เด็กไทยไร้สัญชาติในมาเลเซีย ผ่านการตรวจดีเอ็นเอกว่า 70 ราย

มารียัม อัฮหมัด
2017.08.24
ปัตตานี
TH-dna-children-1000 นางสาวอีลา ดอเลาะห์ (ติดป้ายหมายเลข 1) นำลูกชายคนที่ 5 เข้าตรวจดีเอ็นเอที่สถานกงสุลไทย ในเมืองโกตาบาห์รู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย วันที่ 15 กรกฎาคม 2560
เอื้อเฟื้อภาพโดย ศอ.บต.

เจ้าหน้าที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในวันพฤหัสบดี (24 สิงหาคม 2560) นี้ว่า เด็กไทยที่เกิดจากผู้ปกครองชาวไทยที่โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในมาเลเซีย และยังไม่มีสัญชาติ ได้ผ่านกระบวนการตรวจดีเอ็นแล้ว 73 คน จากเด็กที่รับการตรวจ 74 คน ซึ่งทางการไทยจะสามารถออกเอกสารทะเบียนราษฎร์ให้ในลำดับต่อไป

นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ผลการตรวจความสัมพันธ์ทางสายเลือด ตามโครงการตรวจสารพันธุกรรม หรือ DNA นั้น เป็นขั้นตอนแรกในความช่วยเหลือด้านงานทะเบียนราษฎรกับเด็กไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย

"มีการตรวจพิสูจน์ความสัมพันธ์ของแม่กับลูกจำนวน 53 ราย ผลตรวจยอมรับความสัมพันธ์ 52 ราย และมีหนึ่งราย ปฎิเสธความสัมพันธ์ มีการตรวจความสัมพันธ์พ่อกับลูกจำนวน 12 ราย ผลตรวจยอมรับความสัมพันธ์ทั้งหมด ความสัมพันธ์เครือญาติ จำนวน 9 ราย ผลตรวจสอบรับ 9 ราย สรุปจะมีผู้ที่สามารถตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ไปใช้ขอรับรองสถานนะ ได้ทั้งหมด 73 ราย จากทั้งหมด 74 ราย" นายธีรุตม์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ในวันนี้

โครงการช่วยเหลือเด็กไทยให้ได้มีเอกสารทะเบียนราษฎร์ดังกล่าว เป็นไปตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาการไร้สัญชาติของเด็กที่เกิดจากพ่อ-แม่ที่ไปอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซีย แต่ไม่ได้มีการแจ้งเกิดตามระบบทะเบียนราษฎร์ให้เรียบร้อย

นางสาวอีลา ดอเลาะห์ ชาวบ้าน อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส หนึ่งจำนวนผู้ปกครองที่นำลูกมาตรวจดีเอ็นเอ เมื่อกลางเดือนกรกฎาคม นี้ กล่าวว่า ตนเองมีลูก 5 คน และได้คลอดลูกชาย คนที่ 5 ที่ประเทศมาเลเซีย และอาศัยอยู่ในประเทศมาเลเซียมากว่า 10 ปี ที่ผ่านมาลูกทุกคนไม่สามารถรับสวัสดิการอะไรจากภาครัฐได้เลย พอทราบข่าวว่ามีโครงการนี้ ที่ได้ดำเนินการตามกระแสรับสั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็รีบดำเนินการตามขั้นตอนทันที

"ดีใจมากอยากร้องไห้ หลังจากนี้ ลูกทุกคนจะได้มีสิทธิ์ตามกฏหมายแล้ว" นางสาวอีลา กล่าว

สถานกงสุลไทยในโกตาบาห์รู ได้จัดการการตรวจดีเอ็น เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมีคณะแพทย์จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ ทำการตรวจดีเอ็นเอ  และได้มีเจ้าหน้าที่ของไทย เช่น นายดำรง ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ นายไพฑูรย์ สงค์แก้ว กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมทั้งมีนายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการ ศอ.บต. นางวิไลเลิศ สิรันทวิเนติ และคณะชมรมแม่บ้าน ศอ.บต. พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. และนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผอ. กองกิจการต่างประเทศ ศอ.บต. ร่วมเป็นประธาน

นายธีรุตม์ ได้กล่าวว่า ในชั้นตั้นจะมีการตรวจดีเอ็นเอพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตของเด็กกับบิดา-มารดา หรือญาติ กับเจ้าหน้าที่ตามโครงการตรวจสารพันธุกรรมกอ่น ส่วนในขั้นตอนต่อไป กรมการปกครองจะดำเนินการเรื่องทะเบียนราษฎร์ แล้วทาง ศอ.บต. ยังมีการสนับสนุนอีกสองขั้นตอน คือ เรื่องสุขภาพ และเรื่องการศึกษา

"นอกจากการดูแลเรื่องของการตรวจดีเอ็นเอ เพื่อให้กรมการปกครองได้ตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎ์แล้ว ลำดับต่อไปคือการส่งเสริมด้านสาธารณสุข และการศึกษา ซึ่ง ศอ.บต. แบ่งกระบวนการเป็น 3 ระดับ ลำดับแรก เป็นการตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ เพื่อให้การช่วยเหลือแก่บุคคลที่เกิดหรือพำนักอยู่ในมาเลเซีย"

นายธีรุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการตรวจทางพันธุกรรมดีเอ็นเอ จะถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการออกเอกสารทางทะเบียน เช่น สูติบัตร ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน การออกเอกสารทางทะเบียน รวมถึงบุคคลสัญชาติไทยที่พำนักในต่างประเทศ ที่ประสงค์จะกลับมาเมืองไทย จะได้มีโอกาสทางการศึกษา มีอาชีพ มีสถานภาพของบุคคลที่มีกฎหมายของรัฐรับรอง ตลอดจนได้รับสิทธิและหน้าที่แห่งความเป็นพลเมืองไทยต่อไปด้วย

โครงการตรวจสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ทาง ศอ.บต. ได้ดำเนินการตามพระราชกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งเสด็จพระราชดำเนินศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559

"ในครั้งนั้น สมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงมีรับสั่งให้ความห่วงใยในปัญหาคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศมาเลเซีย จากกรณีไม่มีสถานะทางทะเบียนและปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กไทยในรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย โดยให้ ศอ.บต. ดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ตามเขตแนวชายแดน" นายธีรุตม์ กล่าว

ทั้งนี้ นายมะแอ สะอะ หรืออดีตแกนนำพูโลที่รู้จักกันในนาม “หะยี สะมะแอ ท่าน้ำ” ได้ร้องขอให้ทางการไทยจัดโครงการช่วยเหลือด้านทะเบียนราษฎร์ให้แก่เด็กไทยนับพันรายที่อาศัยในประเทศมาเลเซียโดยไม่มีสัญชาติ รวมทั้ง ลูกๆ ของสมาชิกขบวนการก่อความไม่สงบพี่พ่อแม่พาหนีไปอาศัยอยู่ในมาเลเซีย เพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจในการการพูดคุยเพื่อสันติสุข

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง