ภูเก็ตเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยวจีน-ต่างชาติ ตุลาคมนี้
2020.09.30
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จังหวัดภูเก็ตมีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มแรกที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตแล้ว หลังจากที่ประเทศไทยยกเลิกเที่ยวพาณิชย์ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมานี้เพราะต้องควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19
ด้านนายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยืนยัน ระบบคัดกรองโรค และโรงแรมสำหรับกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความพร้อมทั้งหมดแล้ว มีโรงแรม 1,200 ห้อง สำหรับกักตัว
ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในช่วงเช้า หลังการตรวจสอบความพร้อมการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาเที่ยวในจังหวัด โดยระบุว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดระลอกสอง
“ความพร้อมของจังหวัดภูเก็ตในการที่จะรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามา เราเตรียมมาเป็นลำดับ ตั้งแต่คนที่จะลงมาจากเครื่องบินแล้ว ก็จะมาผ่านระบบการตรวจสอบ เราคิดว่า วันนี้เราพร้อม ในการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาในจังหวัดภูเก็ตนั้น จังหวัดภูเก็ตจะปฏิบัติตามที่ ศบค. หรือรัฐบาลสั่งการลงมา” นายณรงค์ กล่าว
“สิ่งที่เราพยายามมาตลอด คือ เรามาดูในแต่ละจุด สิ่งไหนที่เป็นข้อห่วงกังวลของพี่น้องประชาชน เราจำเป็นต้องบริหารความรู้สึกของพี่น้องประชาชนทุกฝ่าย เราจะต้องฟังทุกฝ่าย และฟื้นฟูเศรษฐกิจไป พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นว่า จะไม่ระบาดรอบสอง” นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติม
การเตรียมการของจังหวัดภูเก็ตในการรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั้นสืบเนื่องจากเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจากประเทศจีนเดินทางมายังประเทศไทยโดยลงที่ท่าอากาศยานภูเก็ต
“เที่ยวบินแรกเช่าเหมาลำโดยสายการบินสายการบินแอร์เอเชีย ที่จะนำนักท่องเที่ยวจากจีน 150 คน มาลงที่สนามบินภูเก็ต และนักธุรกิจชาวจีน 7 คน นำไพรเวท เจ็ท หรือเครื่องบินส่วนตัวลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 25 ตุลาคม 2563 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองกว่างโจว 126 คน เดินทางโดยสายการบินไทยสไมล์ มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ และ 1 พฤศจิกายน 2563 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และเชงเก้นอีก 120 คน เดินทางโดยสายการบินไทย มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ เช่นกัน
นายพิพัฒน์ ระบุว่า ครม. เห็นชอบแนวทางการเปิดประเทศ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติประเภทพิเศษเข้ามาพำนักในไทยในระยะยาวได้แบบจำกัดจำนวน ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบในรายละเอียด เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนาม และออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศได้ ตามเงื่อนไขในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นี้
ด้าน นายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ระบบสาธารณสุขของจังหวัดภูเก็ต มีความพร้อมในการรับมือนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัดแล้ว
“การเตรียมทีมควบคุมป้องกัน ทีมสาธารณสุข ตระเตรียมความพร้อมการสอบสวนโรคตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข เราย่อส่วนสำนักระบาดมาอยู่ในจังหวัดภูเก็ตเลย โดยกระจายทั่วทุกพื้นที่ เราเตรียมแผนสำหรับกรณีที่อาจจะเกิดการระบาดรอบสอง ซักซ้อมแผนการ ฝั่งโรงพยาบาลไว้รักษาผู้ป่วย เราก็มีความพร้อมแล้วทั้งหมด” นายแพทย์ธนิศ กล่าวผ่านโทรศัพท์
“ปัจจุบันเรามี โรงแรม ALQ (สถานกักกันโรคแบบทางเลือก) พร้อมใช้งาน 9 โรงแรม 1,200 ห้อง คือเราเตรียมล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้แล้ว โดยทุกโรงแรมจะผ่านการประเมินตามมาตรฐานทั้งหมด ซึ่งในอนาคตก็จะมีการประเมินเพิ่มอีก โดยเราจะมีการวางแผนพัฒนาระบบไปเรื่อย ๆ โดยจะเริ่มจากรับนักท่องเที่ยวจำนวนน้อย แล้วค่อยเพิ่มไปหามาก แต่เราไม่ได้กำหนดว่า จะรับได้เท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับการสั่งการของ ศบค. การรับนักท่องเที่ยวเข้ามาก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ท่านผู้ว่าฯ จะเรียกประชุมซักซ้อมอีกครั้งในวันศุกร์นี้ เวลา 10 โมง ที่สนามบินภูเก็ต ครั้งสุดท้าย” นายแพทย์ธนิศ กล่าวเพิ่มเติม
ในเรื่องนี้ นายอินดิรา เนาว์ไพร ผู้จัดการโรงแรมรีเซนต้า จังหวัดภูเก็ต หนึ่งในโรงแรมที่จะถูกใช้เป็นสถานที่กักกันโรค เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า
การปรับปรุงโรงแรมให้เป็นสถานที่กักตัว จะทำให้โรงแรมมีรายได้เข้ามา เฉลี่ยเดือนละ 600,000 บาท แต่ต้องลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบรองรับการกักตัวเช่นกัน โดยมีการติดกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่งโมงป้องกันไม่ให้ผู้กักตัวออกจากพื้นที่ มีการอบรมพนักงาน ที่ต้องดูแลทั้งผู้กักตัวและตัวเองไม่ให้ติดโรค รวมถึงทำความสะอาดสถานที่
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีคำสั่งปิดการเข้าออกราชอาณาจักร ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2563 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากนั้น ได้มีการห้ามเครื่องบินพาณิชย์บินมาลงในประเทศไทย จนกระทั่ง ในวันที่ 15 กันยายน 2563 ด้าน น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวแบบ Long Stay เข้าประเทศไทยได้ โดยจำเป็นต้องมีเงื่อนไขพิเศษ คือ 1. เป็นบุคคลต่างด้าวที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย 2. ยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ประกาศใช้ภายในประเทศไทย และตกลงยินยอมกักตัวในห้องพักจำนวน 14 วัน 3. มีหลักฐานสถานที่พักอาศัยระยะยาวภายในประเทศไทย ได้แก่ หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่พัก หรือโรงพยาบาลที่พัก ตามระยะเวลาที่ประสงค์จะพำนัก มีสิทธิขอรับการตรวจ ลงตราประเภทนักท่องเที่ยวเป็นพิเศษ โดยเสียค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ครั้งละ 2,000 บาทได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลา 90 วัน
“ภายหลังจากที่ครบกำหนดเวลาอนุญาต 90 วันแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจอนุญาตให้อยู่ต่อไปได้อีก 2 ครั้ง ๆ ละ 90 วัน โดยคนต่างด้าวต้องยื่นคำขอตามแบบ และเสียค่าธรรมเนียมตามที่กำหนด โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564” นางสาวรัชดา กล่าว
จากการเปิดเผยของ ศบค. ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสม 3,564 ราย ในวันนี้เพิ่มขึ้น 5 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 131 ราย หายป่วยและกลับบ้านได้แล้ว 3,374 ราย และเสียชีวิตสะสม 59 ราย คงที่นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 63
ขณะเดียวกัน ประเทศจีน ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อ 90,528 ราย รักษาหายแล้ว 85,426 ราย และเสียชีวิต 4,739 ราย
โดยทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อ 33,719,865 ราย รักษาหายแล้ว 23,439,279 ราย และ เสียชีวิต 1,009,349 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล
เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ปี 2563 (มีนาคม-มิถุนายน) ติดลบอยู่ 12.2 เปอร์เซ็นต์ ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ติดลบ 12.5 เปอร์เซ็นต์ โดยตลอดทั้งปี สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า จีดีพีไทยจะติดลบประมาณ 7.5 เปอร์เซ็นต์ โดย นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ของปี 2563 หดตัวสูง เพราะการปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจหลายภาคส่วนต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ขณะที่การส่งออกลดลงจากอุปสงค์ที่หดตัวในต่างประเทศ
ในเดือนกันยายน 2563 ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย ได้ปรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยทั้งปีจะหดตัว 8 เปอร์เซ็นต์ เลวร้ายกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายนนี้ว่า จะติดลบ 6.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ธนาคารโลกประเมินว่า ในสิ้นปี 2563 นี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตติดลบอย่างน้อย 8.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตกต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ในรายงานเดือนมีนาคม หรือรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย จะถดถอยต่ำสุดถึงติดลบ 5 เปอร์เซ็น