เด่น โต๊ะมีนา จัดงานระลึกครบรอบ 61 ปี การหายสาบสูญของ ฮัจยีสุหลง อับดุลกาเดร์ โต๊ะมีนา

โดย นาซือเราะ
2015.08.14
TH-Hajisulong-620 ผู้ที่มาร่วมในงานรำลึกถึง การหายตัวไปของ'ฮัจยีสุหลง'ครบรอบ 61 ปี กำลังชมนิทรรศการ วันที่ 14 สิงหาคม 2558
เบนาร์นิวส์

เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ส.ค. 2558 นี้ ที่บริเวณหน้าบ้านของนายฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายเด่น โต๊ะมีนา ลูกชายของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ได้เป็นประธานเปิดงานรำลึกครบรอบ 61 ปี ของการหายสาบสูญไปของบิดา ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2497

นายเด่น โต๊ะมีนา ซึ่งเป็นลูกชายของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา กล่าวว่า วันที่ 13 ส.ค. 2558 คือวันที่ ครบรอบ 61 ปี ของการหายตัวของฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา นับจากวันศุกร์ที่ 13 ส.ค. 2497 ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่สองของการจัดงานรำลึก เพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โดยครั้งแรก จัดขึ้นในวันที่ 30 ส.ค. 2557

ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ โต๊ะมีนา เกิดในปี พ.ศ. 2438 ในมณฑลปัตตานี ได้ไปเรียนศาสนาที่นครเมกกะ ประเทศซาอุดิอาระเบีย และกลับมาเปิดโรงเรียนปอเนาะเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เพื่อให้ชาวมุสลิมเข้าใจศาสนาอิสลามอย่างถูกต้อง ฮัจยีสุหลง มีส่วนในการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับการปฏิบัติบางประการ เพื่อให้เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของชาวมลายูปาตานี จนเป็นเหตุให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น เห็นว่าเป็นกบฏ จนถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 8 เดือน ก่อนถูกปล่อยตัวมา และมีรายงานข่าวว่าถูกลักพาตัวหายไปในวันที่ 13 สิงหาคม 2497

“การจัดงานครั้งนี้ เกิดจากการรวมตัวเครือญาติที่ต้องการให้ลูกหลานได้รำลึกและจดจำความดีของท่าน ตลอดจนบรรดาบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งถือเป็นวันรวมญาติของตระกูลต่วนมีนาลย์ แค่ต้องการให้ลูกหลานไม่ลืมฮัจยีสุหลง” นายเด่นกล่าวต่อแขกที่มาร่วมงานประมาณสี่ร้อยคน

นายเด่น โต๊ะมีนา ยังกล่าวว่า ต่วนมีนาลย์ เป็นนามสกุลเดิมของตัวเองที่สืบทอดมาจากฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ผู้บิดา แต่ด้วยคนสมัยอดีต มีความนับถือ อูลามะ ซึ่งคนที่นี่ เวลาเขานับถือใครเขามักจะเรียกด้วยคำนำหน้าชื่อว่า “โต๊ะ” เมื่อเวลาผ่านไป คำว่าต่วนกร่อนหายไป จากคำเดิมว่าต่วนมีนาลย์ กร่อนเหลือเพียงมีนาลย์ และต่อมา ก็มีการเพิ่มคำว่าโต๊ะเข้ามาแทน นามสกุลใหม่จึงกลายเป็นโต๊ะมีนา ในปัจจุบัน

“ตอนนี้ ก็เลยมีแต่คำว่า โต๊ะมีนา เอกสารของราชการออกให้ทุกใบของพ่อ จะเขียนว่าต่วนมีนาลย์ มีใบหนึ่งเขียน เชื้อชาติมลายู สัญญาไทยด้วย” นายเด่นกล่าว

หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคง ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ท่านหนึ่งกล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2558 ที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวเพื่อรำลึกการครบรอบ 61 ปีของฮัจยีสุหลง ทั้งองค์กรในพื้นที่และในต่างประเทศ โดย นายกามาลุดดีน ฮานาฟี แกนนำกลุ่ม BIPP อ้างว่าจากการสังหารฮัจยีสุหลง โต๊ะมีนา ของหน่วยงานรัฐไทย ทำให้เกิดการลุกฮือและการต่อต้านของประชาชนมลายูปาตานีต่อรัฐไทยจนถึงปัจจุบัน ด้านกลุ่ม Patani Oversea Society (POS PATANI) ที่มีสำนักงานใหญ่ อยู่ที่เยอรมนี ระบุด้วยว่าฮัจยีสุหลง คือ บิดาแห่งประชาธิปไตยของปาตานี

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง