ประเทศไทย 'ไม่จริงใจ' ในการเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน

นานี ยูโซฟ
2019.07.17
นราธิวาส และภาคเหนือของมาเลเซีย
190717-MY-brn-620.jpg สุกรี ฮารี ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่ง ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย วันที่ 9 มิถุนายน 2562
นานี ยูโซฟ/เบนาร์นิวส์

หัวหน้าชุดพูดคุยของมาราปาตานี ที่ต่อสู้เพื่อขบวนการแบ่งแยกดินแดนมุสลิมมลายู ในชายแดนภาคใต้ของไทย ได้กล่าวตำหนิรัฐบาลไทยว่า ไม่จริงใจและไม่แยแสกับการพูดคุยเพื่อสันติสุข ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา

มะสุกรี ฮารี เป็นหัวหน้าชุดพูดคุยของมาราปาตานีที่มีการพูดคุยเพื่อสันติสุขกับรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อเขาลาออก โดยมีผู้อ้างว่า เหตุเพราะปัญหาสุขภาพ มะสุกรี เป็นสมาชิกหนึ่งในสามตัวแทนของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่อยู่ในทีมเจรจาขององค์กรมาราปาตานี บีอาร์เอ็น ถือเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธที่ใหญ่และแข็งแกร่งที่สุด

“รัฐบาลไทยไม่จริงใจต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในปาตานี การเจรจาที่มีขึ้นที่ผ่านมา ถือเป็นแผนการที่ทำให้ชาวมลายูปาตานีเสียเวลา” สุกรี กล่าวโดยอ้างถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และชาวมลายูมุสลิมที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว

“ข้อตกลงที่ตกลงกันที่โต๊ะเจรจา ฝ่ายไทยไม่เต็มใจที่จะลงนาม และนั่นเป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่า ฝ่ายไทยแสร้งเจรจา เพื่อถ่วงเวลา” สุกรี ย้ำในการสัมภาษณ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ในร้านแห่งหนึ่งทางเหนือของมาเลเซีย

โฆษกขององค์การมาราปาตานี ได้กล่าวว่า คณะผู้แทนกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ยังไม่มีการเสนอชื่อผู้ที่จะมาแทน สุกรี

“เราต้องรอชื่อที่ทางบีอาร์เอ็นเสนอมา สุกรี ฮารี จะต้องเข้าร่วมประชุมที่จะมีขึ้น พร้อมบอกกล่าวความคิดเห็น… หากเขาตัดสินใจว่า จะไม่นำทีมพูดคุยฯ ในนามมาราปาตานี กลุ่มบีอาร์เอ็นก็จะต้องเสนอชื่อผู้ที่จะมาแทนเขา” อาบู ฮาฟิส อัลฮากิม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

การเปลี่ยนตัวผู้แทนในการพูดคุยฯ ครั้งหลังสุดนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ไทยได้เปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ในเดือนตุลาคม 2561 โดยทางมาเลเซียก็ได้ประกาศตั้งผู้อำนวยความสะดวก ในการพูดคุยฯ คนใหม่ เมื่อเดือนสิงหาคม ในปีเดียวกัน

การพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้เริ่มเปิดตัวในปี 2558 ภายใต้รัฐบาลทหารที่ปกครองประเทศไทยจนถึงต้นเดือนที่ผ่านมา ยังคงชะงักอยู่ และคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และองค์กรมาราปาตานี ของฝ่ายผู้เห็นต่าง ได้บรรลุข้อตกลงในกรอบการดำเนินการเพื่อจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดภัยนำร่อง” เพื่อเป็นการทดลองขึ้นหนึ่งเขตนั้น ก็ไม่เคยเกิดขึ้น

การพูดคุยฯ มีข้อกังขาว่า ผู้นำขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่แท้จริง ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพูดคุยฯ และไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการพูดคุยฯ แต่สุกรีปฏิเสธคำกล่าวนี้

“บีอาร์เอ็น ก็คือ บีอาร์เอ็น… ประเด็นว่า เป็นบีอาร์เอ็นจริง หรือไม่จริงนั้น เป็นประเด็นที่นำมาใช้สร้างความแตกแยกให้บีอาร์เอ็นต่อสายตาของชาวปาตานี เพื่อให้พวกเขาสูญเสียความมั่นใจในบีอาร์เอ็น” เขากล่าว

บีอาร์เอ็น ไม่เคยแสดงตัว’

สุกรี ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม เมื่อถูกถามว่า บีอาร์เอ็น มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์รุนแรง การโจมตีในชายแดนใต้หรือไม่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยมีกลุ่มใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมักโยนความผิดไปที่ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ อย่างไรก็ตาม พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นี้อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มาเกือบตลอด ตั้งแต่ปี 2547

จากเหตุการณ์ความรุนแรงล่าสุดวันพุธนี้ เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารพราน ในขณะเดินเท้าลาดตระเวน ใช้วิทยุสื่อสารจุดชนวนระเบิดที่นำไปวางไว้ใต้เพิงจำหน่ายสินค้าของชาวบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บค่อนข้างสาหัส 3 ราย ในพื้นที่อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าเป็นฝีมือของกลุ่มก่อความไม่สงบที่หมายสังหารเจ้าหน้าที่ และในวันจันทร์ที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์คล้ายกัน และมีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บ 3 ราย เช่นกัน

ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครลาดตระเวนในพื้นที่ชายแดนใต้ จนทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 17 รายแล้ว

นักวิเคราะห์กล่าวว่า บีอาร์เอ็น เป็นขบวนการลับ ที่มีกลุ่มเซลล์ปฏิบัติการในพื้นที่อย่างอิสระ และสมาชิกบีอาร์เอ็นในระดับสูงขึ้นไปในองค์กร บางครั้งมักจะมารู้เกี่ยวกับการโจมตี หลังจากที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว

“นั่นคือวิธีตามโครงสร้างที่วางไว้ มันคือหลักประกันความสำเร็จ ฝ่ายไทยสามารถทำลายหนึ่งหน่วยปฏิบัติการย่อย แต่ไม่สามารถเข้าถึงหน่วยอื่น ๆ ได้” ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ผู้เชี่ยวชาญพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวไว้เมื่อปีที่แล้วกับผู้แทนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ในการสัมภาษณ์เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้ง

“กลุ่มผู้ก่อการรุนแรง เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน… พวกเขาอยู่ทุกที่ ทุกหนแห่ง และเขาก็มีหลายบทบาท เขาอาจกำลังกรีดยางในนาทีนี้ หรือให้อาหารไก่ ในนาทีต่อมาเขาอาจจะไปวางระเบิดริมถนน แล้วอาจจะตามมาด้วย การปะทะยิงปืนต่อสู้” ดอน กล่าว

นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่เพิ่งล้างมือทางการเมืองหลังเป็น ส.ส.นราธิวาสมา 9 สมัย ตอบคำถามในการให้สัมภาษณ์ กับเบนาร์นิวส์ว่า “คนในพื้นที่นั้นให้การสนับสนุนบีอาร์เอ็นหรือ ชาวบ้านจะรู้จัก หรือสนับสนุนบีอาร์เอ็นอย่างไร เพราะบีอาร์เอ็นไม่เคยออกมาแสดงตัว”

'เรายังคงมีการพูดคุยเพื่อสันติสุข'

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ย้ำว่า การพูดคุยเพื่อสันติสุขยังดำเนินอยู่ในระดับต่าง ๆ แม้ว่าการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งสุดท้ายกับ มาราปาตานี ได้มีขึ้นเมื่อปี 2560

"ตอนนี้ก็ยังมีการพูดคุยเป็นไปตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างทุกกลุ่มทุกคนทุกพวกเข้ามาคุยเสมอ ไม่มีการไม่มีการบังคับใคร ตอนนี้ก็ยังมีการพูดคุยไปเรื่อย ๆ ก็มีความคืบหน้าคุยกับทุกกลุ่ม คุยเสร็จเมื่อไหร่ก็จะเป็นทางการเมื่อนั้น" พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ โดยไม่เผยรายละเอียด

พลตรีธิรา แดหวา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า “จะมีกลุ่มผู้เห็นต่างออกมา กลับบ้าน ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ และอาจจะมีผู้เห็นต่างที่ยังต้องการยิงอยู่ สิบเปอร์เซ็นต์”

“ในส่วนของสุกรี ฮารี อยากจะให้มองตรงที่ว่าเขาเป็นใคร เขาไม่คุยเราก็ไม่คุย ก็ยังมีคนอื่นอีก 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่จะคุย ก็คุยกับคนที่อยากคุย” พลตรีธิรา กล่าวเพิ่มเติม

“ดูเหมือนว่ายังคงไม่มีความแน่นอนอะไรสักอย่าง ดูเหมือนจะไม่มีใครรู้ว่า การพูดคุยฯ จะออกมาอย่างไร” ดอน ปาทาน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ดอน ปาทาน เผยต่อไปว่า สุกรีได้ขอให้รัฐบาลไทยปลด พลเอกอุดมชัย ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย ออก หลังจากที่เขาตัดข้อเสนอเรื่อง เขตปลอดภัย ออกจากโต๊ะเจรจา และได้พยายามติดต่อสภาปกครองบีอาร์เอ็น

“เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สุกรีตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ในความเห็นของผม ทั้งสองฝ่ายจะมีโอกาสกลับมาคุยร่วมกัน เพราะตอนนี้ สุกรี ไปแล้ว" ดอนกล่าว “ท่าทีระหว่างกลุ่มมาราปาตานี และเจ้าหน้าที่ไทย ก็คือ มีกระบวนการสันติภาพที่ไม่ดี ดีกว่าไม่มีกระบวนการสันติภาพเลย”

มารียัม อัฮหมัด ในจังหวัดปัตตานี และ เคท เบดดัล ในกรุงวอชิงตัน มีส่วนในรายงานนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง