ไทยถูกหลอกผ่านโทรศัพท์ 79 ล้านครั้ง มากที่สุดในเอเชีย

วิทยากร บุญเรือง
2024.05.31
กรุงเทพฯ
ไทยถูกหลอกผ่านโทรศัพท์ 79 ล้านครั้ง มากที่สุดในเอเชีย เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบอุปกรณ์โทรคมนาคมผิดกฎหมายและซิมการ์ดที่ยึดได้ระหว่างการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567
กรมศุลกากร

เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติที่มุ่งเป้าไปที่ชาวไทย ด้วยการโทรและส่งข้อความปลอมหลายล้านครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านบาท เจ้าหน้าที่กล่าวเมื่อวันศุกร์

ปัญหามิจฉาชีพทางโทรศัพท์ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ถือเป็นปัญหาใหญ่ทั้งในประเทศไทยและหลายบริษัททั่วโลก พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีการตรวจยึดจับกุมไปหลายหน ได้มีการตรวจยึดสตาร์ลิงค์ หรือระบบปฏิบัติการผ่านดาวเทียม สามารถยึดได้ทั้งหมด 134 เครื่อง

“มีซิมการ์ดต่างประเทศที่เราได้ตรวจยึด สันนิษฐานว่าใช้หลอกประเทศต่าง ๆ ซิมจากประเทศไหนก็ใช้หลอกประเทศนั้น ยึดมาได้ทั้งหมด 49175 ซิม มีทั้ง สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ไต้หวัน และไทยด้วย” พล.ต.ท. จิรภพ กล่าว

“ในภาพรวมคือ เราจับซิมบ็อกซ์ได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไทย คือรวมแล้วกว่า 100 เครื่อง ถ้าคำนวณตัวเลขออกมาคือ 1 เครื่อง มี 32 ซิม 100 เครื่อง คือ 3200 ซิมการ์ด ถ้าใช้งานเต็มระบบสามารถโทรพร้อมกันได้ 3200 เบอร์ เชื่อมกับคอลเซนเตอร์ในประเทศเพื่อนบ้าน หลอกคนได้พร้อม ๆ กัน เสี้ยววินาที 3200 เบอร์ ในหนึ่งวันอาจจะเป็นล้าน ๆ เบอร์”

พล.ต.ท. จิรภพ ระบุว่า วิธีที่คนร้ายหรือแก๊งคอลเซนเตอร์โทรเข้ามาหลอกลวงผู้เสียหาย คือใช้ ซิมบ็อกซ์ คนร้ายจะโทรที่ไหนก็ได้ โดยโทรเข้ามาในประเทศไทยผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต มาที่ซิงเกิลเกตเวย์ที่เราค้นพบ เพื่อแปรสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นโทรศัพท์ในบ้านเรา โดยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบว่า อุปกรณ์นี้ติดตั้งอยู่ในกรุงเทพสองจุด คือ ดินแดง และอนุสาวรีย์ชัย นครปฐมพบ 6 เครื่อง และได้จับกุมผู้ต้องหาชาวเวียดนาม 3 คน ข้อหามีและใช้นำเข้าวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต

“เราไม่สามารถระบุได้ว่าแก๊งคอลเซนเตอร์มีกี่แก๊ง และเป็นใครที่ควบคุมทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาเราเคยจับกุมได้ทั้งชาวไทย ชาวจีน ชาวเวียดนาม ในหลาย ๆ ที่ในไทย และในชายแดนประเทศเพื่อนบ้านด้วย ทั้งหมดมันกระจัดกระจาย ไม่มีระเบียบ” พล.ต.ท. จิรภพ กล่าว

"ผมเชื่อว่า ไม่ได้หลอกประเทศไทยอย่างเดียว แต่มีหลอกประเทศทั่วโลก”

446940161_773015518372615_2005134214414617014_n.jpg
ตำรวจจัดแสดงซิมการ์ดที่ยึดได้ระหว่างการบุกจับกุมเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 (กรมศุลกากร)

ด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา คนไทยต้องรับโทรศัพท์ หรือข้อความสั้น (SMS) จากมิจฉาชีพถึงเกือบ 79 ล้านครั้ง ซึ่งเป็นสถิติที่มากที่สุดในเอเชีย สร้างความเสียหายจากการถูกฉ้อโกงมากกว่า 58,000 ล้านบาท

“คนไทยได้รับสายโทรเข้าและ SMS หลอกลวงมากที่สุดในเอเชีย จำนวน 78.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นกว่า 18% จากปี 2565 แบ่งเป็น รับสายฉ้อโกง 20.8 ล้านสาย และ SMS หลอกลวง 58 ล้านข้อความ เฉลี่ย 1 คนได้รับสายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 7.3 สาย และได้รับ SMS อีก 20.3 ข้อความ” นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย

มิจฉาชีพปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

“ทุกวันนี้เสียเวลากับ SMS พวกนี้มากนะ แต่ก็ยังโชคดีที่ไม่ถูกดูดเงินแบบคนอื่น ๆ ที่เป็นข่าว เราเลยต้องระวังตัวไม่ไปกดลิงค์อะไรที่แนบมากับ SMS มันน่ากลัวมาก ๆ เพราะถ้าพลาดแค่ปลายนิ้ว เงินก็อาจถูกดูดหมดบัญชีได้เลย” นางวันทนา หินเดช อายุ 44 ปี พนักงานคลีนิกเสริมความงามจากเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำโครงการศึกษาสถานการณ์ภัยคุกคามทางออนไลน์ ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ขบวนการหลอกลวงทางโทรศัพท์เริ่มขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด-19

“รูปแบบการหลอกลวงปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดตามแต่สถานการณ์ แต่ที่คล้ายกันในหลายประเทศคือ มักแอบอ้างเป็นภาครัฐ โดยหลอกให้กลัว หรือล่อเหยื่อด้วยการทำให้เชื่อว่าจะได้ผลประโยชน์ ใช้การแนบลิงค์ปลอม หรือลิงค์ที่ทำให้ควบคุมสมาร์ทโฟนเหยื่อจากระยะไกลได้ เพื่อโอนเงินออกจากบัญชีในแอปพลิเคชันธนาคาร หรือขโมยข้อมูลต่าง ๆ” ดร. ณัฐกร กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ดร. ณัฐกร ระบุว่า นอกจากปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว มิจฉาชีพยังมักแอบอ้างเป็นบริการจัดส่งสินค้า (Delivery), การเงิน/การธนาคาร (Banking), และรางวัลปลอม (Fake Prizes) โดยเชื่อว่า ขบวนการที่อยู่เบื้องหลังการหลอกลวงนี้มีลักษณะเป็น องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ  (Transnational Organized Crime) 

“กลุ่มมิจฉาชีพมักจะใช้พื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านติดกับชายแดนไทยเป็นฐาน กรณีที่น่าสนใจ คือ เมื่อช่วงต้นปี 2567 ก็มีการจับกุมชาวต่างชาติที่นำอุปกรณ์เครื่องจำลองสถานี (False Base Station - FBS) มาใช้ส่ง SMS หลอกลวงประชาชนใกล้ห้างสยามพารากอน” ดร. ณัฐกร กล่าว

ดร. ณัฐกร ระบุว่า การใช้ FBS เพื่อหลอกลวงเหยื่อลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในประเทศจีนมาแล้วเมื่อปี 2557 โดยรัฐบาลจีนตรวจพบอุปกรณ์ FBS ถึง 1,500 สถานี และสามารถจับผู้ร่วมขบวนการได้ถึง 3,540 คน

“ต้นปี 2567 คนไทยยังเผชิญกับ SMS หลอกลวงสูงที่สุดในเอเชีย มิจฉาชีพมีเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ นำข้อมูลส่วนบุคคลมาใช้ในการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยทางการเงินของคนไทย” น.ส. ฐิตินันท์ สุทธินราพรรณ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท Gogolook/Whoscall ซึ่งให้บริการด้านความปลอดภัยบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน กล่าว

น.ส. ฐิตินันท์ เปิดเผยว่า แม้ในปี 2566 สถานการณ์การหลอกลวงทางโทรศัพท์ในภูมิภาคเอเชียเริ่มคลี่คลายลงโดยมีการใช้โทรศัพท์และ SMS ทั้งหมด 347.3 ล้านครั้ง ซึ่งลดลง 14% จากปี 2565 แต่สถิติเฉพาะประเทศไทยกลับเพิ่มขึ้น

“ในหนึ่งวัน มีคนไทย 217,047 ราย ที่เป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ต้องรับโทรศัพท์เพิ่มขึ้น 22 % และ SMS เพิ่มขึ้น 17 % จากปี 2565 ซึ่งสวนทางกับภูมิภาคเอเชียที่การหลอกลวงเริ่มคลี่คลายลง” น.ส. ฐิตินันท์ กล่าว

Whoscall ประเมินว่า โทรศัพท์และ SMS หลอกลวง ได้สร้างมูลค่าความเสียหายให้กับคนไทยสะสมกว่า 5.38 หมื่นล้านบาท โดยประเทศที่ได้รับ SMS หลอกลวงมากที่สุดรองจากไทยคือ ฟิลิปปินส์ 19.8 ข้อความ ฮ่องกง 16.2 ข้อความ ไต้หวัน 12 ข้อความ และมาเลเซีย 12 ข้อความ ตามลำดับ

ในขณะเดียวกัน Asia Scam Report ซึ่งสอบถามผู้ใช้โทรศัพท์ 2 หมื่นราย จาก 11 ประเทศในเอเชีย พบว่าในปี 2566 กลุ่มตัวอย่างต้องเผชิญกับมิจฉาชีพทางโทรศัพท์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และไทยยังคงเป็นประเทศที่โดนหลอกมากที่สุดถึง 88% ตามด้วย มาเลเซีย 82.7% ฮ่องกง 81.3% และเวียดนาม 80.2%

แนะรัฐหามาตรการคุมมิจฉาชีพ

“หลายประเทศแก้ปัญหา SMS หลอกลวงด้วยการบังคับให้ลงทะเบียนผู้ส่ง SMS ผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนจะไม่สามารถส่ง SMS ได้ หรืออาจปรากฏข้อความเตือนว่า โปรดระวังการหลอกลวง กำกับเอาไว้ใน SMS ที่ถูกส่งโดยคนที่ไม่ได้ลงทะเบียน ภาครัฐควรใช้มาตรการบังคับผู้ให้บริการให้พัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยอยู่เสมอ ไม่ใช่เป็นเพียงขอความร่วมมือ” ดร. ณัฐกร กล่าว

ดร. ณัฐกร ระบุว่า ภาครัฐควรบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ไม่ใช่ต่างหน่วยงานต่างทำ ควรสร้างสายด่วนสายเดียวเพื่อรับเรื่องร้องทุกข์ ขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Network Operator) ก็ควรร่วมมือในการแก้ไขปัญหานี้ด้วย 

AP23082089903835 (1).jpg
ตำรวจสอบปากคำผู้ต้องสงสัยสวมเสื้อสีเขียวอ่อนและนั่งหันหลังให้กล้อง วันที่ 22 มีนาคม 2566 (กองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ ผ่านเอพี)

“ผู้ให้บริการเครือข่ายต้องทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ ควรใช้เทคโนโลยี AI คัดกรองข้อความ SMS หลอกลวง หรือลิงค์ปลอมจากมิจฉาชีพ และรายงานผลการจัดการปัญหานี้ต่อสาธารณะอย่างเป็นประจำ” ดร. ณัฐกร กล่าวเพิ่มเติม 

ต่อการแก้ปัญหา น.ส. วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า มาตรการของ DE คือการพยายามปราบซิมม้า (Fake Sim Card) ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้กระทำความผิดของกลุ่มมิจฉาชีพ 

“DE ได้มีการหารือความร่วมมือกับ กสทช. ในการพิจารณาหลักเกณฑ์ในการปิดการส่ง SMS ที่ไม่สามารถระบุตัวตนผู้ส่งได้ และจะมีการหารือในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยีเร็ว ๆ นี้” น.ส. วงศ์อะเคื้อ กล่าว

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ประกาศให้ผู้ที่ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 101 หมายเลขขึ้นไปมาลงทะเบียนยืนยันตัวตน ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีผู้ยืนยันตัวตน 2.58 ล้านหมายเลข ผู้ไม่ยืนยันตัวตนอีก 2.49 ล้านหมายเลข ซึ่งในจำนวนดังกล่าว กสทช. ได้ระงับสัญญาแล้ว 1.48 ล้านหมายเลข

สำหรับผู้ที่ถือครองซิมการ์ด 6-100 เลขหมาย กสทช. กำหนดให้ลงทะเบียนยืนยันตัวตนถึงวันที่ 13 กรกฎาคม 2024 หากไม่ยืนยันตัวตนจะถูกระงับการให้บริการทั้งการโทร ส่ง SMS และใช้อินเทอร์เน็ต

“เราดำเนินมาตรการเข้มงวดในการเปิดใช้ซิมการ์ดใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การลงทะเบียนยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกันการนำซิมการ์ดไปใช้กระทำผิดกฎหมาย และ DE ก็พยายามสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนให้ผู้คนทราบถึงรูปแบบกลโกง เมื่อพบเหตุการณ์ไม่น่าไว้วางใจ” น.ส. วงศ์อะเคื้อ กล่าว

ด้าน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ระบุว่า กสทช. เองก็ได้เริ่มใช้มาตรการระงับสัญญาณโทรคมนาคมบริเวณชายแดน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่ใช้ประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐาน

“ต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ได้มีการลดกำลังส่งของสถานีฐานไปแล้วรวม 13 เสา ระงับสัญญาณ (Switch off) สายอากาศที่มีทิศทางหันออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวม 84 เสา  กสทช. จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นภัยทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” นายไตรรัตน์ เปิดเผย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง