ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง : อายุความคดีตากใบหมดไปโดยไม่สามารถนำจำเลยขึ้นศาลได้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.10.25
กรุงเทพฯ
ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง : อายุความคดีตากใบหมดไปโดยไม่สามารถนำจำเลยขึ้นศาลได้ ชาวบ้านร่วมละหมาดหน้าหลุมฝังศพของบรรดาของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ ซึ่งเป็นวันครบรอบ 20 ปีในวันนี้ ณ สุสานแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 ตุลาคม 2567
เอเอฟพี

“ผู้ที่หลบหนี ความรู้สึกของสังคมก็จะตามเขาตลอด เราก็พยายามทำเต็มที่ ยังไงก็ตามยังเหลือเวลาอีก ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายความมั่นคงก็ยังพยายามทำ ก็หวังว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้” พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวก่อนคดีตากใบจะหมดอายุความเพียง 3 วัน 

หลังจากผ่านเที่ยงคืนวันศุกร์ สังคมก็ได้พบว่า “ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง” เมื่ออายุความของคดีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 ที่หน้า สภ.อ. ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก หมดลงโดยที่ตำรวจไม่สามารถนำตัวจำเลย และผู้ต้องหา 14 คนมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายได้ 

ก่อนหน้านี้ มีนักวิชาการและนักสิทธิมนุษยชนเสนอแนะให้รัฐบาลทำกฎหมายเพื่อต่ออายุความคดีนี้ออกไปเป็นกรณีพิเศษ โดยแคมเปญที่รณรงค์ผ่าน change.org มีคนร่วมลงชื่อกว่า 5,100 คน อย่างไรตาม น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงว่า ไม่สามารถต่ออายุคดีนี้ออกไปได้

“โดยสรุปกฤษฎีกาบอกว่า ไม่เข้าเกณฑ์ในการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามรัฐธรรมนูญ เพราะจะเป็นการเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายนี้ขอให้ทุกคนรวมทั้งรัฐเอง ตระหนักถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น ก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นอีก ไม่อยากให้ทุกฝ่ายต้องเกิดความขัดแย้งซึ่งกันและกัน” น.ส. แพทองธาร กล่าว

ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน น.ส. แพทองธาร จึงทำได้แต่เพียงแสดงความเสียใจ และยืนยันว่า ไม่ต้องการให้เหตุเช่นนี้เกิดขึ้นอีก 

“รัฐบาลที่ผ่านมาได้จ่ายค่าชดเชยเยียวยาไปแล้ว จริง ๆ ตัวดิฉันเองในฐานะนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ก็รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมาก ก็ต้องขอโทษในนามของรัฐบาล ก็จะทำให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก” นายกรัฐมนตรี ระบุ

คดีตากใบ สืบเนื่องจากการชุมนุมของประชาชนร่วมพันคนหน้า สภ.อ. ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 เรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่ถูกจับ เพราะถูกกล่าวหาว่าทำปืนราชการสูญหาย ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย 

ผู้ชุมนุมอีกกว่าพันคนถูกมัดมือ และเรียงซ้อนกันในรถบรรทุกทหาร 25 คัน เพื่อนำตัวไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี ที่ห่างออกไป 150 กม. ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางอีก 78 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ผ่านเวลามา 20 ปี กรณีนี้กลับไม่มีข้าราชการที่รับผิดชอบได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

“20 ปีที่ผ่านมา ญาติของผู้เสียหายรอคอยด้วยความหวังว่า จะมีใครรับผิดชอบบ้างไหม แต่ผ่านไปนานเข้า ก็ยังไม่มีการตั้งสำนวนคดีกับผู้ที่มีอำนาจในการสั่งสลายการชุมนุม เมื่อปีที่แล้ว ครบรอบ 19 ปี ญาติเองมีความเห็นตรงกันว่า คดีของเจ้าหน้าที่นั้นล่าช้า จึงจำเป็นต้องดำเนินคดีด้วยตนเอง” นายอูเซ็ง ดอเลาะ ทนายความของญาติผู้เสียหายคดีตากใบ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ 

000_36KR7YK.jpg

ชาวบ้านในชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส ชูป้ายเรียกร้องความยุติธรรมในคดีตากใบ หน้าสุสานของผู้เสียชีวิต วันที่ 25 ตุลาคม 2567 (เอเอฟพี)

ต้นปี 2567 ญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล ตามด้วยอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องผู้เกี่ยวข้องในช่วงปลายปี ทำให้มีคดีที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ตากใบสองคดี ประกอบด้วย 1. คดีที่ญาติผู้เสียหาย 48 คน เป็นโจทก์ฟ้องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ซึ่งคดีอยู่ในศาลจังหวัดนราธิวาส มีจำเลย 7 คน ศาลนัด 2 ครั้งก่อนหน้านั้น แต่จำเลยไม่มาตามนัด

“เราไม่ได้ฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงิน เราตัดสินใจฟ้องเพื่อที่หาคนที่ต้องรับผิดชอบจากการใช้อำนาจรัฐ การที่นายกฯ ออกมากล่าวขอโทษเป็นการแสดงออกที่ช้าเกินไป ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ ควรที่จะลงไปพบปะกับญาติและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ในฐานะผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาสูงสุด" นายอูเซ็ง กล่าว

และ 2. คดีที่สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง ผู้บังคับบัญชาและคนขับรถบรรทุกขนผู้ชุมนุม คดีนี้มีผู้ต้องหา 8 คน ทั้งสองคดีมีจำเลยและผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 14 คน(ทั้งสองคดีมีชื่อซ้ำกันหนึ่งคน) แต่ไม่มีคนใดยอมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

“ญาติรู้สึกเหมือนการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ไม่มีความจริงใจในการนำผู้ต้องหา-จำเลยมาดำเนินคดี แม้อายุความของคดีนี้จะหมดไป แต่ญาติและประชาชนก็จะรู้สึกว่า ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม”​ นายมูฮำมะซาวาวี อูเซ็ง หนึ่งในญาติผู้เสียชีวิตที่ฟ้องคดี กล่าว

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ระบุว่า ตำรวจพยายามอย่างถึงที่สุดในการหาตัวผู้ต้องหา และจำเลยของคดีมาเข้ากระบวนการยุติธรรม มีการบุกค้นกว่า 30 จุด อย่างไรก็ตาม สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(สตม.) เปิดเผยว่า มีจำเลย 2 คนได้หลบหนีไปต่างประเทศแล้วก่อนที่คดีจะหมดอายุความ

ขณะเดียวกัน องค์กรสิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคมหลายองค์กร ได้แสดงความเป็นห่วงต่อคดีดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามุสลิมแห่งประเทศไทย (MUSTFETH), มูลนิธิศักยภาพชุมชน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และอีกหลายองค์กร

“เรายินดีที่ในที่สุดก็มีการดำเนินคดีอาญาสองคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีการออกหมายจับข้าราชการทั้งปัจจุบันและเกษียณอายุราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว อย่างไรก็ตาม เรากังวลอย่างยิ่งว่าหากไม่มีการดำเนินการใด ๆ คดีความดังกล่าวจะจบลงเมื่ออายุความของคดีขาดไปในวันที่ 25 ต.ค. 2567” กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ระบุ

ขณะ ที่เครือข่าย The Patani และอีก 45 องค์กรประชาสังคม เสนอแนะว่า หากอายุความหมดลงรัฐบาลยังสามารถเยียวยาญาติผู้เสียหายได้ด้วยวิธีอื่น 

“รัฐบาลสามารถเชิญจำเลย และผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ความจริงว่า ตนมีบทบาทอย่างไรในกรณีตากใบ ตนเป็นสักขีพยานในเหตุการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้าง หากยอมรับว่าตนได้กระทำความผิด ก็สามารถขอโทษและชดเชยต่อผู้ถูกกระทำหรือญาติผู้ถูกกระทำได้” ข้อเสนอตอนหนึ่ง ระบุ 

ต่อคดีตากใบ รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ เสนอให้รัฐบาลใช้แนวทางใหม่ในการสะสางคดี และถอดบทเรียนเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีการจัดตั้งสถาบันเพื่อศึกษาหาทางป้องกันความรุนแรงเป็นการเฉพาะทั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่อื่น จัดตั้งอนุสรณ์สถาน เพื่อสร้างฐานข้อมูลต่าง ๆ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา 

“ควรมีแนวทางใหม่แทนกระบวนการยุติธรรมที่ยุติ เช่น ตั้งคณะกรรมการชำระสะสางคดี (Tribunal) เชิญทุกฝ่ายทั้งผู้ถูกกล่าวหา ผู้ได้รับผลกระทบ ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางมาร่วม ซึ่งในหลายประเทศใช้กระบวนการเช่นนี้หลังจากคดีสิ้นสุด เพราะสังคมสงสัยเคลือบแคลงใจว่า หลายฝ่ายไม่ได้รับความยุติธรรม” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าว

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี และ เกริก ประชากุล ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง