ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงเสียชีวิต ที่ค่ายทหาร ปัตตานี ญาติไม่เชื่อว่าตายเอง
2015.12.04

วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เมื่อเวลา 05.30 น. ที่ห้องควบคุมตัว ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พบศพ นายอับดุลลายิ ดอเลาะ อายุ 42 ปี ผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง นอนเสียชีวิตบนพรมละหมาด ภายในห้องควบคุม ในสภาพสวมผ้าโสร่ง ไม่สวมเสื้อ เจ้าหน้าที่คาดว่าน่าจะเสียชีวิตในเวลาเช้ามืด 04.30 น. ของวันนี้ พร้อมแจ้งให้ญาติและทางครอบครัว รวมทั้ง คณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้แทนทนายความ แพทย์จากโรงพยาบาลหนองจิก องค์กรเอ็นจีโอ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจหนองจิก รับทราบพร้อมส่งชันสูตรศพ ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ต่อมา เมื่อเวลา 08.00 น. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ทำหนังสือชี้แจง ถึงกรณีที่ นายอับดุลลายิ ดอเลาะ เสียชีวิตในขณะถูกควบคุมตัว ในค่ายอิงคยุทธบริหาร ของวันนี้ว่า ได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 โดยหน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี และ หน่วยเฉพาะกิจปัตตานี 24 เข้าติดตามจับกุม นายอับดุลลายิ ดอเลาะ และบังคับใช้กฎหมาย ในพื้นที่ตำบลคอลอตันหยง อ.หนองจิก จ. ปัตตานี
เนื่องจาก นายอับดุลลายิ ดอเลาะ เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งเป็นผู้นำระดับกองร้อย (kompi) และ ผลการซักถามขั้นต้น นายอับดุลลายิ ได้ให้การยอมรับว่า เป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง เคยผ่านการซูมเปาะ (การทำพิธีสาบานต่อพระเจ้าในการทำภารกิจ)
ซึ่งในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่ได้นำไปลงบันทึกประจำวัน ที่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองจิก และทำการส่งตัว นายอับดุลลายิ ดำเนินกรรมวิธีซักถาม ที่ หน่วยข่าวกรองทางทหาร ส่วนหน้า จังหวัดชายแดนภาคใต้ จนกระทั่งเสียชีวิต ในระหว่างถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงเรียนมายังพ่อแม่พี่น้องประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และกลุ่มเครือญาติผู้เสียชีวิต อย่าหลงตกเป็นเครื่องมือเชื่อข่าวลือใดๆ ของกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดีอันที่จะนำมาซึ่งสร้างแตกแยก ความเสื่อมเสีย และสร้างความเสียหายต่อหน่วยงานภาครัฐ ก่อนที่ความจริงจะปรากฏ รอผลจากการผ่าพิสูจน์ศพ จากทางคณะแพทย์ จะมีการแถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงต่อไป
พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน 4 กล่าวว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อการตาย ผลจากการชันสูตรเบื้องต้น โดยมีหลายฝ่ายเข้ามาร่วม ปรากฏชัดเจนว่า ไม่พบร่องรอยการต่อสู้ ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุการตายได้ แต่ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย”
พันเอกธิรา แดหวา รองผู้บัญชาการ ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า “นายอับดุลลายิ ดอเลาะ ถูกควบคุมตัวจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คือ กฎอัยการศึก และพรก.ฉุกเฉิน เขายังอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ จากการสอบสวนเบื้องต้น ทราบว่า เขาตื่นมาทำพิธีละหมาดเวลา 05.30 น. จากนั้น เจ้าหน้าที่ไปพบว่า เขาเสียชีวิต ข้างศพมีหนังสืออัลกุรอาน คือสิ่งที่เราเห็น”
การควบคุมตัวเบื้องต้น มีระยะเวลา 7 วัน หากไม่เพียงพอ ทหารสามารถทำเรื่องขอควบคุมตัวต่อ กับตำรวจ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ต่อได้
ขณะที่ ญาติและครอบครัวที่มารอรับศพหน้าค่ายอิงคยุทธบริหาร ตั้งข้อสังเกตว่า “...สองวันที่ผ่านมา มีโอกาสมาเยี่ยมอับดุลลายิ เขาบอกว่า เหนื่อยไม่ไหวแล้ว กลัวมากด้วย อับดุลลายิถูกจับมา 23 วัน ญาติมาเยี่ยมทุกวัน วันที่สอง ที่สาม อับดุลลายิ บ่นให้ฟัง มาเช้าวันนี้ ผู้ใหญ่บ้านมาบอกว่าเขาตาย จะให้เชื่อว่า เขาตายแบบธรรมชาติได้ยังไง”
พ.อ. กัสตูรี มาห์โกตา ประธานกลุ่มพูโล เอ็มเคพี ได้ลงข้อความ เมื่อคืนวันศุกร์นี้ ในหน้าเฟสบุ๊คส่วนตัว แสดงความกังวลต่อเหตุการณ์น่าเศร้า สาเหตุของการเสียชีวิตของ นายอับดุลลายิ ดอเลาะ (Abdullayi Dorloh) ที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร และว่า พวกเรา พูโล ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารของไทย ดำเนินการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และหากพบว่าผู้ใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรืออาชญากรรมใด ๆ ก็ควรจะดำเนินคดีกับพวกเขา ในกระบวนการยุติธรรม
นาง อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า “ญาติเคยมาร้องเรียนที่ กรรมการสิทธิฯ ว่า นายอับดุลลายิ ดอเลาะ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนาน อยากให้มีการตรวจสอบ เรื่องที่ กอ.รมน.4 ออกมาชี้แจงระบุอะไรแบบนั้น อาจส่งผลกระทบต่อครอบครัว โดยเฉพาะลูก ที่มีชีวิตอยู่”
“เห็นว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้น ...ใครมีข้อมูลอะไร หรือหลักฐาน ก็ให้นำมาให้กับคณะกรรมการ”
“หากถูกควบคุมตัวนานกว่า 20 วัน มีการตรวจร่างกายเป็นประจำหรือไม่ ช่วงที่ถูกควบคุม มีอาการเบื่ออาหารบ้างหรือไม่ เมื่อเขาบอกว่าเหนื่อยไม่ไหว หรือป่วย ต้องมีสิทธิ์พบแพทย์ และต้องเป็นแพทย์ที่เขาไว้ใจด้วย”
“การชันสูตรศพ สามารถตรวจสอบว่า เสียชีวิตมากี่ชั่วโมง มีบาดแผล ร่องรอยฟกช้ำหรือเกิดจากการกระแทกหรือไม่ และเมื่อเป็นการเสียชีวิต จากการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ ต้องให้มีไต่สวนการตาย และ มีมาตรการดูแลอย่างไร ไม่เกิดขึ้นอีก” นาง อังคณา กล่าว