เจ้าหน้าที่จับแรงงานไทย 94 ราย แอบเข้าไทย หลังมาเลเซียปิดประเทศ
2020.04.16
นราธิวาส และปัตตานี

ในวันพฤหัสบดีนี้ เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า สามารถควบคุมตัวคนไทย 94 คน ที่ลักลอบเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านทางธรรมชาติ ที่อำเภอสุไหง-โกลก จังหวัดนราธิวาส ในวานนี้ ก่อนที่ทางการไทยจะเปิดรับคนไทยที่ตกค้างในมาเลเซียกลับประเทศ ตามจุดผ่านแดนห้าแห่ง ในวันเสาร์นี้
นายรุ่งเรือง ธิมาบุตร นายอำเภอสุไหงโกลก เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า เจ้าหน้าที่ได้เปรียบเทียบปรับ คนไทย 94 ราย ที่ตกค้างในมาเลเซียหลังการประกาศปิดประเทศ และกลับเข้าเมืองโดยไม่ถูกต้องตามริมแม่น้ำสุไหงโกลก พร้อมได้ส่งตัวทั้งหมดเข้าระบบตรวจโรคและกักตัว
“ตอนนี้ ที่หนีเข้ามาเราก็ดำเนินการส่งให้พนักงานสอบสวนปรับตามหลักกฎหมาย โดยจะมีค่าปรับไม่เกิน 800 บาท เพราะเป็นการผิดกฎหมายเข้าเมือง ขั้นตอนต่อไปคือ จะนำสู่กระบวนการคัดกรองโรค นำส่งไปยังโลคัล ควอแรนทีน ตามภูมิลำเนาที่เขาอยู่ ที่จับได้ล่าสุด 94 คน ส่วนใหญ่ก็เป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขาก็เข้ามาตามช่องทางธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ทหารก็จับตัวได้ทั้งหมด โดยล่าสุด 94 คนนี้ จับได้ตอนเวลาประมาณ 15.00 น. วานนี้ ตั้งแต่ปิดด่านมา 300 กว่าคนแล้ว” นายรุ่งเรือง กล่าว
นายรุ่งเรือง ระบุว่า คนทั้งหมดจะถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัดจะทำการกักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน ตามศูนย์กักตัวของแต่ละจังหวัด (Local Quarantine) เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ตามกระบวนการควบคุมโรคระบาดต่อไป
“จากการสอบถามแรงงานกลุ่มนี้ เปิดเผยว่า เดินทางตั้งแต่เช้าจากรัฐปาหัง ซึ่งไกลจากด่านลันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย ประมาณ 300 กิโลเมตรจะไปภูมิลำเนา เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลมีมาตรการปิดด่านพรมแดนทุกช่องทาง ซึ่งพวกเขาไม่รู้จะไปช่องทางไหน จึงชวนกันลักลอบจะข้ามแดนทางข้ามธรรมชาติ” นายรุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติม
“เขากลัวว่าวันที่ 18 เมษายน นี้ ที่ทางรัฐบาลไทยอนุญาตให้กลับมาได้เพียงแค่ 100 คน ก็เลยกลัวว่าจะไม่ได้กลับบ้าน จึงยอมเสี่ยงให้ทางการไทยจับดีกว่าอดตายอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย” นายรุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติม
รายงานจากกลุ่ม NGO ในประเทศมาเลเซีย แจ้งว่ายังคงมีคนไทยในมาเลเซีย หลังรัฐบาลปิดชายแดน ราว 8,000 คน และในกลุ่มที่จะเดินทางกลับบ้าน มีกลุ่มต้มย้ำกุ้งที่จะเดินทางกลับมาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในกลุ่มชุดต้มย้ำกุ้งนั้น มีบางรายที่มี คดีพรก.และ ป.วิ อาญา ความมั่นคงทางการไทย
ล่าสุด ได้มีนายหน้าในมาเลเซียเจรจา และยืนยันว่าสามารถส่งกลับไทยได้ โดยไม่ต้องผ่านระบบตรวจสอบของฝ่ายความมั่นคง โดยเสนอค่าจัดการ รายหัว 600-1000 ริงกิต ซึ่งมีบุคคลหลงเชื่อ และจ่ายค่านำพา ซึ่งในเรื่องนี้ ทางแม่ทัพกองทัพภาคที่ 4 ยืนยันว่า จะมีการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายตามปกติ
ด้าน นายรอแม เจะเตะ พนักงานร้านต้มยำจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ กล่าวว่า การขอกลับไทยตามมาตรการของรัฐมีความยุ่งยาก แรงงานไทยในมาเลเซียจึงตัดสินใจข้ามมาแบบผิดกฎหมาย
“จะไม่ให้พวกเขาหนีออกทางธรรมชาติได้ยังไง คนที่จะออกจากมาเลได้ เมื่อด่านเปิดเขาบังคับต้องมีใบรับรองแพทย์ ใบรับรองจากสถานทูตที่นี่ หนังสือแต่ละอย่าง การขอไม่ใช่ง่าย ๆ แถมต้องมีค่าใช้จ่ายอีก อยู่ที่นี่ก็อด” นายรอแม กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศมาเลเซีย ได้ประกาศปิดประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจากเดิมการปิดจะสิ้นสุดในวันที่ 14 เมษายน 2563 แต่ในวันที่ 10 เมษายน ได้มีการประกาศขยายการปิดประเทศออกไปเป็นวันที่ 28 เมษายน 2563 ทำให้ด่านชายแดนมาเลเซีย-ไทย ต้องปิดการเข้าออกไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อแรงงานชาวไทยที่ไปทำงานในประเทศมาเลเซียจำนวนมาก เนื่องจากไม่สามารถกลับประเทศได้ และจำนวนมากไม่มีงานทำ เนื่องจากธุรกิจหลายชนิดในมาเลเซียได้ปิดกิจการด้วย
รพ.รือเสาะ กักตัวบุคลากร 28 ราย หลังสัมผัสผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยอมเปิดเผยประวัติ
นายแพทย์มาหะมะ เมาะมูลา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรือเสาะ เปิดเผยผ่านประกาศของโรงพยาบาลรือเสาะลงวันที่ 15 เมษายน 2563 ระบุว่า พบบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล 28 ราย ที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้ซึ่งภายหลังยืนยันว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่ยอมเปิดเผยประวัติ โดยได้สั่งให้บุคลากรทั้ง 28 ราย หยุดงานและกักตัวเองแล้ว
นายแพทย์มาหะมะ ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์ 10 คน ที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วย จะถูกส่งตัวไปดูอาการ 14 วัน ที่โรงพยาบาลในพื้นที่ จ.สงขลา ส่วนอีกบุคลากรอีก 18 คน ผู้ป่วยที่พบว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะรวมถึงญาติของผู้ป่วยที่ดูแลอย่างใกล้ชิด จะถูกส่งตัวไปกักเพื่อดูอาการ 14 วัน ที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
ในวันนี้ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่ม 29 ราย ผู้ป่วยสะสมตอนนี้ 2,672 คน ใน 68 จังหวัด และเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมเป็น 46 คน
บุคลากรทางการแพทย์ 102 คน ติดเชื้อโควิด-19
ด้าน นพ. ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 ว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวน 102 คน คิดเป็นร้อยละ 4 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมดในไทย โดยร้อยละ 65 ของบุคลากรทางการแพทย์นั้น ติดเชื้อมาจากการปฏิบัติหน้าที่ และ อีกร้อยละ 20 ติดเชื้อจากในชุมชน ที่เหลือไม่สามารถระบุได้ว่า ติดเชื้อจากที่ไหน ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 40 แพทย์ร้อยละ 10 ผู้ช่วยแพทย์และพยาบาลร้อยละ 10 นอกจากนี้ ร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อมีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ไม่เปิดเผยประวัติเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโควิด-19