ประเทศไทยพร้อมรับการประเมินผล การแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายโดยอียู

นาตาลี ศรีสุจริต
2016.01.14
TH-IUU-620 พลเรือโทจุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ (คนที่ 4 จากซ้ายมือ) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างๆ ที่รวมตัวกันป็น ศปมผ. แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน วันที่ 14 ม.ค. 2559
เบนาร์นิวส์

ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้กล่าวในการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (14 ม.ค. 2559) นี้ว่า ประเทศไทยได้ใช้ความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน อย่างเต็มที่แล้ว และจะยอมรับผลการประเมินของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป

การแถลงข่าวของ ศปมผ. ได้จัดให้มีขึ้นที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ ก่อนที่คณะตัวแทนของสหภาพยุโรปจะเดินทางมายังประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง เพื่อประเมินการแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) โดยคาดว่าคณะฯ จะเดินทางมาตรวจสอบผลการดำเนินงาน ในวันที่ 21 มกราคม นี้

ในการแถลงข่าว พลตรีคงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในนาม ศปมผ. ได้กล่าวว่า “ผลจะเกิดอะไรขึ้นก็แล้วแต่ เราก็จะทำและจะทำต่อไปให้ดีที่สุด ทำเพื่อความยั่งยืน ส่วนผลการประเมินของอียู ผลจะออกมาอย่างไร อยู่นอกเหนือการควบคุม เรายอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นครับ”

พลเรือโทจุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 และรับรองจะปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ แต่ยังคงปล่อยให้มีการทำการประมงโดยผิดกฎหมายไม่มีการควบคุม และขาดการรายงานมาอย่างยาวนาน เป็นเหตุให้อียูออกใบเหลืองให้กับประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 โดยมีกำหนดเส้นตายในการแก้ไขปัญหาหกเดือน

ทั้งนี้ พลเรือโทจุมพล กล่าวว่า สหภาพยุโรปได้ตั้งข้อสังเกต และแนะนำให้ไทยดำเนินการในเรื่องสำคัญสามประเด็นคือ หนึ่ง การมีกฏหมายที่ครอบคลุมการทำการประมงให้ถูกต้องและตรงตามพันกรณีกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง สอง การมีระบบควบคุมติดตามเรือและระบบตรวจสอบย้อนกลับ และสาม การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

นับตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหารการทำประมงผิดกฎหมาย ที่พระราชวังเดิม เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2558 ประเทศไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาทั้งสามประการ ปรับปรุงกฎหมายการประมง ล่าสุด มีการออกพระราชกำหนดการประมงในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าและกรมประมง ได้ปรับปรุงทะเบียนเรือและใบอนุญาตทำการประมงให้ถูกต้อง มีการทำระบบทะเบียนเรือประมงออนไลน์แบบเรียลไทม์ จากเดิมมีเรือในฐานข้อมูลกว่าห้าหมื่นลำ ปรับปรุงเหลือ 41,753 ลำ โดยลบออกจากสารบบ จำนวน 8,024 ลำ แต่ยังเปิดโอกาสให้เจ้าของได้ร้องสิทธิ์คืน

มีการพัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวัง (Monitoring Control and Surveillance – MCS) โดยได้ติดตั้งระบบติดตามตำแหน่งเรือ (Vessel Monitoring System – VMS) ให้เรือขนาดเกิน 30 ตันกรอส แล้วเกือบหนึ่งหมื่นลำ และกับเรือ 60 ตันกรอสขึ้นไป รวม 2,076 จากจำนวนทั้งหมด 2,216 ลำ มีการตรวจสอบการเข้า-ออกท่าเรือ (Port-In Port Out) ห้ามการใช้เครื่องมือทำลายล้าง เช่น อวนรุน ลอบพับหรือไอ้โง่ ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เป็นต้น รวมทั้ง ได้ลดแรงประมง กำหนดวันเวลาการออกเรือทำการประมงอีกด้วย

อียูขยายปัญหาครอบคลุมแรงงานและความร่วมมือระหว่างชาติในการคุ้มครองแรงงาน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเส้นตาย อียูกลับแนะนำให้รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมอีกสองประการ พลเรือโทจุมพล กล่าว

“พอมาถึงเดือนตุลาคม ครบหกเดือน อียูมาตรวจสอบ ปรากฏว่ามีโจทย์ให้มาอีกสองโจทย์ คือการใช้แรงงานผิดกฎหมายที่ต่อไปถึงการค้ามนุษย์ด้วย เพราะมีกรณีที่เกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย แล้วประเทศไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง อีกเรื่องหนึ่งให้สร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการดูแลแรงงาน และดูแลเรือประมงในการทำงานให้ถูกต้อง” พลเรือโทจุมพล กล่าว

นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ได้กล่าวว่า มีการควบคุมการตรวจสอบในทะเลจากหลายๆ หน่วยงาน ในระยะเวลาที่ผ่านมา จากการตรวจสอบกลางทะเล เราพบคดีที่มีการทำผิดในเรื่องของประมง 306 คดี ทำให้มีการควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบระบุตำแหน่งเรือได้ช่วยให้หน่วยงานของทางราชการตรวจสอบเรือที่ออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทย ซึ่งจากการตรวจสอบเรือ 53 ลำ มีอยู่ 12 ลำ ที่กระทำผิดกฎหมาย

นอกจากนั้น นายวิมล กล่าวว่าได้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ติดตามเรือประมงขนาดใหญ่ โดยในชั้นแรก มีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงเองได้รับการอบรมรวม 20 ราย และพร้อมปฏิบัติหน้าที่ในเดือนมกราคมนี้ ส่วนการตรวจสอบที่มาของผลิตภัณฑ์นั้นได้เริ่มทำแล้ว ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ในประเทศด้วยระบบเอกสาร และจากต่างประเทศด้วยระบบอิเลคโทรนิกส์ ที่คาดว่าจะเป็นระบบอิเลคโทรนิกส์ที่สมบูรณ์ทั้งหมด ภายในเดือนมีนาคมนี้

ทางด้านกรมเจ้าท่า เป็นผู้จดทะเบียนเรือ และรายชื่อเจ้าหน้าที่ประจำของลูกเรือต่างด้าวที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเรียลไทม์ไปยังกรมแรงงาน ศูนย์รับแจ้งเรือเข้าออก และศูนย์ประสานการปฏิบัติการในการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล (ศรชล.) ทำให้แต่ละหน่วยงานสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ณ ที่ตั้งของตนเอง โดยไม่ต้องมาที่กรมเจ้าท่า

ในส่วนการจับกุมผู้กระทำผิดในการค้ามนุษย์ นับตั้งแต่การตั้ง ศปมผ. พล.ต.ท. ธรรมศักดิ์ วิรชาระยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า มีผลการจับกุมรวม 35 ราย ผู้ต้องหา 73 คน ผู้เสียหาย 111 คน ในจำนวนนี้ เป็นนายหน้าค้ามนุษย์ 48 คน

ผลกระทบต่อชาวประมง

ความเข้มงวดในการจัดระเบียบการประมง ได้มีผลกระทบต่อชาวประมงที่ไม่มีทะเบียนเรือ หรือมีทะเบียนเรือแต่มีเครื่องมือทำการประมงที่ไม่ตรงกับใบอนุญาตทำประมง รวมทั้ง ชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนที่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย โดยไม่สามารถออกเรือได้ ทำให้มีเรือจอดเทียบท่านับหมื่นลำ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ทำให้ชาวประมงหลายๆ คน ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล ประสบกับปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง

นอกจากนั้น ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการประมงเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของประชากร ได้เกิดการขัดแย้งของประมงพื้นบ้านและประมงเชิงพานิชย์ เหตุการกระทบกระทั่งของเจ้าหน้าที่กรมประมงและชาวประมงหลายครั้ง

เหตุรุนแรงครั้งล่าสุด ได้มีกลุ่มเรือประมงอวนลากข้าง จำนวน 10 กว่าลำ เข้าปิดล้อมเรือตรวจการ 209 ของเจ้าหน้าที่กรมประมง และทุบทำลายเรือ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ด้วย มีด ไม้ และฆ้อน ใช้เวลาประมาณ 15 นาที กว่าเจ้าหน้าที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เหตุเกิดในขณะที่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมาถึงบริเวณทะเลชายฝั่ง หน้าบ้านบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี หลังพบกลุ่มเรือประมงอวนลากข้างกำลังทำการจับสัตว์น้ำ โดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย จึงได้ขัดขวางและยึดเครื่องมือประมง

ในเรื่องความขัดแย้งใด ๆที่จะมี อธิบดีกรมประมงได้กล่าวว่า จะมีการเจรจาของคณะกรรมาการไตรภาคีที่ประกอบด้วยประมงพื้นบ้าน ประมงพานิชย์ และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้ง เรื่องแนวทางในการกำหนดเขตประมงระหว่างประมงพื้นบ้านและประมงพานิชย์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง