจากต่างชาติมีขนาดใหญ่มาก'
ในประเทศอินเดีย เรือประมงต่างชาติเข้ามาในน่านน้ำอย่างผิดกฎหมาย โดยใช้การติดสินบนเจ้าหน้าที่ยามชายฝั่ง เจ้าหน้าที่พาณิชย์นาวี ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่งกล่าว
เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นจากหน่วยยามฝั่งของประเทศอินเดียได้
เนอร์มาล ไมตี ชาวประมงจาก เจเลียคาลี ดินแดนที่อยู่กลางป่าซุนดาร์บันส์ กล่าวว่า การปล้นในอ่าวเบงกอลมีเพิ่มมากขึ้น
"เมื่อโจรสลัด – ที่ส่วนใหญ่มาจากประเทศบังคลาเทศ – บอกให้เราหยุดเรือ เราก็ต้องหยุด มิฉะนั้นอาจจะเป็นอันตรายต่อชีวิตโดยไม่จำเป็น" ไมตีบอกเบนาร์นิวส์
"เมื่อก่อนนี้ พวกเขาใช้การลักพาตัวชาวประมง เพื่อเรียกค่าไถ่ แต่ปัจจุบันนี้ พวกเขาอาศัยปล้นเอาสัตว์น้ำที่เราจับได้ไปคุ้มกว่า" เขากล่าว
ไมตี กล่าวว่า เรือประมงอวนลากต่างชาติจำนวนมหาศาล ที่เข้ามาในเขตน่านน้ำของประเทศเรา อย่างผิดกฎหมายนั้นเป็น "ปัญหาใหญ่สำหรับชาวประมงอินเดีย" เพราะจำนวนของปลาที่จับได้ลดลงอย่างมาก
"เรือต่างชาติมีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพกว่าของเรา อวนลากของเราไม่สามารถแม้แต่จะเข้าไปใกล้ เมื่อใดก็ตามที่มีเรือประมงอวนลากต่างชาติอยู่ในบริเวณนั้น ปริมาณปลาที่เราจับได้ จะลดน้อยลงมากจนเห็นได้ชัด" เขากล่าว
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มโจรสลัดได้ลักพาตัวชาวประมงจาก ซันเดชคาลี ในรัฐเบงกอลตะวันตก โดยการใช้ปืนจี้ตัวไป แต่ซันดา ดาส ชาวประมงท้องถิ่น บอกว่า เขาหลบหนีออกมาได้
"การจับปลาในอ่าวเบงกอล กำลังกลายเป็นความเสี่ยงสูงและทั้งยังไม่ได้อะไรอีก โจรสลัดพวกนั้นก็โหดเหี้ยม ชาวประมงเล็กๆอย่างเรา แทบจะไม่ได้อะไรเลย ทุกวันนี้" ดาสบอกเบนาร์นิวส์
บิสวาจิต มานดัล พ่อค้าปลารายย่อย ในกัลกัตตา กล่าวว่า วิธีการทำประมงที่ผิดกฎหมายนอกชายฝั่งของรัฐเบงกอลตะวันตกนั้น ส่งผลให้ปริมาณปลาในประเทศลดลง
"เมื่อใดที่แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลเหือดแห้ง ราคาของปลาน้ำจืดหลากชนิดก็จะพุ่งสูงขึ้น ชาวบังกลาเทศส่วนใหญ่นิยมบริโภคปลาทะเลมากกว่า" มานดัล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
"เราเริ่มมองเห็นแล้วว่า มีปลาทะเลขายน้อยลง และหากปัญหาของการประมงผิดกฎหมายในอ่าวเบงกอล ยังไม่ถูกแก้ไข เราก็เพียงแต่รอเวลา ที่จะเห็นปลาทะเลขาดตลาด" เขากล่าว