เทือกเขาบรรทัด ต้นน้ำ-แหล่งอาหารแห่งปักษ์ใต้

วัจนพล ศรีชุมพวง
2024.07.05
ตรัง
4.jpg

แนวเทือกเขาบรรทัดทางภาคใต้ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญหลายสายของจังหวัดตรัง พัทลุง สตูล ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา จังหวัดตรัง วันที่ 10 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

7.jpg

ภายหลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้น้ำปริมาณมากไหลจากป่าต้นน้ำเทือกเขาบรรทัดลงสู่ที่ราบและเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนของชาวบ้าน จังหวัดตรัง วันที่ 10 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

8.jpg

สภาพความสมบูรณ์ของพื้นที่โดยรอบของบริเวณป่าต้นน้ำ เทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง วันที่ 10 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

9.jpg

ฝูงนกขนาดใหญ่ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าต้นน้ำและบริเวณพื้นที่โดยรอบของป่าเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง วันที่ 10 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

10.jpg

นกกก นกหายากขนาดใหญ่ในสถานีเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่า เทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง ที่จะถูกปล่อยคืนตามธรรมชาติต่อไป หลังจากดูแลจนนกแข็งแรง 6 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

11.jpg

ชนเผ่ามันนิคือชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัดมาอย่างยาวนาน โดยใช้สายน้ำจากธรรมชาติ ในการดำรงชีวิต จังหวัดสตูล 14 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

12.jpg

เด็กทารกชาวเผ่ามันนิ อาบน้ำในสายธารธรรมชาติ จากเทือกเขาบรรทัด จังหวัดสตูล 14 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

14.jpg

แอ่งลึก ในลำคลองส้านแดง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า วัง เป็นที่อนุบาลสัตว์น้ำในลำคลอง ซึ่งถือเป็นพื้นที่สำคัญในสายน้ำธรรมชาติ จังหวัดพัทลุง 6 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

15.jpg

ต้นทุเรียนเก่าแก่ถูกชาวบ้านโค่นลงเพื่อนำไปแปรรูปขายแลกกับเงินเพื่อนำมาดำรงชีวิต ในสวนริมป่าแห่งหนึ่งบนเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง 6 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

16.jpg

ด้วยเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ชาวบ้านจำเป็นต้องนำต้นไม้ขนาดใหญ่มาแปรรูปขายแลกกับเงินเพื่อนำมาดำรงชีวิต ในสวนริมป่าแห่งหนึ่งบนเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง 6 มิถุนายน 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

เทือกเขาบรรทัด มีชื่อทางภูมิศาสตร์ว่า เทือกเขานครศรีธรรมราช ทอดยาวกว่า 300 กิโลเมตร ตั้งแต่ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี กินพื้นที่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง กระทั่งไปสิ้นสุดที่สตูล ติดชายแดนมาเลเซีย

เทือกเขาบรรทัด นอกจากมีภูมิศาสตร์เป็นแกนกลางของด้ามขวานแบ่งครึ่งระหว่างฝั่งอ่าวไทยและอันดามันแล้ว ยังมีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่ของสัตว์นานาชาติ และยังเป็นป่าต้นน้ำให้กับแม่น้ำ ลำคลอง หลายสายในพื้นที่ภาคใต้ตอนกลาง-ล่าง ที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิต รวมถึงให้อาหารกับทั้งคนและสัตว์ที่อาศัยอยู่โดยรอบ

บนเทือกเขาบรรทัด มีสภาพเป็นป่าดิบชื้น และป่าเขาหินปูน เป็นต้นน้ำให้กับคลองท่ามะเดื่อ คลองนาท่อน คลองพรุพ้อ คลองป่าบอน คลองรัตภูมิ ทะเลสาบสงขลา ฝั่งอ่าวไทย และ แม่น้ำตรัง แม่น้ำปะเหลียน คลองลิพัง คลองละงู ฝั่งอันดามัน ปัจจุบัน พื้นที่บางส่วนของเขาอยู่ภายใต้การดูแลของ “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด” มีเนื้อที่ 791,847 ไร่

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการสำรวจพบว่า เขาบรรทัด มีพันธุ์ไม้อยู่อย่างน้อย 123 ชนิด พบพืชชนิดสำคัญเช่น แซะควน เดื่อหว้า และหมาก เป็นต้น ทั้งยังมีพันธุ์ไม้หายาก เช่น จําปาขอม (Polyalthia cauliflora) ด้วย ขณะเดียวกันก็เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาชนิด นกหลากหลายสายพันธุ์ 

เขาบรรทัดยังเป็นที่อยู่ของ ชนเผ่ามันนิ หรือมานิ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในป่า ที่ยังใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมด้วยการหาของป่า ล่าสัตว์ ซึ่งปัจจุบัน เผ่ามันนิในพื้นที่เขาบรรทัด ตรัง สตูล พัทลุง และสงขลา มีประชากรประมาณ 300 คน ขณะที่ มันนิ ในพื้นที่ยะลา และนราธิวาส บนเทือกเขาสันกาลาคีรี คนในพื้นที่ชายแดนใต้มักเรียกว่า โอรังอัสลี มีประชากร 439 คน

ในช่วงหลายปีหลังความอุดมสมบูรณ์ของเขาบรรทัด เริ่มดึงดูดโครงการต่าง ๆ เข้ามา ซึ่งแม้ชื่อจะเป็นโครงการพัฒนา แต่หลายโครงการก็ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ เช่น การสร้างเขื่อนเขาหัวช้าง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ซึ่งชาวบ้านพบว่า ทำให้น้ำขังและเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น หรือการขุดคลองส้านแดง อ.ตะโหมด เพื่อดูดทรายไปขาย ก็เป็นการทำลายระบบนิเวศโดยรอบเช่นกัน

ปัจจุบัน เทือกเขาบรรทัดยังคงตั้งตระหง่าน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ เป็นแหล่งอาหารให้กับสิ่งมีชีวิตนานาชนิดที่นี่ ท่ามกลางความท้าทายของการพัฒนาที่กำลังถาโถมเข้าใส่อย่างไม่หยุดยั้ง 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง