ประเทศเพื่อนบ้านจับตาดูการสู้รบในรัฐยะไข่ เมียนมา
2017.08.30
กรุงธากา และ ค็อกซ์บาซาร์, บังกลาเทศ และ กัวลาลัมเปอร์

ในวันพุธ ในหลายประเทศเพื่อนบ้านของประเทศเมียนมาได้แสดงความกังวลมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ ไอโอเอ็ม กล่าวว่ามีชาวโรฮิงญามุสลิม กว่า 18,000 คน หลบหนีการปะทะปราบปรามในรัฐยะไข่ หรือ รัฐอาระกัน ภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเหตุการณ์รุนแรงปะทุมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้าน นาง ชีค ฮาซินา นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศได้เรียกร้องสหรัฐฯ ให้กดดันพม่าในการยุติการหลั่งไหลของชาวโรฮิงญาเข้ามาทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของบังกลาเทศ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐยะไข่นั่นเอง
นาง ฮาซินา เพิ่งมีการพบปะกับ อลิซ เวลส์ รักษาการผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการในเอเชียกลางและใต้ ในเมืองธากา เมืองหลวงของบังคลาเทศ
"นายกฯ บอก อลิซ เวลส์ ว่า บังกลาเทศได้ให้ที่พักพิงแก่พวกเขาเพราะมนุษยธรรม แต่ตอนนี้เป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเรา" อิห์ซาน การิม โฆษกรัฐบาลของนาง ฮาซินา กล่าวกับผู้สื่อข่าว
การอพยพตามแนวชายแดนพม่า-บังกลาเทศ เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธชาวโรฮิงญาได้ร่วมกันโจมตีที่ตั้งตำรวจ 30 แห่ง และ ฐานทัพบกของพม่าในเมืองมองดอว์ บูดิดอ และราดิดอ ในวันศุกร์ ตามรายงานของเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักงานในเครือข่ายเดียวกันกับเบนาร์นิวส์
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวได้คร่าชีวิตผู้คนกว่า 100 ราย ซึ่งรวมถึงสมาชิกกลุ่มผู้ก่อการร้ายหลายสิบคน ทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการสู้รบรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่รัฐบาลเมียนมาได้พยายามที่จะยุติความโกลาหลและความรุนแรง
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้เรียกร้องพม่าให้ลดความรุนแรงที่มีต่อพลเรือน และสนับสนุนให้บังกลาเทศรับผู้ลี้ภัยที่หลั่งไหลเข้ามา
เมอร์เดกา สำนักข่าวของอินโดนีเซีย กล่าวว่า นักการทูตชั้นนำของประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก แถลงว่า มีแผนที่จะเดินทางมายังเมียนมาเร็วๆนี้ เพื่อต้องการเห็นสภาพที่แท้จริงของชุมชนชาวโรฮิงญา ในรัฐยะไข่
หนึ่งวันก่อนหน้านี้ นาง เร็ตโน มาร์ซูดี ได้ติดต่อรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของบังคลาเทศ และได้พูดคุยกับนาย อู ตอง ทุน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของเมียนมา เพื่อหารือเกี่ยวกับ "การใช้กองกำลังรักษาความปลอดภัยของพม่าในรัฐยะไข่อย่างไม่เหมาะสม" ตามที่สำนักข่าวอนาโดลูของตุรกีระบุ
นาง มาร์ซูดี ยังกล่าวอีกว่า เธอได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทางโทรศัพท์ และขอให้พม่า "หลีกเลี่ยงเหตุที่จะทำให้พลเรือนถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บ ท่ามกลางความรุนแรง" และให้การคุ้มครองชนชาวโรฮิงญา
"การคุ้มครองความปลอดภัย เป็นการแสดงถึงมนุษยธรรม ซึ่งต้องรวมถึงประชาชนของรัฐยะไข่" นาง มาร์ซูดี กล่าว
นอกจากนี้ ในวันอังคารที่ผ่านมา มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า ได้เข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ในกรุงเทพฯ โดยพลเอกประยุทธ์ กล่าวว่ารัฐบาลไทยกำลังเตรียมรับผู้ลี้ภัยจากความขัดแย้งรุนแรง
“ทางกระทรวงกลาโหม และฝ่ายความมั่นคง ก็ได้ชี้แจงว่ามี มาตรการเตรียมการรับผู้อพยพต่างๆ และมีการสั่งการกองกำลังต่างๆแล้วนะ มันมีแผนการอพยพ ถ้าเกิดมีการสู้รบขึ้นมา” พลเอกประยุทธกล่าว
“มันก็เหมือนที่ผ่านมานั่นแหละ ถ้ามีการสู้รบชายแดน เราต้องมีแผนในการหาที่พักพิง ที่พักคอย เมื่อเหตุการณ์สงบ เราก็ส่งกลับ”
ส่วน ในประเทศมาเลเซีย ตำรวจมาเลเซียกล่าวว่า มีผู้ประท้วงกว่า 100 คน ถูกจับกุมเมื่อวันพุธหลังจาก ชาวโรฮิงญาประมาณ 1,000 คน ได้ออกมาประท้วงใกล้ถนนสายหลัก ของกัวลาลัมเปอร์ และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในเมียนมา รวมทั้งยังเกิดการประท้วงย่อย ด้านนอกสถานทูตเมียนมา
ตามรายงานข่าว แชนเนล นิวส์ เอเชีย ระบุว่า ได้มีผู้ประท้วงคนหนึ่ง ราดตัวด้วยน้ำมันเบนซินและพยายามจุดไฟเผาตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไว้ทัน
มาเลเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนี ข้อมูลสหประชาชาติระบุว่า มาเลเซียได้รับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจำนวนเกือบ 6 หมื่นคน ที่นับว่าเป็นแรงงานต่างด้าวกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่เข้ามาเป็นแรงงานที่ไม่มีทักษะฝีมือ
ตั้งแต่ความรุนแรงรอบใหม่ที่เริ่มปะทุขึ้น ในรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ชาวโรฮิงญากว่า 18,000 คนได้หลั่งไหลเข้าสู่บังกลาเทศ นาย ซานยุคตา ซาฮานี หัวหน้า สำนักงานการอพยพระหว่างประเทศ ในเขตค็อกซ์ บาซาร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา กล่าวในการแถลงข่าววันพุธว่า ผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนและถูกไฟเผา
"พวกเขาอยู่ในสภาพที่สิ้นหวังมาก" ซาฮานี กล่าว "ผู้คนต่างบอบช้ำ อย่างเห็นได้ชัด"
เจ้าหน้าที่กล่าวว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยชายแดนบังกลาเทศ ได้ผลักดันชาวโรฮิงญา 1,500 คน กลับไปเมียนมา ในช่วงหกวันที่ผ่านมา และเมื่อเช้าวันพุธ ตำรวจบังกลาเทศ ยังบอกด้วยว่า พวกเขาได้กู้ศพเด็กสามคน และหญิงสามคนจากแม่น้ำ
ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับความโหดร้ายป่าเถื่อน
กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรือกลุ่มอาร์ซา (Arakan Rohingya Salvation Army หรือ ARSA) กลุ่มที่อ้างว่าเป็นชนพื้นเมืองและไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ ต่อการโจมตีจุดที่ตั้งของตำรวจเมียนมา โดยอ้างว่าเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิของชาวโรฮิงญาร่วม 1.1 ล้านคน ในรัฐยะไข่ ซึ่งไม่มีสิทธิการเป็นพลเมืองของเมียนมา
ประเทศเมียนมาได้ประกาศว่า กลุ่มอาร์ซา เป็นกลุ่มก่อการร้าย
เมื่อวันจันทร์ จากวิดีโอที่ลงเผยแพร่ในยูทิวบ์ ได้ปรากฏชายผู้หนึ่ง เรียกตนเองว่า หัวหน้าของอาร์ซา อาตา อุลลาห์ (Ata Ullah) ใช้นามแฝงว่า Ataullah Abu Ammar Jununi ได้กล่าวหา กองทัพเมียนมาว่า กระทำการทารุณ โดยใช้เครื่อง ยิงจรวดใส่ชาวโรฮิงญา
"คุณรู้ไหมว่าพวกเขากำลังเผาบ้านและหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา มีศพเกลื่อนบนถนน ทุกที่ เต็มไปหมด" อุลลาห์ กล่าว โดยมีชายสองคนผ้าคลุมหน้า ถือ AK-47 ยืนขนาบข้างในวิดีโอ
อุลลาห์ ซึ่งไม่ได้ปิดบังใบหน้ากล่าวท้าทายกองกำลังทหารเมียนมา: "ถ้าต้องการที่จะทำสงคราม ก็ไปรบกับกลุ่มเยาวชนที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการป้องกันตนเอง"
วันอังคารที่ผ่านมา องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ในนิวยอร์ก ได้เผยถึงภาพถ่ายดาวเทียม ที่ปรากฏภาพ ไฟไหม้กำลังลุกลามอย่างรวดเร็ว ในอย่างน้อย 10 พื้นที่ในรัฐยะไข่
เมียนมา หรือเรียกกันว่า พม่า ควรอนุญาตให้มีการตรวจสอบอิสระ เพื่อหาพื้นที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ และให้มีการประเมินข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามแถลงการณ์ของฮิวแมนไรท์วอทช์
"ข้อมูลจากดาวเทียมใหม่นี้ น่าจะสร้างความวิตกและเร่งให้มีการดำเนินการจัดการ โดยผู้สนับสนุนเงินทุนและหน่วยงานของสหประชาชาติ ควรเข้ามากระตุ้นให้รัฐบาลเมียนมาเปิดเผยการขยายขอบเขต การทำลายล้างที่ยังดำเนินอยู่ ในรัฐยะไข่" ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว "การกล่าวโทษผู้ก่อการร้ายไม่ได้ช่วยให้รัฐบาลเมียนมาพ้นจากข้อผูกพันระหว่างประเทศ ในการหยุดการละเมิดชาวโรฮิงญา และดำเนินการสอบสวนการละเมิด"
ทั้ง ทหารเมียนมา และกลุ่มอาร์ซา ต่างพากันกล่าวหาซึ่งกันและกัน เรื่องการกระทำทารุณโหดร้าย
'เราอาจจะมีอีกหนึ่งกัมพูชาในสนามหลังบ้านของเรา'
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกประเทศทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ต่อสู้กับวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่กำลังเกิดขึ้น สมาชิกรัฐสภาจากทั่วทั้งภูมิภาคเรียกร้องให้รัฐบาลในแต่ละประเทศดำเนินการในทันที เพื่อปกป้องพลเรือนในเมืองยะไข่
นายชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสิทธิมนุษยชนอาเซียน (APHR) กล่าวว่า "นี่เป็นเวลาที่จะต้องทำ มิฉะนั้นเราอาจจะมีอีกหนึ่งกัมพูชาในสนามหลังบ้านของเรา" นาย ชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานสภาผู้แทนราษฎรอาเซียนกล่าวถึง ความโหดร้ายของเขมรแดงในกัมพูชา เมื่อทศวรรษที่ 1970
"ถึงเวลาแล้วที่ประเทศสมาชิกอาเซียนจะยุตินโยบายห้ามแทรกแซงที่คร่ำคร่า และหันมาเตือนพม่า ให้หยุดการเข่นฆ่า" ซานติอาโกกล่าว
ชาวมุสลิมโรฮิงญาเดินทางเข้าบังกลาเทศ หลังจากที่กลุ่มก่อความรุนแรงปะทะกองกำลังทหารเมียนมา ในรัฐยะไข่ตอนเหนือของพม่า เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 [อับดูร์ ราห์มาน/เบนาร์นิวส์]