กลุ่มอาชญากรรมในภูมิภาคเอเชีย ทำเงินปีละ 1 แสนล้านดอลล่าร์ ยูเอ็นระบุ
2018.05.03
กรุงเทพฯ

สหประชาชาติเผยว่า กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเฟื่องฟู ควบคู่ไปกับการขยายตัวของธุรกิจการค้าถูกต้องตามกฎหมายในแถบภูมิภาค โดยขบวนการธุรกิจมืดผิดกฎหมาย สามารถทำรายได้ปีละ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากการลักลอบค้ายาเสพติดและองค์กรอาชญากรรมที่ประกอบกิจกรรมไม่ชอบด้วยกฎหมายอื่นๆ
สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime) หรือ UNODC ได้เปิดเผยตัวเลขที่น่าตระหนกนี้ ในการแถลงการณ์ประชุมระดับภูมิภาค โดยมีผู้แทนทั้งจากภายในและภายนอกประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมประมาณ 200 คน ที่กรุงเทพฯ ต่างแสดงความกังวลต่อปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางด้านการค้า การลงทุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในภูมิภาค
UNODC แถลงว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่า ในทศวรรษที่ผ่านมา และคาดว่าจะทำรายได้เพิ่ม ถึงปีละ 3.75 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
"ควบคู่ไปกับความสำเร็จในเชิงบวกเหล่านี้ เศรษฐกิจที่ผิดกฎหมายในระดับภูมิภาคนี้ ได้กำลังเติบโตขึ้นด้วย โดยมีการประเมินรายได้ของอาชญากรรมข้ามชาติไว้ปีละกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ" สหประชาชาติกล่าว
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวแสดงความกังวลต่อผู้ร่วมประชุมที่องค์การสหประชาชาติ ว่า กลุ่มธุรกิจผิดกฎหมาย และกลุ่มก่ออาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ อาจพยายามใช้ประโยชน์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจถูกกฎหมาย ในกลุ่มสมาชิกกว่า 10 ประเทศ
"ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจ เปิดโอกาสธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ขบวนการลักลอบเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย หรือ กลุ่มก่อการร้ายมองหาช่องว่างในการทำความผิดมากเพิ่มขึ้นเช่นกัน เราจึงได้ร่วมมือกับ UNODC ในการทำงานด้านการประสานงานด้านพรมแดน เพราะเป็นองค์กรที่มีศักยภาพในการจัดการปัญหาและกำหนดกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม" พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวต่อผู้ร่วมประชุมที่สหประชาชาติ
รองนายกรัฐมนตรี ยังระบุด้วยว่า ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องทางด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงปลอดภัย พร้อมทั้งพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนส่งเสริมความสามัคคี และความเชื่อมโยงกันของอาเซียน
ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงการจัดการเกี่ยวกับการข้ามแดนทั้งทางบก ทางทะเล และทางอากาศ ในภูมิภาคว่ามีความสำคัญเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในการสร้างโครงข่ายคมนาคมข้ามภูมิภาค
“เราต้องมั่นใจว่ามาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ จะมีการบูรณาการตั้งแต่ขั้นวางแผน สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม กลับถูกคนอื่นมองว่าเป็นการเปิดโอกาสให้อาชญากรรมข้ามชาติขยายตัวมากขึ้น” นายอาคม กล่าว
นายอาคม ได้ระบุถึง โครงการขนาดใหญ่ที่มีการสร้างถนนและสะพานในภูมิภาคนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเมืองที่สำคัญของ นายสี จินผิง ผู้นำจีน ซึ่งรู้จักกันในชื่อโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็น silk road ยุคใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเชื่อมต่อประเทศจีนกับส่วนต่างๆในเอเชียและครอบคลุมส่วนอื่น ๆ
"สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ถูกอีกด้านมองว่า เป็นการเปิดช่องทางเพื่อขยายการลักลอบอาชญากรรมข้ามพรมแดน"
ในเดือนพฤษภาคมปี 2560 UNODC เปิดเผยรายงานที่ระบุว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยทำให้มีการพัฒนาโครงสร้างการคมนาคมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนน รถไฟ ท่าเรือ หรือเครื่องบิน ในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งนำไปสู่การผ่อนคลายมาตรการควบคุมตามแนวชายแดน เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านการค้า แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาชญากรรม ที่สามารถเดินทางจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ง่ายขึ้น เช่น การลักลอบค้ามนุษย์ การลักลอบขนยาเสพติด การลักลอบค้าสัตว์ การฟอกเงิน หรือแม้แต่สินค้าปลอมแปลง จนกระทั่งการแฝงตัวของกลุ่มก่อการร้าย
UNODC กล่าวว่าการผลิตยาเสพติดปลอม และการค้ามนุษย์ได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การลักลอบค้าไม้เถื่อน และการค้าสัตว์ป่า ก็เพิ่มขึ้น ตลอดจนมีการชี้ชัดถึงการลักลอบค้ามนุษย์และการลักลอบค้าแรงงานข้ามชาติ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีน (FDI) ในประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงมีขนาดย่อม อยู่ที่ 6.8% จากมูลค่าเงินหมุนเวียนสุทธิ ในปี 2558 แต่ปัจจุบัน บริษัทเอกชนของจีนเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการการก่อสร้างพื้นฐานสำคัญทั่วภูมิภาคนี้ นาย เวเว็น อึ้ง นักเศรษฐศาสตร์ ชาวสิงคโปร์กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก
ประเทศจีนมีการลงทุนเป็นสัดส่วน 14% ของการลงทุนสุทธิของไทยปีที่แล้ว 8% ในเวียดนามและอินโดนีเซีย และ 6% ในมาเลเซีย นายอึ้งกล่าว ฟิลิปปินส์ได้รับส่วนแบ่งการลงทุนเล็กน้อยเพียง 0.14%
ในขณะที่ นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แสดงความเห็นว่า การรวมตัวกันของอาเซียนยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และยิ่งทำให้เห็นความแตกต่างของแต่ละประเทศในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันของการจัดการปัญหาด้านพรมแดน และปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ที่อาศัยประโยชน์จากความไม่เป็นมาตรฐานเดียวกันนี้
“UNODC และ UN จะยังคงให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ และตกลงที่จะสนับสนุนการทำงานในด้านการบริหารจัดการพรมแดน และการพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม” นายเจเรมี่ กล่าว