เจ้าหน้าที่เตรียมอายัดตัว ผู้พ้นโทษคดีความมั่นคง 6 ราย
2020.09.14
ปัตตานี

ในวันจันทร์นี้ ในขณะที่มีการเตรียมการปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคง ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ หรือพักโทษ ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2563 นี้ เจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามสืบสวนคดีพิเศษ จังหวัดปัตตานี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้ตรวจสอบข้อมูลว่านักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัวมีหมายจับในคดีอื่นหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าในจำนวนผู้ต้องหาพ้นโทษ 13 ราย จะถูกอายัดตัวจำนวน 6 ราย
พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม ผบก.ภ.จว.ปัตตานี กล่าวในวันจันทร์นี้ว่า ในจังหวัดปัตตานี มีรายชื่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคง จำนวน 8 ราย มีผู้ที่มีคุณสมบัติที่สามารถผ่านหลักเกณฑ์ และจะปล่อยตัวได้ 2 ราย ขณะที่ พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า เรือนจำจังหวัดนราธิวาส จะมีการปล่อยตัวนักโทษความมั่นคง 5 ราย
“มีรายชื่อผู้ต้องหาคดีความมั่นคง จำนวน 8 ราย แต่จากการตรวจสอบทั้งสามฝ่าย ปรากฏว่ามีคุณสมบัติที่สามารถผ่านหลักเกณฑ์ และจะปล่อยตัวได้มี 2 ราย คือ ผู้ต้องหาที่ไม่มีหมายจับ และไม่มีการอายัดตัว ซึ่งตอนนี้ ก็ต้องอยู่ในขั้นตอนของเรือนจำ ที่จะต้องมีมาตรการฝึกอบรมโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในเรือนจำ ซึ่งเป็นการฝึกอาชีพอย่างหนึ่ง และต้องดูทางเรือนจำปัตตานีว่า จะครบกำหนดเมื่อไหร่ ซึ่งตรงนี้ยังตอบไม่ได้ก่อน” พล.ต.ต. จิระวัฒน์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
สำหรับรายชื่อนักโทษ รายแรก คือ น.ช.อามีน กาซอ เริ่มจำคุกวันที่ 26 เม.ย. 2555 และจะสิ้นสุดการจำคุกในวันที่ 6 พ.ย. 66 รายที่สอง น.ช.อาพันดี กาพา เริ่มจำคุก 4 ก.ย. 57 กำหนดพ้นโทษ 12 มิ.ย. 64 รายที่สาม น.ช.อัซมัน เจะยอ เริ่มจำคุก 10 พ.ค. 54 สิ้นสุดการจำคุก 2 มิ.ย. 72 รายที่สี่ น.ช.มะลูดิง สะมาแอ เริ่มจำคุก 18 ก.ย. 52 สิ้นสุดการจำคุก 28 พ.ค. 65 รายที่ห้า น.ช.มัดดี มะยี เริ่มจำคุก 25 ธ.ค. 55 สิ้นสุดการจำคุก 2 พ.ค. 68 รายที่หก น.ช.เดะแม กาซอ เริ่มจำคุก 9 มี.ค. 52 สิ้นสุดการจำคุก 20 ก.ย. 69 รายที่เจ็ด น.ช.มะยาแม กาเด็ง เริ่มจำคุก 13 มิ.ย. 56 ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต และรายที่ 8 น.ช.ฮายู แดบอ เริ่มจำคุก 16 ส.ค. 59 สิ้นสุดการจำคุก 30 ธ.ค. 63
เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผู้ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวว่า ในจำนวนนี้ มี 6 ราย ที่กระทำความผิดในคดีความมั่นคง เช่น พยายามฆ่าผู้อื่น ปล้นทรัพย์โดยใช้อาวุธปืนยิง เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น
ด้าน พล.ต.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ในวันพรุ่งนี้ (อังคารที่ 15 ก.ย.) จะมีการปล่อยตัวนักโทษคดีความมั่นคงจริง ตามกำหนดการของโครงการทั่วประเทศ จะมีพิธีพร้อมกัน ในเวลา 09.00 น.
“ทราบมาว่าของเรือนจำนราธิวาส จะมีการปล่อยตัวนักโทษความมั่นคง 5 ราย ด้วยเช่นกัน ทราบชื่อ คือ 1. นายโมหะหมัดซอฮีมียา ย้ายมาจากเรือนจำบางขวาง เป็นพี่ชายของมะนาเซ ที พักโทษยุติธรรมเข้าโครงการพาคนกลับบ้าน 2. นายมะฟาริส บือราเฮง 3. นายสุรียา เจ๊ะมุ 4. นายนิซัม เจ๊ะอุเซ็ง และ 5. นายนาวาวี ยะโก๊ะ” พล.ต.เกรียงไกร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
แม้กระนั้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้ให้ทัศนะว่า ทางเจ้าหน้าที่มักจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องคดีให้เบ็ดเสร็จในคราวเดียวกัน แต่จะเก็บคดีอื่น ๆ เพื่ออายัดตัวนักโทษ เมื่อพ้นโทษข้อหาอื่น
“ปัญหาที่ได้ยินมาตลอดในการดำเนินคดีของผู้ต้องสงสัย หรือจำเลยในคดีความมั่นคงในพื้นที่ ไม่ได้ดำเนินคดีพร้อมกันทั้งหมดทีเดียว เก็บบางกระทงเอาไว้ เพื่อที่จะงัดเอามาใช้ต่อ ในกรณีข้อหาที่ฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วยุติลง หากผู้ต้องหาถูกวินิจฉัยโดยศาล หรือว่ากระทำผิดได้รับการลดหย่อน ลดโทษ หรือดำเนินคดีแล้ว การลงโทษในกระบวนการยุติธรรมครบหมดแล้ว พอออกมาก็โดนคดีต่อไป คล้าย ๆ ว่า ฟ้องกันแบบเรียงคิว แทนที่จะฟ้องไปพร้อม ๆ กัน จะได้ไม่ต้องมีปัญหาแบบไม่ต้องเข้าเรือนจำไปอีก ไม่หลุดออกมาจริง ๆ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ส่วนหนึ่งคิดว่านี่คือการละเมิดสิทธิ์ทางอ้อม เดินที่ละดอก ไล่ที่ละเรื่อง ไม่ได้เป็นการให้สิทธิ์ของผู้ต้องหาอย่างเต็มที่ ควรแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เป็นปัญหากระบวนการยุติธรรม ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างเปิดเผย โปร่งใส และดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหากว่าทำอย่างนี้ ก็จะไม่จบสิ้นสักที จะมีปัญหาไม่จบ” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านบิดาของนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ในจังหวัดปัตตานี รายหนึ่ง (ไม่ประสงค์ออกนาม) กล่าวว่า ตนเองดีใจมากที่ลูกชายจะได้ออกจากเรือนจำ โดยในหลวงรัชกาลที่ 10 พระราชทานอภัยโทษ ถือเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น
“ผมดีใจจนบอกไม่ถูก ไม่ใช่เฉพาะคนที่บ้านเท่านั้นตอนนี้ที่ดีใจ คนทั้งหมู่บ้านที่ทราบข่าว ต่างดีใจกันทั้งหมด เพราะเขาไม่ผิดตั้งแต่แรก” บิดาของนักโทษรายหนึ่งกล่าว
ปล่อยตัวนักโทษคดีน้ำบูดูอีก 4 ราย
ในวันเดียวกันนี้ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีระเบิดน้ำบูดู ที่พ้นโทษเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 คน โดยมีญาติพี่น้องที่เดินทางไกลมาจาก อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส มารอรับอย่างอบอุ่น
คดีหมายเลขดำที่ อ.561/2560 หรือที่สื่อมวลชนเรียกว่า “คดีระเบิดน้ำบูดู” คือ คดีที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวนักศึกษา และประชาชนชาวไทย-มุสลิม ใกล้มหาวิทยาลัยรามคำแหงกว่า 40 ราย ในวันที่ 10 ตุลาคม 2559 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับการแจ้งข่าวจากหน่วยข่าวกรองความมั่นคงว่า คนกลุ่มดังกล่าวมีการซ่องสุม และวางแผนวางก่อเหตุคาร์บอมบ์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล นำไปสู่การขยายผลจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกจำนวนหนึ่ง ในจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดนราธิวาส แต่จากการสอบสวนและตรวจค้นในชั้นต้น เจ้าหน้าที่ไม่พบวัตถุระเบิด หรือวัตถุประกอบระเบิดโดยตรง พบเพียงกล่องบรรจุอาหารพื้นเมือง ข้าวยำ และน้ำบูดู
เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 กฎอัยการศึก และพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยบางรายเข้าสู่กระบวนการซักถาม ในพื้นที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) กรุงเทพฯ และ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ต่อมา พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เจ้าพนักงานฝ่ายกฎหมาย คสช. ได้ฟ้องร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาผิดผู้ต้องสงสัย ซึ่งประกอบด้วย นายตาลมีซี โต๊ะตาหยง และพวกรวม 14 คน ในข้อกล่าวหาร่วมกันเป็นอั้งยี่ ร่วมกันเป็นซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย ก่อนที่คดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาในปี 2560
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2561 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้ให้จำเลยที่ 1, 2, 4 และ 9-13 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร รวมโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์กับคดี เหลือ 4 ปี จำเลยที่ 3 ผิดข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร และมีวัตถุระเบิดรวมโทษจำคุก 9 ปี ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 6 ปี และยกฟ้องจำเลยที่ 5-8 และ 14 เนื่องจากไม่มีหลักฐานให้เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย
หลังติดคุกได้ 3 ปีกว่า วันนี้ พ้นโทษ 4 ราย เหลืออีก 5 ราย ที่เข้าเรือนจำทีหลัง เนื่องจากได้ร่วมโครงการของศูนย์สันติสุข ที่ค่ายอิงคยุทธฯ ตามคำแนะนำของนายทหารในพื้นที่ ก่อนจะถูกนำตัวมามอบตัวที่กองปราบในเดือนพฤษภาคม 2560 และต้องถูกโทษเช่นเดียวกับจำเลยคนอื่น ๆ
คนเสื้อแดงได้อภัยโทษ 6 ราย
เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 ว่า แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) 6 ราย ซึ่งถูกควบคุมตัวในปัจจุบัน กำลังจะได้รับการปล่อยตัวในอนาคตอันใกล้นี้ หลังได้รับการอภัยโทษ โดยผู้ที่จะถูกปล่อยตัวประกอบด้วย 1. นพ.เหวง โตจิราการ 2. นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ 3. นายวรชัย เหมะ 4. ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักย์ศิริ 5. นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท และ 6. นายพายัพ ปั้นเกตุ ซึ่งเป็นกลุ่มนักโทษคดีการเมืองและอดีตรัฐมนตรี ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามมาตรา 6 (1) และ (2) (จ)
ทั้ง 6 รายได้รับการอภัยโทษ พร้อมกับนักโทษอีกราว 27,000 คน ซึ่งก่อนปล่อยตัวจะต้องเข้าร่วมอบรมในโครงการโคกหนองนา เป็นเวลา 15 วัน นพ.เหวง นายวีระกานต์ และนายวรชัย ซึ่งเข้าอบรมเป็นรุ่นแรก จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 15 กันยายน 2563 ขณะที่ ร.ต.ท.เชาวรินทร์ นายวิภูแถลง และนายพายัพ จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 30 กันยายน 2563