แอลพีเอ็น : ลูกเรือประมงไทยอย่างน้อย 7 คน รอการช่วยกลับจากอินโดนีเซีย
2019.11.06
กรุงเทพฯ

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้แถลงข่าวเมื่อวันอังคารนี้ ว่า มีลูกเรือชาวไทยอีกอย่างน้อย 7 ราย ที่รอการพากลับบ้าน โดยลูกเรือทั้งหมดถูกหลอกไปเป็นแรงงานทาสบนเรือประมง ในน่านน้ำอินโดนีเซีย แต่ยังต้องรอการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติที่มีอุปสรรค
น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า ทางมูลนิธิฯ ได้รับการรายงานจากสำนักตรวจคนเข้าเมืองอินโดนีเซีย เมื่อเดือนมิถุนายนนี้ว่า มีการตรวจพบแรงงานประมงไทย บนเกาะตวน จึงได้เดินทางลงพื้นที่ ในประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2562 เพื่อเก็บข้อมูลจากอดีตลูกเรือประมงไทย ที่ต้องการจะเดินทางกลับประเทศ
“ครั้งนี้ ที่เกาะตวนเราพบคนไทย 8 คน แต่เสียชีวิตแล้ว 1 คน ติดเกาะ ส่วนใหญ่จะอยู่แล้ว 17 ปี อันนี้เป็นรายงานจาก ตม. ตวน เราใช้เวลาสำรวจ 3 วัน สภาพปัญหาคือ กลุ่มนี้ เขาถูกขาย ถูกพาไปจากหมอชิต หัวลำโพง มีคนมาชักชวน ค่าแรงดี ค่าหัวอยู่ที่ 1.5-5 หมื่น(บาท)” น.ส.ปฏิมา กล่าว
“(แรงงานไทย) เดินทางไปตั้งแต่ก่อนอายุ 15 ปี ยังไม่ได้ทำบัตรประชาชน…อยู่บนเรือ ไม่ได้เข้าฝั่ง ถูกทุบตี ทำงานหนัก หนักสุดบอกว่า ทำงาน 7 วัน 7 คืนไม่ได้นอนเลย ถ้าหยุดพักจะโดนทำร้ายร่างกาย... พอเรือจะกลับประเทศ ก็ถูกทิ้ง” น.ส.ปฏิมา กล่าว
“สภาพตอนที่เราสัมภาษณ์บางคนไปอยู่ป่านาน มีภาวะหวาดกลัว… ป่วย รอการกลับ มีสภาพชีวิตที่ยากลำบาก… อยากกลับบ้าน แต่ติดต่อครอบครัวไม่ได้เลย บางคนยืนยันตัวด้วยการเขียนภาษาไทย” น.ส.ปฏิมา กล่าวเพิ่มเติม
เกาะตวน เป็นเกาะเล็กๆ ใกล้กับเกาะเบนจิน่า และ เกาะอัมบน ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์แรงงานทาสยุคใหม่ ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 ได้มีการเปิดโปงเรื่องนี้ และได้มีการช่วยเหลือลูกเรือชาวไทยกลับบ้าน 2,015 คน และแอลพีเอ็น ยังได้ช่วยประสานกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำพลเมืองของตนกลับ ได้แก่ ชาวเมียนมาราว 1000 คน ชาวกัมพูชา 100 คน และลาว 50 คน อีกด้วย
“ปฏิบัติการครั้งใหญ่ ปี 2015 (พ.ศ. 2558) เราดูแค่ที่เบนจินา และอัมบน เราไม่ได้ไปดูที่ตวน” น.ส.ปฏิมา กล่าว
ด้าน นายสมัคร ทัพธานี เจ้าหน้าที่แอลพีเอ็น ในฐานะหัวหน้าชุดปฏิบัติการครั้งนี้ กล่าวว่า แอลพีเอ็นได้ส่งชุดปฏิบัติการเดินทางไปถึงเกาะตวน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 จึงได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อไปพบกับคนไทยลุ่มดังกล่าว
“ณ วันที่ 30 (ตุลาคม) เราเพิ่งรู้ว่า มีคนเสียชีวิต 1 คนแล้ว จาก 8 คน… ส่วนสภาพของคนแรกที่เราเจอ เขาจดจำได้เพียงแค่ชื่อ จำปาทอง จากบ้านน้อย ร้อยเอ็ด แค่นี้ สภาพคือ พูดภาษาไทยต้องมีคนแปลจากภาษาบาฮาซาอีกทีนึง ถามว่า มายังไง บอกว่า มาตั้งแต่อายุ 14 ปี บัตรประชาชนยังไม่ถ่าย” นายสมัครกล่าวแก่สื่อมวลชน
ทั้งนี้ อดีตลูกเรือที่รอการช่วยเหลือประกอบด้วย 1. นายสาธิต หน่อทอง จ.สมุทรปราการ 2. นายสมชาย ด้วงเหมือน จ.สมุทรสาคร, 3. นายรัตน์ อุตพันธุ์ จ.ศรีสะเกษ, 4. นายเสรี จำปาทอง จ.ร้อยเอ็ด, 5. นายปัญญา นงนุช จ.เพชรบูรณ์, 6. นายไพทูรย์ กลิ่นสกุล จ.สุพรรณบุรี และ 7. นายวิเชียร ทรัพย์ประเสริฐ
“เราส่งข้อมูลให้กระทรวงการต่างประเทศแล้ว แต่ กต. พบข้อมูลแค่ 2 คน ดังนั้น ก็ต้องลงพื้นที่ (ในไทย)เพื่อหาญาติ บางเคส พ่อแม่ตายไปหมดแล้ว เหลือแต่ผู้ใหญ่บ้านที่รู้จักตอนเด็ก จะทำยังไง กระทรวงต่างประเทศเขาก็กังวลว่า ถ้ากลับมาแล้วไม่ใช่คนไทย จะต้องเอากลับไปไหม” นายสมัคร กล่าวเพิ่มเติม
“เมื่อวานนี้ ก็ลงพื้นที่บ้านเกิดของบางคน (ในประเทศไทย) ค้นทะเบียนราษฎรไม่เจอ แต่พบในทะเบียนเลือกตั้งเก่า พอไปที่บ้าน ก็เจอว่า ญาติ ครอบครัว ย้ายไปที่อื่นแล้ว อันนี้คือปัญหาที่ซ้อนกันอีก นี่แหละปัญหาที่ทำให้คนไทยยังค้างอยู่” นายสมัคร กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษา สำนักงานประสานการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ระบุว่า สำนักงานประสานการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายฯ จะรับหน้าที่ประสานงานช่วยเหลือในเรื่องนี้ ในฐานะหน่วยงานของรัฐ และคิดว่า น่าจะหาทางพิสูจน์สัญชาติคนที่ยังตกค้างอยู่ได้
“สำนักงานประสานการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกต้องตามมติคณะรัฐมนตรี จะช่วยรับเรื่องนี้ไปขับเคลื่อนต่อ… ไปทำประมงผิดกฎหมาย เรือก็ต้องใช้คน คนอยู่บนเรือก็ต้องถูกกฎหมายด้วย ในเมื่อคนของเรือเราถูกกระทำอย่างนี้ ก็เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของภาครัฐที่จะร่วมมือกันกับแอลพีเอ็น หรือภาคส่วนประชาสังคม ที่จะนำพาพี่น้องเหล่านี้กลับบ้านเราให้ได้” ผศ.ดร.ธนพร กล่าว
ส่วน น.ส.ปฏิมา ระบุว่า สิ่งที่ต้องการเสนอให้รัฐบาลไทยดำเนินการคือ รัฐบาลควรดำเนินปฏิบัติการสำรวจหาคนไทยที่ตกค้างตามเกาะต่างๆ ของอินโดนีเซีย และหากสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นคนไทยจริงๆ แม้ไม่มีเอกสารสำคัญยืนยัน ก็ควรเร่งดำเนินการพากลับประเทศ เพื่อฟื้นฟูเยียวยา เพราะคนเหล่านี้ มักมีปัญหาเรื่องสภาพจิตใจ และปัญหาต่อมาคือ การหางานทำ
ทั้งนี้ ในปี 2557 แอลพีเอ็น และรายการข่าวสามมิติ เดินทางไปยังอินโดนีเซีย และได้เปิดโปงสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของแรงงานเหล่านั้น ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลา พักผ่อนน้อย ถูกโกงค่าแรง ถูกใช้กำลังทำร้าย หากมีการขัดขืน ลูกเรือบางรายที่มีอาการป่วยจนทำงานไม่ไหว หรือมีปัญหากับคนคุมเรือ อาจถูกโยนลงจากเรือให้เสียชีวิต ผู้ที่รอดกลับมาได้จำนวนมาก มีอาการทางจิต จากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายดังกล่าว จากนั้น ในปี 2558 ได้ช่วยเหลือลูกเรือชาวไทยกลับบ้าน 2,015 คน และแอลพีเอ็น ยังได้ช่วยประสานกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำพลเมืองของตนกลับ ได้แก่ ชาวเมียนมาราว 1000 คน ชาวกัมพูชา 100 คน และลาว 50 คน
ปัจจุบัน ไทยมีเรือประมงพาณิชย์ประมาณ 10,600 ลำ มีลูกเรือประมาณ 7 หมื่นคน ยังขาดแคลนลูกเรืออีกราว 4 หมื่นคน โดยรัฐบาลไทยยืนยันว่า ในปัจจุบัน แรงงานประมงที่ถูกละเมิดหรืออยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์หมดไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลเข้มงวดในการดูแล ขณะที่แอลพีเอ็น สำรวจพบว่า นับตั้งแต่ปี 2557-2561 มีแรงงานประมงที่ถูกละเมิด 2,554 คน โดยมี 326 คน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์