ศาลสั่งปรับและรอลงอาญาแม่-ภรรยา ขวางขุดศพปริศนา
2023.07.10
ปัตตานี

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ศาลนราธิวาสได้สั่งจำคุก นางต่วนเมาะ ต่วนดือเซ็ะ และนางสาวนูรไฮนิง ดือรอแม ซึ่งเป็นมารดาและภรรยาของนายยาห์รี ดือเลาะ ตามลำดับ เป็นเวลา 1 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท แต่ให้รอลงอาญา ในข้อหาขัดขวางเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการขุดศพชายนิรนาม เพื่อพิสูจน์ทราบอัตลักษณ์บุคคลว่าเป็นใคร
“ก็ต้องสู้ต่อไป กำลังคุยกับทนายว่าจะอุทธรณ์คดี” นางต่วนเมาะ กล่าวในการเปิดเผยผลการพิพากษาคดีให้เบนาร์นิวส์ทราบ ในวันจันทร์นี้
เจ้าหน้าที่ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า ศาลสั่งจำคุกทั้งสองเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คดีนี้สืบเนื่องมาจากการพบศพของชายนิรนามที่ริมฝั่งแม่น้ำโกลก เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2565 ซึ่งฝ่ายบีอาร์เอ็น ระบุว่าเป็นคนของตนชื่อ ซาห์รี บิน อับดุลลาห์ อายุ 42 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ไทยลักพาตัวมาจากฝั่งมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565
เมื่อนางสาวนูรไฮนิงและญาติ ๆ ไปดูศพที่โรงพยาบาลสุไหงโกลก นางสาวนูรไฮนิง ระบุว่าศพนั้น คือ นายยาห์รี ดือเลาะ เพราะจำได้จากรอยแผลเป็นที่ขาของศพ และนำศพมาฝังไว้ที่กุโบร์ปาฮงกือปัส อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส
พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ในขณะนั้น กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ศพที่พบ ไม่ใช่นายยาห์รี สมาชิกบีอาร์เอ็น
“ตรวจสอบลายนิ้วมือของศพแล้ว ไม่ใช่ญาติหรือครอบครัวของเขาเลย เป็นคนละคนกัน... เนื้อเยื่อของศพที่เราตรวจ ไม่สามารถตรวจได้ แต่มันมีกลุ่มขบวนการบิดเบือนในความเป็นจริง เป็นการบิดเบือน” พล.ท. ศานติ ระบุกล่าว
“ตามกฎหมายเราต้องนำศพขึ้นมาตรวจสอบว่าเป็นศพของใคร เผื่อญาติเขากำลังตามหา ถ้าศพนี้เป็นศพของญาติเขา เขาจะคิดอย่างไร เราต้องมองหลายมุม” พล.ท. ศานติ ระบุ
ตามประวัติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทย นายยาห์รี เป็นบุคคลตามหมายจับในคดียิงผู้อื่นบาดเจ็บและเสียชีวิตอย่างน้อยสองคดีในช่วงปี 2560
จากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่เดินทางไปที่กุโบร์ เพื่อขอขุดศพปริศนาเพื่อการตรวจดีเอ็นเอ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2565 กลุ่มญาติของนายยาห์รี ได้เข้าขัดขวางจนเจ้าหน้าที่ต้องยุติแผนการไปโดยปริยาย
นายอาร์ฟาน วัฒนะ เลขาธิการกลุ่มเดอะ ปาตานี ภูมิภาคนราธิวาส ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิในการกำหนดชะตาของพื้นที่ชายแดนใต้ กล่าวว่า ทางกลุ่มได้สืบสวนการลักพาตัวบุคคลข้ามประเทศจากมาเลเซีย ในช่วง 10 ที่ผ่านมา ซึ่งพบการกระทำดังกล่าวรวม 6 ครั้ง
“ในรอบสิบปี มีการเกิดขึ้น 6 เคส เฉพาะในรัฐกลันตัน ห้าเคสมีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ไทยทำร่วมกับเจ้าหน้าที่นอกแถวมาเลย์ แต่เคสล่าสุดยังไม่มีข้อมูลชัดเจน” อาร์ฟานกล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์หลังพบศพ
ด้าน นางสาวชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสเฟซบุ๊กตำหนิทหาร
“ภูมิใจมากสินะที่แสดงแสนยานุภาพ ผนึกกำลังของรัฐทุกฝ่ายทั้งทหาร ตำรวจ กระบวนการยุติธรรม เอาชนะผู้หญิงชาวบ้านตัวเล็ก ๆ สองคนที่ไม่มีทางสู้อะไรได้ ทำอะไรไม่เคยคิดถึงจิตใจชาวบ้าน สร้างแต่ความเจ็บปวด สร้างแต่บาดแผลในใจให้ชาวบ้านอยู่ทุกวี่วัน สันติภาพคงจะเกิดได้หรอกนะ” นางสาวชลิตากล่าว
ส่วนเจ้าหน้าที่ทหารที่ไม่ต้องการระบุนาม เพื่อไม่ต้องการขยายความขัดแย้ง กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม