ไทย เมียนมาลงนามสัญญาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

ทีมข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.07.03
ไทย เมียนมาลงนามสัญญาการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากำลังข้ามแม่น้ำเมยจากประเทศเมียนมามายังประเทศไทย หลังจากเกิดการสู้รบระหว่างทหารเมียนมาและกลุ่มกบฏ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553
รอยเตอร์

เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโสของไทยเผย ประเทศไทยและเมียนมาตั้งข้อตกลงร่วมกันในการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับประเทศ แต่ข้อตกลงนี้ไม่บังคับใช้กับประชาชนชาวเมียนมา ผู้หลบหนีมายังประเทศไทยเพื่อหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร หรือก่ออาชญากรรมเล็กน้อย

ผู้ช่วยผบ.ตร. พล.ต.ท. อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมียนมา พล.ต.ท. นิ ลิน อ่องได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร

“เราได้ทำข้อตกลงเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว” พล.ต.ท. อิทธิพลเผยกับเรดิโอฟรีเอเชีย

“หากมีพลเมืองชาวเมียนมาก่ออาชญากรรมในประเทศของเราและหลบหนีข้ามชายแดน หรือในกรณีที่พลเมืองไทยกระทำการแบบเดียวกัน เราจะต้องประสานความร่วมมือกันตามกระบวนการยุติธรรม” เขาระบุ และเสริมว่าการประสานความร่วมมือดังกล่าวจะพุ่งเป้าไปที่อาชญากรรมชนิดรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การค้ายาเสพติด หรือการค้ามนุษย์

เมื่อสอบถามว่า พล.ต.ท. นิ ลิน อ่อง ได้ร้องขอให้มีการส่งตัวประชาชนชาวเมียนมาที่หลบหนีการเกณฑ์ทหารกลับประเทศหรือไม่ พล.ต.ท. อิทธิพลตอบว่า “พวกเขาไม่ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมา”

รัฐบาลทหารเมียนมาได้ออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร (People’s Military Service Law) ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากที่กองทัพพ่ายแพ้ในการสู้รบกับกลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มอย่างราบคาบ โดยกฎหมายฯ กำหนดให้ผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี ยกเว้นผู้หญิงที่แต่งงานแล้วหรือมีบุตร และผู้ชายอายุระหว่าง 18-35 ปี เข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 2 ปี หากแต่การประกาศในครั้งนี้จุดชนวนให้กลุ่มต่อต้านลงมือลอบสังหารเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารอย่างต่อเนื่อง และบีบให้พลเมืองเมียนมากว่า 1,000 ราย ต้องหลบหนีออกจากประเทศไปสู่ดินแดนหรือประเทศอื่น ๆ ที่มีความสงบโดยเฉพาะที่ประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมากว่า 1,000 ราย ที่หลบหนีสงครามระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์และกองทัพทหารเมียนมามาเป็นเวลาหลายทศวรรษ และยังเป็นพื้นที่ลี้ภัยอย่างไม่เป็นทางการให้กับผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองและฝ่ายตรงข้ามหลายกลุ่มที่มีความขัดแย้งกับรัฐบาลทหารเมียนมา พวกเขาหลบหนีลัดเลาะผ่านมาทางตะเข็บชายแดนและลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย แต่ทางการไทยมักจะเพิกเฉยต่อการมีอยู่ของพวกเขา ในระหว่างที่พยายามสานความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลทหารเมียนมาเอาไว้

ประเทศที่เติบโตเร็วอย่างประเทศไทยจึงกลายเป็นปลายทางลี้ภัยแห่งแรกของแรงงานชาวเมียนมาทั้งในรูปแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการมาเป็นเวลาหลายขวบปี พวกเขามักจะเดินทางเข้ามาหางานในอุตสาหกรรมประมง เกษตรกรรม โรงงาน และภาคบริการต่าง ๆ

พล.ต.ท. อิทธิพล ระบุว่า ประเทศไทยได้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานานแล้ว และชี้ว่าประเทศไทยได้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนชาวเมียนมาที่ต้องสงสัยว่าก่ออาชญากรรมในประเทศบ้านเกิดกลับไปยังประเทศของพวกเขา และทางการเมียนมาเองก็ช่วยส่งพลเมืองไทยและพลเมืองของประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ตกเป็นเหยื่อขบวนการค้ามนุษย์และถูกบังคับให้ทำงานในแก๊งมิจฉาชีพออนไลน์ในประเทศเมียนมา เช่น เมืองเล้าก์ก่ายหรือรัฐฉานกลับประเทศต้นทางเช่นกัน

พล.ต.ท. นิ ลิน อ่อง อดีตผู้นำกองทัพทหารถูกสหภาพยุโรปคว่ำบาตรในปี 2565 ด้วยข้อหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสังหารหมู่พลเรือนราว 50 ราย ในรัฐคะยาในปีที่ผ่านมา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง