จังหวัดปัตตานีร่วมจัดกิจกรรมวันเอดส์โลกเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สาธารณชน
2015.12.01

ในวันเอดส์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองปัตตานี หน่วยงานสาธารณสุข และเอ็นจีโอ ได้ร่วมกันจัดงานเพื่อให้ความรู้เรื่องเอดส์แก่ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มเสี่ยง โดยหวังว่าจะสามารถหยุดการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีได้ใน ปี 2573 (หรือ ปีค.ศ. 2030)
นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี ได้เป็นประธานในงานวันเอดส์โลก ได้จัดขึ้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุขปากน้ำ ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เพื่อให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ และให้กำลังใจแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวี รวมทั้งผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ
ภายในงานมีการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโรคเอดส์ที่ถูกต้อง การตรวจเลือดที่สามารถรู้ผลทันที และมีการให้คำปรึกษากับผู้ที่ตรวจเลือดพบเชื้อเอชไอวี จากมูลนิธิโอโซน ร่วมกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี และเทศบาลเมืองปัตตานี โดยมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน
นางสาวลัดดา นิเงาะ ผู้ประสานงานภาคใต้ มูลนิธิโอโซน กล่าวว่า “มีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี จาก 4 จังหวัดภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ประมาณ 2,000 คน ที่เราเจอแล้วพบตัวแล้วอยู่ระหว่างเข้ากระบวนการ”
“ในจำนวนนี้ 1,000 คน ส่วนใหญ่ เป็นคนที่มีคู่เป็นเอดส์แล้ว และที่จังหวัดปัตตานี พบผู้ป่วยสูงสุดติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เป็นกลุ่มน่าสนใจค่อนข้างเข้าถึงยาก ส่วนใน นราธิวาส ยะลา มีการติดเชื้อจากการใช้เข็มฉีดยา และแต่ละปีมีผู้ติดเชื้อสมัครใจกล้าเข้ามาตรวจเลือดมากขึ้น” นางสาวลัดดากล่าวเพิ่มเติม
นายพิทักษ์ ก่อเกียรติพิทักษ์ นายกเทศมนตรีเมืองปัตตานี กล่าวว่า ปัตตานี เป็นพื้นที่เสี่ยงพื้นที่หนึ่ง เพราะมีกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าวจำนวนมาก อยู่ในเขตเทศบาล เกรงว่าเขาอาจนำเชื้อโรคเอดส์ไปแพร่ระบาด หน่วยงานองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง
“โรคเอดส์เป็นแล้วไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ถ้าเป็นแล้วต้องรักษา และเราต้องไม่รังเกียจเขา วันนี้ได้นำกลุ่มแกนนำต่างๆ ให้ได้มารับรู้เรื่องของการป้องกัน และวิธีการป้องกัน ก็มีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก” นายพิทักษ์ กล่าว
นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันเอดส์โลก (World Aids Day) ซึ่งเป็นวาระสำคัญ ที่ทุกประเทศทั่วโลกร่วมกันรณรงค์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเอดส์ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสำคัญร่วมกัน 3 ประการ คือ ไม่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ ไม่มีการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ อันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการยุติการระบาดของโรคเอดส์ ในปี 2573 (Ending the AIDS epidemic by 2030)
นพ. บรรเจิด กล่าวว่า จากรายงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และองค์กรอนามัยโลก พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543-2557 จากประชากรทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสม 36.9 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนั้นเป็นผู้เพิ่งติดเชื้อรายใหม่ 2 ล้านคน และในปี 2557 มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรคเอดส์ 1.2 ล้านคน
“ในประเทศไทยจากการคาดการณ์ จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวี ตั้งแต่มีการระบาดจนถึงปีนี้ 2558 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์เป็นผู้ใหญ่สะสมแล้วทั้งสิ้น 1,201,839 คน จากจำนวนนี้ ยังมีชีวิตอยู่ 426,707 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,324 คน โดยร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน”
“ส่วนข้อมูลของจังหวัดปัตตานี มีผู้ป่วยสะสม 1,354 คน และเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 116 คน” นพ.บรรเจิด กล่าว
นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกล่าวในงานแถลงข่าว วันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (1 กรกฎาคม 2558) ถึงสถานการณ์โรคเอดส์ของประเทศไทยปัจจุบัน และจากรายงานในปี 2557 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีชีวิตประมาณ 446,154 คน และมีผู้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสในระบบบริการสุขภาพ จำนวน 258,183 คน แม้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะมีแนวโน้มลดลง แต่อัตราการติดเชื้อยังคงสูงในประชากรบางกลุ่ม โดยพบความชุกของการติดเชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
แม่บ้านผู้ติดเชื้อเอชไอวี รายหนึ่ง กล่าวว่า “รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ปี 2543 ติดจากการมีเพศสัมพันธ์กับสามี ตอนนั้นท้อ และปิดกั้นตัวเองนานพอสมควรก่อนที่จะทำใจได้ คิดในใจว่าน่าจะมีคนอื่นด้วยที่เป็นแบบเรา จึงตัดสินใจสอบถามข้อมูลจากโรงพยาบาล และได้เข้าร่วมกลุ่มจนกลายผู้ให้ข้อมูลด้านนี้ไปเลย”
“ทำให้ตัวเองเข้าใจในโรคนี้มากขึ้นว่า ที่จริงแล้วการติดเชื้อเอชไอวีไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แค่เรากินยาต้านไวรัส เราก็จะไม่มีอาการเอดส์ พอมาปี2552 ตั้งท้องลูกคนแรก การที่เรากินยาต้านไวรัสทำให้ไวรัสอ่อนตัวลง เชื้อก็ไม่ไปสู่ลูก” แม่บ้านคนดังกล่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ทุกวันนี้อยู่ได้ใช้ชีวิตปกติในสังคม แต่เรากินยาต้านเราก็จะไม่เกิดอาการเอดส์ ปัญหาที่เจอตอนนี้ คือ ผู้ติดเชื้อไม่รู้ว่าติดเชื้อจึงไม่ได้กินยาต้านเชื้อกับผู้ที่ไม่ยอมมาตรวจ กลัวที่จะรู้ว่าตัวเองติดเชื้อ” แม่บ้านคนดังกล่าว กล่าวเพิ่มเติม