ไทยสมัครร่วมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน

ไมค์ เฟิร์น สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.10.09
กรุงเทพฯ
ไทยสมัครร่วมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางความกังวลด้านสิทธิมนุษยชน นาย อี ควิน เบอดั๊บ ในชุดพื้นเมือง ภาพเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2567
เฟซบุ๊ก/อี ควิน เบอดั๊บ

รัฐบาลไทยกำลังรอคอยการตัดสินใจจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในวาระปี 2568-2570 ขณะเดียวกัน นาย อี ควิน เบอดั๊บ นักเคลื่อนไหวชาวเวียดนามกำลังถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอการพิจารณาคำอุทธรณ์เกี่ยวกับการส่งตัวกลับเวียดนาม ที่ซึ่งเขาอาจถูกจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ด้วยข้อหาการ “ก่อการร้าย”

เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ศาลอาญาไทยได้พิพากษาให้นายเบอดั๊บ ซึ่งเป็นชาวชาติพันธุ์อีเดและผู้ก่อตั้งองค์กรมองตานญาดเพื่อความยุติธรรม (Montagnards Stand for Justice) สามารถถูกส่งตัวกลับไปตามคำร้องขอจากทางการเวียดนาม ซึ่งมีตัวแทนของทางการเวียดนามนั่งอยู่ในศาลตลอดการพิจารณาคดี

กลุ่มมองตานญาด เป็นคำที่ใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก ซึ่งอาศัยอยู่ในแถบที่ราบสูงของประเทศเวียดนาม ปู่ของเบอดั๊บทำงานร่วมกับกองทัพสหรัฐฯ และชาวมองตานญาดอีกเป็นจำนวนมาก เคยร่วมรบกับกองกำลังเวียดนามใต้ในสงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อกว่า 20 ปี และกองกำลังฝ่ายเวียดนามเหนือก็เป็นฝ่ายชนะในปี 2518

อี ควิน เบอดั๊บ วัย 32 ปี ตกเป็นเหยื่อของทางการครั้งแรกในปี 2555 เขาถูกคุมขังเป็นเวลา 5 เดือน โดยไม่สามารถเข้าถึงการมีทนายส่วนตัวได้ และถูกกดดันให้ลงนามในข้อตกลงที่จะละทิ้งนิกายโปรเตสแตนต์ เขาเพิกเฉยต่อคำขู่นั้น แต่หลังจากถูกข่มขู่มาหลายปี เขาก็หนีไปยังประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวในปี 2561 โดยหวังว่าจะได้รับอิสรภาพในฐานะผู้ลี้ภัยมากขึ้น

แม้ว่าสถานะของเขาจะได้รับการยอมรับจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาปี 2594 ว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยที่ระบุถึงการคุ้มครอง สิทธิ และความช่วยเหลือทางกฎหมายที่ผู้ลี้ภัยมีสิทธิได้รับ

เมื่อเดือนมกราคมปีนี้ หลังจากได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลเวียดนาม ตำรวจไทยจึงเข้าจับกุมเบอดั๊บ และส่งตัวเขาไปศาลอาญาเพื่อให้ผู้พิพากษาพิจารณาคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนและข้อกล่าวหาที่เขาอยู่เกินวีซ่า

เบอดั๊บถูกศาลเวียดนามพิจารณาคดีลับหลังในเดือนมิถุนายน ปี 2566 จากเหตุการณ์โจมตีสำนักงานสาธารณะ 2 แห่ง ที่จังหวัดดั๊กลัก ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 9 คน อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมดตลอดมา และเวียดนามอ้างว่า องค์กรที่เขาตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือชาวมองตานญาด เป็นองค์กรก่อการร้ายที่ช่วยวางแผนการโจมตีดังกล่าว

“ข้อโต้แย้งของเราในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนก็คือ เขาไม่สามารถถูกส่งตัวได้เพราะเขาเป็นผู้ลี้ภัยที่ได้รับการรับรองและกำลังอยู่ในกระบวนการย้ายถิ่นฐาน” ทนายความของเบอดั๊บ ณัฐาศิริ เบิร์กแมน กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธเกี่ยวกับพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อลูกความของเธอ

“หนึ่งวันก่อนที่เขาจะถูกจับกุม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ขอให้เขาเข้ามาสัมภาษณ์ [เพื่อดูว่า] เขามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ดั๊กลักหรือไม่ พวกเขาไม่พบหลักฐานว่าเขามีความเกี่ยวข้อง และสถานะของเขาไม่เคยถูกเพิกถอน ดังนั้น เขาจึงยังคงได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ลี้ภัย”

ณัฐาศิริ โต้แย้งว่าผู้ขอสถานะผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่ต้องการอาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่ต้องการมาที่นี่เพราะจำเป็นในขณะที่รอการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม

th-vn-extradition-human-rights-council 2.jpeg
ทนายความจำเลย ณัฐาศิริ เบิร์กแมน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน บริเวณด้านนอกศาลอาญากรุงเทพฯ วันที่ 30 กันยายน 2567 (เรดิโอฟรีเอเชีย)

ประเทศไทยมีประวัติในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลต่างประเทศในการขอให้ส่งนักคลื่อนไหวข้ามแดน แม้ว่าประเทศไทยจะยึดมั่นในหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามส่งกลับ ซึ่งห้ามการบังคับผู้คนกลับไปยังสถานที่ที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าพวกเขาจะเสี่ยงต่อ "อันตรายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่น ๆ"

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ตำรวจไทยจับกุม เจือง ซุย เญิ๊ต บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเวียดนาม และส่งตัวเขาให้กับตำรวจเวียดนาม ซึ่งเขาถูกนำตัวข้ามชายแดนเข้าทางประเทศลาว ก่อนจะส่งคืนให้เวียดนาม เญิ๊ต ได้ทำเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 ดวง วาน ไถ นักข่าวชาวเวียดนามหายตัวไปในกรุงเทพฯ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นการลักพาตัว ไม่นานหลังจากนั้น ทางการเวียดนามก็ประกาศว่าจับกุมเขาได้ขณะพยายามลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย

ประเทศไทยอาจรู้สึกว่าจำเป็นต้องตอบแทนความช่วยเหลือบางอย่าง ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข รองผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่งในประเทศไทย กล่าวถึงกรณีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยอย่างน้อย 9 ราย ที่ถูกจับหรือหายตัวไปในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึง นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ นายสยาม ธีรวุฒิ และ กฤษณา ทับไทย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ซึ่งหายตัวไปในเวียดนามในปี 2562

ทางการไทยระบุว่า ไม่มีข้อมูลที่อยู่ของผู้สูญหายภายใต้การเฝ้าติดตามของรัฐบาลทหารสมัยนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะนั้น ซึ่งเปิด “ตลาดแลกเปลี่ยน” ผู้ต้องหาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามคำกล่าวของฟิล โรเบิร์ตสัน ผู้อำนวยการศูนย์รณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนและแรงงาน ในกรุงเทพฯ

ฟิล โรเบิร์ตสัน กล่าวว่า เขาหวังว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหลังจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาจากการประกาศของประเทศไทยในปีนั้นว่า ได้ลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ซึ่งปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น กล่าวว่ารัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง

เมื่อเดือนที่แล้ว มาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน ได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการปกป้องสิทธิมนุษยชน ก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้เพิ่งรับตำแหน่งได้ตัดสินใจไม่เดินทางไปร่วมงาน

“หากประเทศไทยต้องการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เจนีวา ประเทศไทยจะต้องยืนหยัดสนับสนุนหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมถึงการต่อต้านคำแนะนำที่ไม่ดี และปฏิเสธคำขอของประเทศเพื่อนบ้านที่มุ่งร้ายและละเมิดสิทธิมนุษยชน” ฟิล โรเบิร์ตสันกล่าว

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับ อี ควิน เบอดั๊บ จะเป็นหนทางสำคัญอย่างยิ่งที่ชุมชนระหว่างประเทศจะกำหนดว่ารัฐบาลใหม่ของประเทศไทยจะยืนหยัดอยู่ฝ่ายใดในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน”

ทีมทนายความของ อี ควิน เบอดั๊บ ยังคงรอสำเนาคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลก่อนยื่นอุทธรณ์ หากเบอดั๊บแพ้คดี รัฐบาลไทยก็ยังคงมีอำนาจที่จะตัดสินใจเรื่องส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้อยู่ดี กลุ่มสิทธิมนุษยชนที่ช่วยเรื่องคดีของเขา มีแผนจะส่งจดหมายถึงรัฐบาลในสัปดาห์หน้าเพื่อสนับสนุนคำกล่าวอ้างของเบอดั๊บ ที่ว่าเขาอาจถูกทรมานหรืออาจถึงขั้นถูกทำให้เสียชีวิต หากถูกส่งตัวกลับไปเวียดนาม

“เราไม่อยากสร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เมื่อเราส่งชาวอุยกูร์ 109 คน กลับจีนในปี 2558” กฤตพร เสมสันทัด ผู้อำนวยการ มูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ กล่าวในการแถลงข่าว

“นั่นเป็นการละเมิดหลักการห้ามส่งกลับ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะพยายามพิสูจน์ว่าคนเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายและกล่าวว่า ‘หากคุณส่งพวกเขากลับ คุณจะได้รับการรับประกันทางการทูต… พวกเขาจะไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม’ แม้จะมีการรับประกันนี้ เราก็ยังไม่รู้จนถึงทุกวันนี้ว่า ชาวอุยกูร์เหล่านั้นได้รับการปฏิบัติอย่างไร”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง