สภาพแออัดในเรือนจำ “กำลังแย่ลง” เพราะจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย

ไฮรีซ อาซีม
2016.01.26
MY-IDC-THAILAND-NATHEE-620 ดร. นัทธี จิตสว่าง รองผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการลดแนวความคิดนิยมความรุนแรง และการปราบปรามแนวคิดลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรง 2559 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 26 มกราคม 2559
เบนาร์นิวส์

จำนวนผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายในเรือนจำอันแออัดของประเทศไทย กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลต่อการบริหารและบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่คนหนึ่งจากสถาบันแห่งหนึ่งที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล บอกในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย เมื่อวันอังคาร

เป็นที่เชื่อกันว่าผู้ต้องสงสัยส่วนใหญ่ถูกขังไว้ในทางภาคใต้ของไทย พื้นที่ที่เกิดเหตุก่อการร้ายเป็นประจำ ซึ่งผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนติดกับมาเลเซีย ที่ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้ก่อเหตุวางระเบิดและกราดยิงมาตั้งแต่ปี 2547 โดยพุ่งเป้าไปที่ทหารหรือตำรวจเสียเป็นส่วนใหญ่ และที่พลเรือนด้วยเช่นกัน

ผู้ต้องขังในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่าที่เรือนจำจะรองรับได้ถึงสามเท่า นายนัทธี จิตสว่าง รองผู้อำนวยการ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (สธท.) บอกในวันสุดท้ายของงานประชุมสองวัน เรื่อง “การลดแนวความคิดนิยมความรุนแรง และการปราบปรามแนวคิดลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรง” ที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น

นายนัทธีไม่ได้ให้ตัวเลขจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำของไทย หรือในเรือนจำของจังหวัดใดในภาคใต้ ที่เขาระบุว่าได้เผชิญกับ “วิกฤตการณ์แออัดของเรือนจำ” มานานกว่าหนึ่งทศวรรษแล้ว

แต่เขากล่าวว่า แม้กว่าร้อยละ 50 ของผู้ต้องขังในเรือนจำของไทย จะเป็นผู้ทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก็ตาม แต่ “สถานการณ์ดูเหมือนจะแย่ลง เมื่อจำนวนผู้ก่อการร้ายในเรือนจำยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”

“ความแออัดในทัณฑสถานมีผลกระทบอย่างมากต่อพื้นที่ในเรือนจำ และทรัพยากรอันจำกัด และทำให้ยากแก่การจัดทำโครงการและกิจกรรมการบำบัดที่เหมาะสมแก่ผู้ต้องขัง” เขากล่าว

นอกจากนี้ การจัดประเภทผู้ต้องขัง “ยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้สถานการณ์ที่มีผู้ต้องขังจำนวนล้นหลามเช่นนี้” เขาครวญ

นายนัทธีกล่าวว่า เรือนจำส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ขังผู้ก่อการร้าย โดยกล่าวว่า “ทัณฑสถานต้องได้รับการออกแบบ และวางแผนเป็นพิเศษ สำหรับผู้ต้องขังที่เป็นผู้ก่อการร้าย”

ผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีในศาล

อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งในการบำบัดฟื้นฟูผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย คือ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ไม่เคยถูกตัดสินว่ากระทำความผิดใด ๆ มาก่อน เขากล่าว

“ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ก่อการร้าย เป็นผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีในศาล เพราะ [คนเหล่านั้น] ยังไม่ได้ถูกพิพากษาลงโทษ” เขากล่าว

“ปัญหาคือ เมื่อคนเหล่านั้นยังคงเป็นผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีในศาล มีแนวโน้มว่าพวกเขาจะปฏิเสธที่จะเข้าร่วมในโครงการบำบัดฟื้นฟู” เขากล่าว โดยเสริมว่า มีเพียงการจัด “การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ” เท่านั้น เพื่อ “เปลี่ยนพฤติกรรมของคนเหล่านั้น”

นายนัทธียังเรียกร้องให้มีการปรับประสานในโครงการลดแนวความคิดนิยมความรุนแรง ทั้งภายในและภายนอกเรือนจำของไทยด้วย

เขากล่าวว่า ส่วนใหญ่ของผู้ต้องขังในจังหวัดภาคใต้ของไทย ถูกขังรวมกับผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย และเขาแย้งว่า “จำเป็นที่จะต้องมีการจัดประเภทผู้ต้องขัง”

“การแยกการบำบัดฟื้นฟูสามารถช่วยป้องกันคนเหล่านั้นจากการเกณฑ์ผู้ต้องขัง ให้เข้าร่วมในกลุ่มก่อการร้าย” เขากล่าว

สธท. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมของไทย ทำงานเกี่ยวกับการปฏิรูปเรือนจำ และพยายามส่งเสริมการวิจัยและการสร้างขีดความสามารถในการปราบปรามอาชญากรรม และการรักษาความยุติธรรม

ศูนย์นานาชาติสำหรับการศึกษาเรือนจำ ซึ่งมีฐานในกรุงลอนดอน กล่าวในรายงานฉบับหนึ่งว่า ประเทศไทยมีผู้ต้องขังจำนวน 314,858 คน อ้างอิงสถิติล่าสุด จากเมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา

ตามคำกล่าวของอดีตหัวหน้าผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมคนหนึ่ง ซึ่งรู้จักแต่เพียงชื่อว่า มะแอ ขณะนี้ มีผู้ก่อความไม่สงบจำนวนกว่า 300 คน ในเรือนจำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และในเรือนจำกลางบางขวาง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรือนจำที่มีการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด

มะแอ อดีตหัวหน้าของขบวนการปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล) ซึ่งถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อปีที่แล้ว กล่าวเมื่อเดือนกันยายนว่า เขาเชื่อว่ามีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 40 คน ในจังหวัดยะลา 40-50 คน ในจังหวัดนราธิวาส และประมาณ 80 คน ในจังหวัดปัตตานี

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ก่อความไม่สงบจำนวนทั้งสิ้น 150 คน ในเรือนจำจังหวัดสงขลา และในเรือนจำกลางบางขวาง

ความเมตตาการุณย์

รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย บริเตน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น จีน และอิตาลี เข้าร่วมในงานประชุมดังกล่าว

นายนัทธีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำของไทยแบ่งผู้ต้องสงสัยคดีก่อการร้ายออกเป็นสามกลุ่ม คือ หัวหน้าที่เป็นหัวกะทิ ผู้ที่ “มีแรงบันดาลใจและอุดมการณ์ที่หนักแน่น” ลูกน้อง หรือ “สมุน”  และผู้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธ

เขาเสริมว่า บรรดาผู้สนับสนุน และสมุนไม่ได้รับอุดมการณ์นั้นมา แต่เข้าร่วมกับกลุ่มเพราะ “ได้รับค่าตอบแทนสูง” เชื่อกันว่าคนเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้ายาเสพติด การบำบัดฟื้นฟูคนกลุ่มนี้มุ่งเน้นที่การสร้างทักษะด้านอาชีพ และการปรับทัศนคติส่วนตัวของคนเหล่านั้น เพื่อให้ "หางานทำได้ง่ายขึ้น หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ”

เขากล่าวว่า กลุ่มที่เป็นหัวหน้ากลุ่มติดอาวุธได้รับการบำบัดฟื้นฟู โดยการได้รับความเมตตา “อย่างแท้จริง” การบรรเทาความวิตกเกี่ยวกับครอบครัวของคนเหล่านั้น การนำตัวไปยังทัณฑสถานในจังหวัดบ้านเกิด และการให้สิทธิ์ในการเยี่ยมเยียน และให้ความช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว

ภิมุข รักขนาม มีส่วนร่วมในข้อมูลของการรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง