ตำรวจระบุจำเลยคดีตากใบ 2 คน อยู่ต่างประเทศ
2024.10.09
กรุงเทพฯ

ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (กมธ. การกฎหมายฯ) แถลงความคืบหน้า คดีการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย ว่า จำเลยสองคนในคดี ปัจจุบันอาศัยอยู่ในต่างประเทศ แม้ถูกออกหมายจับแล้ว
นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส. นราธิวาส พรรคประชาชาติ ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (กมธ. การกฎหมายฯ) เปิดเผยหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าคดีตากใบ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานอัยการเข้าร่วมด้วยว่า ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบที่อยู่ของจำเลย และผู้ต้องหา แต่ในนั้นบางคนได้เดินทางออกไปต่างประเทศแล้ว
“ทั้ง 14 ราย ที่มีการออกหมายจับ ตำรวจบอกว่า ได้ไปติดตามตามภูมิลำเนาทุกคนแล้ว แต่ไม่พบตัว ในส่วนของกรรมาธิการก็ได้ซักถามว่า ได้มีการประสานงานกับตรวจคนเข้าเมืองไหม โดยสรุป สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ยอมรับว่า มีข้อมูลว่า ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้วสองราย แต่เขาขอสงวนไม่บอกชื่อ” นายกมลศักดิ์ กล่าว
คดีตากใบแบ่งออกเป็นสองสำนวนคดี คือ คดีแรก มีญาติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นโจทก์ฟ้อง มีจำเลยเจ็ดคน เป็นข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม และคดีที่สอง สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องต่อศาล มีผู้ต้องหาแปดคน (มีหนึ่งคนที่ซ้ำกับคดีแรก) เป็นข้าราชการ ทหารชั้นผู้น้อย และประชาชน ซึ่งทั้งสองคดีจะหมดอายุความในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 หากไม่สามารถนำตัวจำเลยและผู้ต้องหา 14 คน มาเข้าสู่กระบวนการได้
“12 คน ที่อยู่ในประเทศ มีอยู่อีกสองคนที่ยังรับราชการอยู่ ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาพยายามประสานงานกับฝ่ายผู้บังคับบัญชาให้มามอบตัวซะ ตอนนี้ก็คือ ไม่มาทำงาน เขาชี้แจงอย่างงั้น กล่าวโดยสรุปคือ เขายังจับตัวไม่ได้ทั้งหมด เราเกรงว่า ถ้าขาดอายุความโดยไม่สามารถจับใครได้เลย เกรงว่าจะเกิดสถานการณ์ที่ไม่ดีกับพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่ความขัดแย้งอยู่ก่อนแล้ว” นายกมลศักดิ์ กล่าว
ความล่าช้า และการไม่เปิดเผยข้อมูลการจับตัวจำเลย และผู้ต้องหามาเข้าสู่กระบวนการทำให้ที่ประชุม กมธ. ตั้งข้อสังเกตกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งญาติผู้เสียชีวิต (สงวนชื่อและนามสกุล) กล่าวต่อ ที่ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอลว่า ต้องการให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการ
“อยากให้ทุกฝ่ายดำเนินการให้เร็วที่สุด ก่อนที่อายุความจะหมด เพราะทุกคนรออยู่” ญาติกล่าวผ่านวิดีโอคอล
ด้าน พ.ต.อ. รังษี มั่นจิตร ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจภูธรภาค 9 ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำงานอย่างเต็มที่ในการนำตัวคนทั้งหมดมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
“เราทำงานกันทุกวัน รักษาการ ผบ.ตร. ก็สั่งการให้ตำรวจทั้งประเทศ ร่วมกันดำเนินการตามหมายของศาลนราธิวาส ที่บอกว่า ไม่เห็นการขยับเขยื่อน จริง ๆ แล้วเรามีการทำงาน 14 หมายอยู่ไหน ถ้าวันนี้ทราบ จับได้แล้วครับ เรายังไม่ทราบว่าอยู่ไหน deadline ของเราคือวันที่ 25 ตุลาคม 2567” พ.ต.อ. รังษี กล่าวกับผู้สื่อข่าว
คดีตากใบ แบ่งออกเป็นสองสำนวนคดี คือ สำนวนคดีแรกซึ่งมีญาติของผู้เสียหายกรณีตากใบ 48 คน เป็นโจทก์ฟ้องเมื่อเดือนเมษายน 2567 ให้เอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีตากใบ เจ็ดคน ประกอบด้วย พล.อ. พิศาล อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งปัจจุบัน เป็น สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5
พล.ต.อ. วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า, พล.ต.ท. มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9, พล.ต.ต. ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.ตากใบ, นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
โจทก์ฟ้องเอาผิดเจ้าหน้าที่ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือโดยทารุณโหดร้าย, ข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และเสรีภาพ, หน่วงเหนี่ยว หรือกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยคดีนี้ ศาลนัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามนัด ทำให้จำเลยถูกออกหมายจับเพื่อนำตัวมาขึ้นศาลตามนัดครั้งที่สองวันที่ 15 ตุลาคมนี้
ในที่ประชุม นายรอมฎอน ปันจอร์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน สอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า จำเลยสองคนที่หลบหนีนั้นอยู่ในประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่นใช่หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ยืนยันข้อมูลดังกล่าว เพียงแต่ระบุว่าจะใช้เป็นเบาะแส
“ความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึก และเรารับมรดกมาจาก 20 ปีที่แล้ว เราต้องมานั่งแก้ และลูกของเราต้องมานั่งแก้อีก ถ้าท่านทำงานไม่เต็มที่ มันไม่ใช่แค่กระบวนการยุติธรรมนะ แต่เรากำลังพูดถึงความชอบธรรมของอำนาจรัฐไทยที่จะสั่นคลอน” นายรอมฎอน กล่าว
สำหรับสำนวนคดีที่สอง เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา อัยการสูงสุด (อสส.) ได้สั่งฟ้องทหารและพลเรือนแปดราย ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินการหลังการสลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ ประกอบด้วย 1. พล.อ. เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร (ซ้ำกับคดีแรก) 2. ร.ต. ณัฐวุฒิ เลื่อมใส 3. นายวิษณุ เลิศสงคราม 4. ร.ท. วิสนุกรณ์ ชัยสาร 5. นายปิติ ญาณแก้ว 6. พ.จ.ต. รัชเดช หรือพิทักษ์ ศรีสุวรรณ 7. พ.ท. ประเสริฐ มัทมิฬ และ 8. ร.ท. ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์
ซึ่งอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 288 โดยผู้ต้องหาที่ 1 ขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 (ผบ.พล.ร.5) เป็นผู้เรียกรถมารับผู้ชุมนุม ผู้ต้องหาที่ 7 เป็นผู้ควบคุมขบวนรถบรรทุกผู้ชุมนุม และผู้ต้องที่ 2-6 และ 8 เป็นผู้ขับรถบรรทุกผู้ชุมนุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่นำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้ว่า สุดท้ายแล้วคดีนี้ ผู้ที่จะถูกดำเนินคดีอาจเป็นเพียงพลขับรถบรรทุก ซึ่งไม่ใช่ผู้สั่งการจนทำให้เกิดการสูญเสีย
“เรารู้สึกเสียใจกับกระบวนการยุติธรรมมาก เพราะบุคคลที่จะมารับผิดรับโทษ คือ พลขับ เราไม่ควรโยนภาระนี้ให้กับทหารที่เป็นพลขับ สังคมนี้จะอยู่อย่างไร ถ้าจะโยนภาระให้กับบุคคลที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะปฏิเสธ และไม่มีเจตนา”
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนหนึ่งได้ไปรวมตัวที่หน้า สภ.อ. ตากใบ เพื่อเรียกร้องให้ ตำรวจปล่อยตัว เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หกนาย ของบ้านโคกกูแว หมู่ 5 ต.พร่อน อ.ตากใบ ที่ถูกควบคุมตัวจากกรณีถูกกล่าวหาว่าทำปืนลูกซองของราชการสูญหาย
การชุมนุมดังกล่าวบานปลายจนเกิดการกระทบกระทั่ง ต่อมาเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม และมีการใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมจนมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตเจ็ดราย และมีผู้ชุมนุมและผู้สังเกตการณ์กว่าหนึ่งพันคนที่ถูกควบคุมตัว และทั้งหมดถูกนำไปสอบสวนที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งห่างจาก อ.ตากใบ กว่า 150 กิโลเมตร
ผู้ถูกควบคุมตัวกว่าพันคนถูกให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง และถูกเรียงซ้อนทับกันบนรถบรรทุกของทหาร 25 คัน ซึ่งเมื่อไปถึง อ.หนองจิก ทำให้มีผู้เสียชีวิต 78 ราย เหตุการณ์ดังกล่าวยังทำให้มีผู้สูญหาย บาดเจ็บ และกลายเป็นผู้พิการ เหตุที่เกิดขึ้นถูกเรียกว่า “กรณี (คดี) ตากใบ”