ญาติเหยื่อเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ขอความสงบคืนภาคใต้
2016.04.27
ปัตตานี

นับเป็นความโชคดีที่ มิง (นามสมมติ) ชายวัย 35 ปี ที่เมื่อ 12 ปีก่อน แม่ได้มีอาการป่วยกระทันหัน จึงทำให้มิง รอดพ้นจากความตายในมัสยิดกรือเซะ ในวันเกิดเหตุการณ์กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ โจมตีเป้าหมายพร้อมกัน 11 แห่ง ในวันที่ 28 เมษายน 2547
มิง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เพื่อนๆ ที่ได้ถูกอุซตาสของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชักชวนเข้าไปเป็นอาร์เคเค หรือหน่วยปฏิบัติการจรยุทธ์ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และร่วมปฏิบัติการณ์โจมตีเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ในวันนั้น ล้วนแล้วแต่เสียชีวิตทั้งหมด
“เพื่อนสมัยเรียนของผม 10 กว่าคน ที่ถูกให้ฝึกทางจิตใจ ร่างกาย โดยไม่รู้ตัวพร้อมผม พวกเขาตายในมัสยิดกรือเซะทั้งหมดเลย” มิง กล่าวอย่างเจ็บปวด
“แม่ป่วยทำให้ผมรอดมาได้ ไปไม่ทันตามนัดหมาย ทุกวันนี้ ชีวิตปกติสุข ไม่ได้ร่วมขบวนการอะไรเลย เพราะไม่เห็นด้วยตั้งแต่ตนแล้วกับการใช้ความรุนแรง” มิง เล่าให้ฟังว่าทำไมตนจึงรอดชีวิตมาได้
“เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ผมรู้เลยว่าขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ได้เริ่มจากอุดมการณ์ที่ถูกต้อง แต่เป็นการชักจูงโดยที่ผู้ร่วมไม่รู้ตัว จึงทำให้ครอบครัวเหยื่อจากเหตุการณ์ในมัสยิดต่างพูดว่าถูกหลอก อันนี้ ยืนยันได้ในฐานนะผู้ที่รอดมา พวกเขาถูกหลอกให้ไปตายจริงๆ” นายมิงกล่าวเพิ่มเติม
เสียงจากครอบครัวเหยื่อเหตุการณ์มัสยิดกรือแซะ
ที่บ้านส้ม ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ ปัตตานี ซึ่งมีครอบครัวผู้สูญเสียจากมัสยิดกรือเซะ 8 ครอบครัว และ 1 ครอบครัว ที่สมาชิกถูกจับกุม ในวันอังคารนี้ ทีมข่าวเบนาร์นิวส์เดินทางไปที่นั่น เพื่อสอบถามความรู้สึกของพวกเขาหลังจากผ่านเวลา 12 ปี ของความรุนแรง
นางคอรีเยาะ หะหลี ผู้สูญเสียพ่อจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะเล่าความรู้สึกต่อเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองยังคงมีความทรงจำที่เจ็บปวดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“สิบสองปี รู้สึกไม่สบายใจทุกครั้ง เมื่อครบรอบวันที่ 28 เมษายน 2547” นางคอรีเยาะกล่าว
“ขอทุกฝ่ายหยุดใช้พวกเราเป็นเครื่องมือ เพราะพวกเราจบแล้ว ครอบครัวอยู่อย่างปกติสุขแล้ว ไม่มีแรงที่จะไปต่อต้านหรือล้างแค้นรัฐ โดยการจับอาวุธต่อสู้ อยากพลิกวิกฤตฺมาเป็นโอกาสให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่มากกว่า” นางคอรีเยาะกล่าวเพิ่มเติม
“ทุกวันนี้ เราไม่ได้เป็นแค่เหยื่อ เรายังเป็นคนที่ช่วยเหลือคนอื่นด้วย โดยคอยเป็นตัวกลางประสานงาน เมื่อชาวบ้านมีปัญหา รู้สึกชีวิตมีคุณค่าและมีความสุขด้วย” นางคอรีเยาะ กล่าวเพิ่มเติม
นางสารีปะ สะแลแม ภรรยานายอิสมะแอ ลาเตะ ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า อยากเห็นความสงบเกิดขึ้นในพื้นที่
“ทุกวันนี้ หลังจากที่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ ทุกคนอยู่ดีกว่าเดิม เงินที่ได้มานำไปซื้อสวนยาง สร้างบ้านที่มั่นคง ใช้หนี้ และแบ่งให้ลูก แค่นี้ก็ดีใจแล้ว ชีวิตครอบครัวอยู่สุขสบายกว่าปกติ จากที่ไม่มีบ้านก็มีบ้าน จากที่มีหนี้ ก็ไม่มีหนี้ อยากให้สงบ อย่าให้มีคนเสียชีวิต และบาดเจ็บที่เกิดจากเหตุการณ์อีก” นางสารีปะกล่าว
หลังจากเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้ปะทุอีกครั้ง ด้วยการที่ฝ่ายแบ่งแยกดินแดนปล้นปืนค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 ในอำเภอเจาะไอร้อง นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ฝ่ายก่อความไม่สงบได้ลงมือโจมตีเป้าหมาย 11 จุด ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ยะลา และปัตตานี โดยมีผู้เสียชีวิตทุกฝ่ายรวม 108 ราย ฝ่ายก่อการไม่สงบถูกจับกุมหนึ่งราย
เหตุการณ์ย่อยที่ยังอยู่ในความทรงจำของสาธารณชน คือ เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ในจังหวัดปัตตานี ที่ฝ่ายแบ่งแยกดินแดน 32 คน ได้เข้าไปแอบซ่อนอยู่ในมัสยิด ทหารหน่วยรบพิเศษ ถูกยิงตายสองนาย พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี จึงได้สั่งบุกเข้าไปในสะสยิด และสังหารฝ่ายก่อการหมดสิ้นทั้ง 32 ราย
หลังจากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เป็นเวลาหลายปีที่สมาชิกครอบครัวเหยื่อต้องเผชิญกับความยากลำบาก จนกระทั่งในปี 2555 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับพวกเขา จึงทำให้สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวทั้งหมดดีขึ้น
การจ่ายเงินเยียวยาของ ศอ.บต. ครั้งนี้จ่ายให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 109 ราย แยกเป็น ผู้สูญเสียในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ 34 ราย (เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 2 ราย) โดยจ่ายเป็นเงินรายละ 4 ล้านบาท และผู้สูญเสียในจุดอื่นๆ รวม 54 ราย รายละ 5 แสนบาท และผู้สูญเสียของทีมฟุตบอลบ้านสุโสะ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อีก 19 ราย รายละ 7.5 ล้านบาท รวมตัวเลขการเยียวยาทั้งหมด 302 ล้านบาท