อาเซียนเผชิญบททดสอบความตึงเครียดทะเลจีนใต้และสงครามในเมียนมา
2024.10.08
เวียงจันทน์, ลาว และ มะนิลา

นักการทูตและนักวิเคราะห์ระบุว่า การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศลาวในสัปดาห์นี้ จะเป็นการทดสอบความสามารถของกลุ่มในการรับมือกับความท้าทายเร่งด่วน 2 ประการ ได้แก่ ความตึงเครียดที่เพิ่มมากขึ้นในทะเลจีนใต้ และวิกฤตในเมียนมา
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางเหตุการณ์เผชิญหน้าล่าสุดในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนที่มีท่าทีแข็งกร้าวขึ้นมากต่อประเทศสมาชิกอาเซียน 2 ประเทศ ได้แก่ ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการปะทะกันอย่างรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ การประชุมยังเกิดขึ้นในขณะที่สงครามภายในเมียนมา ซึ่งเริ่มขึ้นหลังการรัฐประหารทางทหารในต้นปี 2564 ยังคงดำเนินไปอย่างรุนแรง ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตและต้องอพยพออกจากถิ่นมากขึ้น
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ซึ่งมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 10 ประเทศ พยายามหาทางแก้ไขทั้งสองปัญหานี้มาโดยตลอด แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน
ภาพกราฟิกแสดงที่ตั้งและประชากรของสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ (เอเอฟพี)
เพื่อให้มั่นใจว่าปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศสมาชิกได้ถูกแก้ไข กลุ่มประเทศในภูมิภาคจะต้องสามารถร่วมกันดำเนินการเพื่อรับมือกับความท้าทายที่น่ากลัวที่สุดในภูมิภาคได้ สะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของลาว กล่าว
“อาเซียนต้องใช้ความพยายามร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้อย่างเป็นองค์รวมและอย่างมีประสิทธิผล เพื่อรักษาและส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตลอดจนรักษาความสัมพันธ์และความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในฐานะแรงผลักดันหลักในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม” สะเหลิมไซ กล่าวระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์และนักการทูตชี้ว่า ความจำเป็นในการตัดสินใจโดยฉันทามติของกลุ่ม ซึ่งประกอบด้วยประเทศที่มีระบบการเมืองและเป้าหมายทางนโยบายต่างกัน ทำให้การดำเนินการร่วมกันอย่างเด็ดขาดเป็นเรื่องยาก
“เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่ขัดแย้งมากขึ้น เช่น ข้อพิพาททะเลจีนใต้หรือวิกฤตการเมืองในเมียนมา อาเซียนได้แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนที่สำคัญ” ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยด้านนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว
“อาเซียนต้องปรับเปลี่ยนแนวทางหากต้องการบรรลุผลที่เป็นรูปธรรม” ดร. เอียชา กล่าวเสริม
ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้
จีนอ้างกรรมสิทธิ์เกือบทั้งทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญต่อการค้าของโลก แต่สี่ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีการอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทับซ้อนในภูมิภาคที่เป็นไปได้ว่าอาจมีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
แม้ว่าอาเซียนจะพยายามเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับ "ระเบียบปฏิบัติ" กับจีนในทะเลจีนใต้มานานหลายปี แต่ศาสตราจารย์ กันตธีร์ ศุภมงคล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า “การเจรจาเรื่องระเบียบปฏิบัติกลับดำเนินไปอย่างช้า ๆ และบางฝ่ายก็เริ่มชี้ว่า ข้อตกลงนี้อาจไม่ได้มีผลบังคับทางกฎหมาย ซึ่งจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”
ในระหว่างนี้ จีนยังคงส่งเรือเข้าไปในทะเลจีนใต้ รวมถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะของสมาชิกอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์และเวียดนาม ซึ่งเหตุการณ์การเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น
ก่อนที่ประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ จะเดินทางออกจากกรุงมะนิลาไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในลาวเพียงไม่กี่ชั่วโมง หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าเรือของหน่วยยามฝั่งของจีนได้ใช้ปืนฉีดน้ำเพื่อขัดขวางเรือฟิลิปปินส์สองลำที่ขนส่งเสบียงไปยังชาวประมงใกล้กับแนวปะการังสการ์โบโรห์
เกาะปะการังดังกล่าว ซึ่งรู้จักกันในชื่อเกาะฮวงหยานในจีน และเกาะปะการังปานาตักในฟิลิปปินส์ อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของมะนิลา แต่ถูกควบคุมโดยปักกิ่งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555
แม้จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น เรือฟิลิปปินส์ก็สามารถขนส่งเสบียงได้ใกล้กับเกาะปะการังดังกล่าว ตามรายงานของสำนักงานประมงและทรัพยากรน้ำของมะนิลา
ในแถลงการณ์ เจ้าหน้าที่รักษาชายฝั่งของจีนระบุว่า เรือฟิลิปปินส์ “รุกล้ำน่านน้ำ” ใกล้กับเกาะปะการัง ทำให้เรือของฟิลิปปินส์ต้องดำเนินการตามที่เรียกว่า “มาตรการควบคุม” สถานการณ์
ประธานาธิบดีมาร์กอสกล่าวว่าเขาจะยกประเด็นเกี่ยวกับทะเลที่ "เปิดกว้างและเสรี" ขึ้นอีกครั้งในการประชุมสุดยอดนี้ โดยเขาคาดว่าจะแสวงหาการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศอาเซียนท่ามกลางกิจกรรมของจีนในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท
“ขณะที่เรายังคงเผชิญกับความตึงเครียดในภูมิภาคที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงเหตุการณ์อันตรายที่เกิดขึ้นล่าสุดในทะเลจีนใต้ ผมตั้งใจที่จะสนับสนุนการส่งเสริมระเบียบระหว่างประเทศที่เปิดกว้าง ครอบคลุม และยึดตามกฎเกณฑ์ รวมถึงการแก้ไขข้อพิพาทต่าง ๆ ด้วยสันติวิธีตามกฎหมายระหว่างประเทศ" มาร์กอสกล่าวที่กรุงมะนิลา
วิกฤติในเมียนมา
เมียนมาเป็นประเด็นสำคัญในที่ประชุมอาเซียนมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2540 เมื่อประเทศนี้ได้รับการยอมรับเข้าสู่กลุ่มด้วยความหวังว่า “การมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์” จะช่วยส่งเสริมการปฏิรูปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการคว่ำบาตรของตะวันตก
แต่การรัฐประหารในปี 2564 ได้สร้างความตกตะลึงครั้งยิ่งใหญ่ให้กับอาเซียน หลังจากการปฏิรูปที่เริ่มมีความคืบหน้าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาและการปกครองกึ่งพลเรือนภายใต้การนำของอองซานซูจี ทำให้เกิดความหวังว่าเมียนมาจะเดินหน้าสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง นักวิเคราะห์กล่าว
ไม่นานหลังจากการรัฐประหาร อาเซียนได้เสนอแผนสันติภาพ 5 ข้อที่เรียกว่า "ฉันทามติ" ซึ่งรวมถึงการหยุดยิงและการเจรจา แต่ผู้นำพลเมียนมาก็เพิกเฉยต่อแผนนี้ รัฐบาลทหารได้ต่อสู้กับพันธมิตรที่หลวม ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์และนักรบโปรประชาธิปไตย ซึ่งกำลังสร้างความคืบหน้าที่สำคัญในสนามรบ
เพื่อเป็นการตอบโต้ อาเซียนได้สั่งห้ามผู้นำกลุ่มรัฐประหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ แต่ ออง จอ โม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นตัวแทนของประเทศในการประชุมที่ประเทศลาวในสัปดาห์นี้
ออง จอ โม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเวียงจันทน์ ประเทศลาว วันที่ 8 ตุลาคม 2567 (สำนักเลขาธิการอาเซียน)
นายกรัฐมนตรีไทยแพทองธาร ชินวัตร กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า กลุ่มภูมิภาคนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อของเมียนมา
“อาเซียนต้องมีบทบาทสำคัญในการนำสันติภาพกลับคืนสู่เมียนมาโดยเร็วที่สุด” เธอกล่าว “เราจะมุ่งเน้นทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า และใช้กลไกทางการทูตเพื่อแก้ไขปัญหานี้โดยเร็วที่สุด”
หลังการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ลาว จะมีการจัดการประชุมกับผู้นำและนักการทูตชั้นนำจากประเทศอื่น ๆ รวมถึงจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และรัสเซีย เป็นการต่อไป