นักสิทธิมนุษยชนวิจารณ์การตรวจดีเอ็นเอเด็กทารก ลูกแกนนำผู้ต้องสงสัยก่อความรุนแรงในปัตตานี
2015.11.23

ในวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2558 นักสิทธิมนุษยชน และทนายความ กล่าวว่า การเก็บสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ และลายพิมพ์นิ้วมือจากเด็กอายุ 5 เดือน นั้น ผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก และในกรณีทั่วไป ต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนหรือผู้ต้องสงสัย
โดยการเก็บดีเอ็นเอ ด.ช.ชาลีฟ มะลี อายุ 5 เดือน นั้น เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ (21 พ.ย.2558 ) ที่ผ่านมา หลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ต้องสงสัย ว่าเป็นบิดาของเด็กชายชาลีฟ คือนายเสรี แวมามุ แกนนำผู้ก่อความไม่สงบในอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มาเป็นเวลาระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนามท่านหนึ่ง กล่าวว่า นายเสรี แวมามุ ยังเป็นผู้ที่ถูกสงสัยว่าเป็นคนผู้อยู่เบื้องหลังการวางระเบิดในหลายพื้นที่ เช่น โรงแรมลีการ์เด้นส์ อำเภอหาดใหญ่ เป็นต้น และได้หลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556
ทั้งนี้ ในช่วงก่อนพลบค่ำของวันเสาร์ที่ผ่านมานี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ชุดสืบสวนคดีสำคัญ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยเฉพาะกิจ 41 และหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 ได้นำกำลังร่วมกันตรวจค้นบ้านเลขที่ 57/1 หมู่ 1 บ้านดอนรัก ตำบลดอนรัก อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งมี น.ส. เจ๊ะปาติเมาะ แวกะจิ เป็นเจ้าของบ้าน และผู้อาศัย คือ น.ส. ซอมารีย๊ะ มะลี มารดาของเด็กชายชาลีฟ และเด็กชายชาลีฟ และนายมาอุเซ็น แวจิ จึงได้มีการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม และลายพิมพ์นิ้วมือของบุคคลทั้งสี่คน
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ได้กล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ได้ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน พร้อมทั้งยังมีเอกสารยินยอมตรวจดีเอ็นเอจากแม่ คือ น.ส. ซอมารีย๊ะ มะลี ให้ข้อมูล พร้อมเซ็นยินยอมให้ ด.ช.ชาลีฟ มะลี เกิดวันที่ 13 มิถุนายน 2558 ปัจจุบัน อายุ 5 เดือน 10 วัน เป็นลูกชายของนายเสรี แวมามุ กับตัวเอง อยู่บ้านเลขที่ 5 หมู่ที่ 1 ตำบลท่ากำชำ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่จึงสามารถตรวจเก็บดีเอ็นเอเพื่อเก็บในสารบบ”
จากนั้น น.ส. ซอมารีย๊ะ มะลี และบุตรชาย ได้ถูกนำตัวไปยังสถานีตำรวจหนองจิก เพื่อลงบันทึกประจำวัน ก่อนถูกปล่อยตัวกลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม นางอังคณา นีละไพจิตร มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์แก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้ว่า การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากเด็กนั้น ถือว่าผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และไม่ควรเก็บดีเอ็นเอเพื่อนำไปพิสูจน์ว่าเป็นลูกของผู้ต้องสงสัยหรือไม่
“การเก็บดีเอ็นเอเด็ก ถือว่าผิดกฎหมาย ผิดพรบ. เด็ก การตรวจดีเอ็นเอเด็ก อายุ 5 เดือน เจ้าหน้าที่จะปฏิเสธไม่ได้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีหน้าที่คุ้มครองเด็ก เมื่อมีการละเมิดก็ต้องออกมาปกป้อง เพื่อให้เกิดการยุติการละเมิดสิทธิเด็ก” นางอังคณากล่าว
“ไม่ใช่ว่า อยากรู้ว่าเด็กคนนี้เป็นลูกผู้กระทำผิดหรือเปล่า ก็ตรวจดีเอ็นเอ พ่อทำผิดก็ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่จะมีสิทธิ์ไปกระทำต่อเด็ก ถึงแม้ว่า แม่จะยินยอม แต่เด็กพูดไม่ได้ หน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่คุ้มครอง” นางอังคณากล่าวเพิ่มเติม
นางอังคณา กล่าวต่อไปว่า การตรวจดีเอ็นเอในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหามาตลอด เรื่องนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำเรื่องเสนอเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมาแล้ว เพราะการตรวจเก็บดีเอ็นเอ ไม่สามารถทำได้ด้วยการบังคับ และผู้ให้ตรวจจะต้องสมัครใจ และศูนย์พิสูจน์หลักฐานจังหวัดยะลา ทำหน้าที่ตรวจเก็บดีเอ็นเอ ก็มีเอกสารยินยอมของการให้ตรวจดีเอ็นเอ แต่วันนี้ ที่เป็นปัญหาในพื้นที่ คือ ประชาชนหรือผู้ต้องสงสัย ให้เก็บแต่ไม่ยินยอมให้เซ็นเอกสาร
ส่วนเจ้าหน้าที่ที่มีความเป็นวิชาชีพ ต้องควรอธิบายด้วยว่า เก็บไปทำอะไร ส่วนชาวบ้านเองก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ให้ตรวจ และเมื่อไม่สมัครใจก็ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจ และไม่ควรยอมเซ็นเอกสาร นางอังคณากล่าว
เช่นเดียวกันกับเรื่องการตรวจโทรศัพท์มือถือของประชาชนหรือผู้ต้องสงสัย โทรศัพท์มือถือเป็นสมบัติส่วนตัว เจ้าหน้าที่ต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของ ถ้าไม่ใช่เหตุการณ์ซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ก็ต้องขอหมายศาล ต้องมีหมายจับ แต่ทุกวันนี้ เจ้าหน้าที่มักใช้ช่องทางความไม่รู้กฎหมายของประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิบ่อยครั้ง