รถถังจีน VT-4 ล็อตสุดท้ายถึงไทย พร้อมรถยานเกราะ VN-1 ล็อตแรก
2019.12.05
กรุงเทพฯ

รถถัง VT-4 ล็อตสุดท้าย และรถยานเกราะล้อยาง VN-1 ล็อตแรก ที่กองทัพบกสั่งซื้อจากประเทศจีน ถูกส่งถึงประเทศไทยแล้วในสัปดาห์นี้ หลังจากเมื่อสามเดือนก่อนไทยได้จัดพิธีรับมอบ รถยานเกราะสไตรเกอร์ จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า การซื้ออาวุธจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา เป็นความพยายามของไทยที่จะสร้างสมดุลความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้งสองประเทศ
รถถัง VT-4 สิบคัน และรถกู้ซ่อมหนึ่งคัน รวม 11 คัน เป็นการสั่งซื้อชุดสุดท้ายของการสั่งซื้อทั้งหมด รวมประมาณ 50 คัน และ รถยานเกราะล้อยาง VN-1 ทั้ง 38 คัน ถูกส่งถึงท่าเรือ ในจังหวัดชลบุรีแล้ว ตามรายงานของผู้สื่อข่าวท้องถิ่นซึ่งติดตามการขนส่ง และการซื้อขายอาวุธของกองทัพ
“รถถังและรถยานเกราะ ถูกลำเลียงต่อไปยังศูนย์การทหารม้า ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี เพื่อดำเนินการตรวจรับ ก่อนการส่งมอบ” เจ้าหน้าที่ทหารผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ให้ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการแก่เบนาร์นิวส์
กองทัพบกปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลการนำเข้าครั้งนี้แก่สื่อมวลชน หลังจากถูกฝ่ายค้านวิพากษ์-วิจารณ์ ถึงการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
หนึ่งปีหลังจากการรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กองทัพบกได้ทำการสั่งซื้อรถถัง VT-4 หนึ่งกองพัน หรือ ประมาณ 50 คัน มูลค่า 7 พันล้านบาท จากบริษัท นอรินโก้ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลจีน เพื่อทดแทน รถถัง M-41 ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกใช้งานมาอย่างยาวนาน
ในปีเดียวกัน ตามการรายงานของสื่อมวลชน ประเทศไทยได้ทำการสั่งซื้อ รถยานเกราะล้อยาง VN-1 อย่างน้อย 34 คัน รวมทั้งรถช่วยรบ หลังจากนั้นได้มีสั่งซื้อเพิ่มอีก 2 ชุด รวมแล้วกว่า 100 คัน มูลค่าประมาณ 6.3 พันล้านบาท โดยคาดว่ายุทโธปกรณ์ทั้งหมด จะสามารถจัดส่งถึงประเทศไทยได้ทั้งหมดในปี 2564
นับตั้งแต่ที่ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ มีปัญหาหลังการทำรัฐประหาร ประเทศจีนได้เข้ามาเป็นประเทศคู่ค้ายุทโธปกรณ์กับไทยแทนที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งยุติการขายอาวุธ-ยุทโธปกรณ์ และการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ไทยชั่วคราว จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี และไทยจัดการเลือกตั้งในช่วงต้นปีนี้
ดร.พอล แชมเบอร์ส อาจารย์ประจำและที่ปรึกษา วิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ไทยได้ยุติการอิงจีน ด้วยการพยายามจะสร้างสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจ
“ผมคงจะสามารถพูดได้ว่าไทยไม่ได้พยายามอิงจีน (เหมือนเช่นในยุค คสช.) อีกต่อไปแล้ว แต่เปลี่ยนเป็นหันกลับมาหาอเมริกา อย่างไรก็ตาม ผมคาดว่า รัฐบาลไทยกำลังพยายามที่จะสร้างสมดุลในเรื่องนโยบายต่างประเทศ และการซื้ออาวุธกับจีนเช่นกัน” นายพอล กล่าว
“ในปี 2562 นี้ ประเทศไทยได้แนบแน่นกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น ในแง่การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แต่เชื่อแน่ว่า ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาจะยังคงประสบความสำเร็จในการขายอาวุธมาให้กับประเทศไทยอยู่” นายพอล กล่าวเพิ่มเติม
ภารกิจที่แตกต่างกัน
ในพิธีส่งมอบรถยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ จากสหรัฐอเมริกา ที่กองบัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนที่ว่า ในอนาคตประเทศไทยจะเลือกซื้ออาวุธจากจีนหรือสหรัฐฯ โดยตรง แต่ระบุว่า ยุทโธปกรณ์ของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกัน
“อาวุธที่ซื้อมาแล้ว (VN-1) ก็อยู่หน่วยนึง อยู่ภาคนึง อันนี้ (สไตรเกอร์) ก็เป็นอีกหน่วยนึง หน่วยตั้งใหม่ กองพลทหารราบที่ 11 ก็เป็นหน่วยยุทโธปกรณ์ใหม่เสริมสร้างขึ้นมา ใช้คนละภารกิจ คนละแบบกัน เพราะว่า กองพลทหารราบที่ 11 ก็จะจัดเป็นสไตรเกอร์ brigade combat team” พลเอกอภิรัชต์ กล่าว
“ถึงแม้ว่ากองทัพบกไทยจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์หลายประเภทก็ตาม แต่ที่สำคัญคือ เรามีหลักนิยมของสหรัฐฯ ที่ใช้มาตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว เพราะฉะนั้น แม้ด้วยความหลากหลาย แต่หลักนิยมในการทำการรบ หรือดำเนินการใดก็ตามก็เป็นไปตาม doctrine ที่เรียนมาจากสหรัฐฯ ตำราก็ใช้จากสหรัฐอเมริกา” พลเอกอภิรัชต์ กล่าวเพิ่มเติม
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 สำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้ขอซื้อรถยานเกราะสไตรเกอร์ 60 คัน จากสหรัฐอเมริกา เป็นการจัดซื้อพร้อมอุปกรณ์ และการสนับสนุน โดยมูลค่าการสั่งซื้อครั้งนี้ประมาณ 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5,400 ล้านบาท) ซึ่ง พลเอกอภิรัชต์ระบุว่า กองทัพบกต้องการจัดจัดซื้อสไตรเกอร์ให้ครบ 115 คัน แต่ไม่ได้ระบุมูลค่าการสั่งซื้อ
ทั้งนี้ ร่างนโยบายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มูลค่า 3.2 ล้านล้านบาท ระบุว่า งบประมาณกระทรวงกลาโหมจะมีมูลค่า 2.33 แสนล้านบาท โดยถือว่า การจัดสรรงบประมาณที่มากที่สุดของกระทรวงกลาโหมที่เคยได้รับต่อปี อย่างไรก็ตาม พลโท คงชีพ ตันตระวานิช โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า งบประมาณของกระทรวงกลาโหมนั้น ถือว่ามีสัดส่วนต่องบประมาณทั้งหมดน้อยลงกว่าในช่วงรัฐบาล คสช. โดยงบประมาณกระทรวงกลาโหมปี 2563 คิดเป็น 7.29 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้รับเฉลี่ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
ปี 2560 กองทัพเรือ จัดซื้อเรือดำน้ำ S26T จากจีนแล้ว 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท และได้เสนอขอซื้อลำต่อมา ในปีงบประมาณ 2563 รวมทั้งได้สั่งซื้อ เรือระบายพล Type 071E มูลค่า 6,500 ล้านบาท ที่จะใช้สนับสนุนเรือดำน้ำอีกด้วย
ในส่วนอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐฯ กระทรวงกลาโหมยังมีโครงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็คฮอว์ค อีกสี่ลำ เพื่อให้ครบฝูงที่มีอัตรา 16 ลำ ฮ.โจมตีเบาแบบ AH6i 8 เครื่องพร้อมด้วยอุปกรณ์และอาวุธ มูลค่า 400 ล้านเหรียญ รวมทั้งมีแผนการสั่งซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบลาโกต้า 30 ลำ เพื่อทดแทน ฮ. ในตระกูลฮิวอี้ แต่หลังจากที่ได้รับมอบล็อตแรก 6 ลำ ได้เกิดอุบัติเหตุตกหนึ่งเครื่อง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา