ศาลสั่งปรับชาวมุสลิมในมาเลเซีย ฐานแต่งเด็กหญิงไทยวัย 11 ปี
2018.07.10
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี

ศาลชารีอะฮ์ในรัฐกลันตันของมาเลเซีย ปรับชายมาเลเซียจากรัฐกลันตันเป็นเงินจำนวน 1,800 ริงกิต (ประมาณ 14,700 บาท) หลังจากที่เขายอมรับความผิดสองข้อหา อันเกิดจากการแต่งงานทางศาสนาอิสลามเมื่อเร็ว ๆ นี้กับเด็กหญิงไทยวัย 11 ปี สื่อท้องถิ่นรายงานเมื่อวันจันทร์
ชายวัย 41 ปีผู้นี้ ถูกตั้งข้อหา เพราะทำพิธีแต่งงานและมีภรรยาหลายคน โดยไม่ได้ขออนุญาตจากศาล ภายใต้กฎหมายครอบครัวอิสลามของรัฐกลันตันเลขที่ 6 ปี 2545 สื่อข่าวออนไลน์ Harian Metro ของมาเลเซียรายงาน แต่ละข้อหามีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 ริงกิต (ประมาณ 8,200 บาท) หรือโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินสองเดือน
ข่าวการแต่งงานครั้งนี้ในนราธิวาส จังหวัดชายแดนใต้ไทยที่ติดกับมาเลเซีย ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม สร้างความโกรธเคืองให้แก่ผู้คนในทั้งสองประเทศ หลังจากที่เรื่องดังกล่าวปรากฏทางออนไลน์ เพราะภรรยาคนที่สองของชายคนนั้นโพสต์ข้อความลงเฟสบุ๊ก
เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยคนหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลไม่สามารถทำให้การแต่งงานครั้งนี้เป็นโมฆะได้ เนื่องจากบุคคลทั้งคู่แต่งงานกันภายใต้กฎหมายของศาสนาอิสลาม โดยอิหม่ามในท้องที่คนหนึ่งเป็นผู้ทำพิธีให้
“เราไม่สามารถดำเนินการให้การช่วยเหลือ เพราะตามหลักของศาสนา เด็กคนนี้พ่อแม่ยินยอมให้แต่งงาน ตามกฎหมายไทยยังแต่งงานไม่ได้” นางสาวคอทรีหม๊ะ หะยีอารุณ เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนราธิวาส กล่าวต่อเบนาร์นิวส์
เจ้าหน้าที่จากกรมกิจการเด็กและเยาวชน ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้แทนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ได้ประชุมกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ให้นัดทางกงศุลมาร่วมหาแนวทาง ว่าจะดำเนินการอย่างไร นางสาวคอทรีหม๊ะกล่าว
กรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ “พบกับฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าเราจะแทรกแซงหรือช่วยเหลือครอบครัวนี้ได้อย่างไร เราจำเป็นต้องบอกให้รู้อย่างชัดเจน ณ ตอนนี้ เราไม่รู้ว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง” โกตริมาห์กล่าวเสริม
คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดอื่นในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทย มีหน้าที่ควบคุมเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักกฎหมายของอิสลาม เช่น การออกใบทะเบียนสมรสและใบหย่า ตลอดจนการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล แต่อิหม่ามของมัสยิดในท้องถิ่นดำเนินการบริหารจัดการมัสยิดของตนเอง โดยไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ แหล่งข่าวกล่าว
นายซาฟีอี เจ๊ะเลาะ ประธาน คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า พ่อแม่ของเด็กมีบทบาทสำคัญในการอนุญาตให้เกิดการแต่งงานครั้งนี้ขึ้น
"ตามกฎหมายอิสลามผู้หญิงและชายที่จะแต่งงานจะต้องมีอายุ ขั้นต่ำ 15 หรือ 16 ปี ยกเว้นมีพ่ออนุญาตหรือเห็นด้วย ส่วนจะทำพิธีที่ไหนไม่ได้บังคับ แต่ต้องมีอิหม่ามทำพิธีให้ กรณีเด็กอายุ 11 ปี ไปทำที่มัสยิดแถวสุไหงโกลก ซึ่งถือว่าเขาสามารถทำได้ทั้งตามหลักศาสนาอิสลาม และตามกฎหมายอิสลาม ที่มีการบังคับใช้ในพื้นที่ ยะลาปัตตานี นราธิวาส และ สตูล"
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสได้ประชุมกัน เพื่อหารือถึงกรณีนี้ และตัดสินว่า อิหม่ามที่ทำพิธีแต่งงานให้แก่ชายมาเลเซียและเด็กหญิงไทยวัย 11 ปีคู่นี้ ไม่ได้ละเมิดกฎหมายอิสลาม” เขากล่าว
จะอยู่กินฉันท์สามีภรรยาภายหลัง หนุ่มใหญ่กล่าว
มาเลเซียมีระบบกฎหมายแพ่งและกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) ต่างหาก กฎหมายชารีอาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายครอบครัวอิสลาม (ดินแดนสหพันธ์) ปี 2527 กำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการแต่งงานของผู้หญิงไว้ที่ 16 ปี และของผู้ชายไว้ที่ 18 ปี โดยยอมให้มีข้อยกเว้นได้ หากได้รับอนุญาตจากศาล กฎหมายแพ่งกำหนดอายุขั้นต่ำสำหรับการแต่งงานเอาไว้ที่ 18 ปี สำหรับทั้งชายและหญิง
นอกจากประเด็นเรื่องอายุแล้ว กฎหมายครอบครัวอิสลามยังกำหนดว่า ชาวมาเลเซียที่แต่งงานกับคนในอีกประเทศ จะต้องจดทะเบียนสมรสกับนายทะเบียนการสมรสของชาวมุสลิมภายในเวลาหกเดือน
กฎหมายอิสลามอนุญาตให้ชายมีภรรยาได้สี่คน ตราบเท่าที่เขาสามารถเลี้ยงดูและปฏิบัติต่อภรรยาทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ชายคนดังกล่าวได้ตอบโต้คำวิพากษ์วิจารณ์ในวิดีโอออนไลน์เกี่ยวกับการแต่งงานครั้งนี้ โดยอ้างว่าการแต่งงานเกิดขึ้นภายใต้ “nikah gantung” คำมลายูที่หมายถึง การที่คู่สมรสจะครองคู่กันจริงในภายหลัง ในกรณีนี้คือ เมื่อเจ้าสาวมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์
“เธอจะอยู่ในการดูแลของพ่อแม่ของเธอ และเราจะไม่ได้อยู่ด้วยกันจนกว่าเธอจะอายุครบตามเกณฑ์” เขากล่าวในวีดิโอ
สื่อข่าวมาเลเซียระบุว่า ชายผู้นี้ชื่อ เจ๊ะ อับดุล การิม ฮามิด
‘การแสวงหาประโยชน์จากเด็ก’
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของไทยได้คัดค้านการแต่งงานนี้
“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความห่วงใยและกังวลว่า การแต่งงานก่อนวัยอันควร (อายุต่ำกว่า 18 ปี) ของผู้หญิง ถือเป็นการตัดอนาคตในการได้รับการศึกษา และปิดโอกาสในการพัฒนาความพร้อมด้านต่าง ๆ สู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นการขัดต่ออนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก และพระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก” คณะกรรมการดังกล่าวระบุในแถลงการณ์เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว
กรรมการสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเปลี่ยนกฎหมาย
“ประเทศไทยควรออกกฎหมายห้ามการแต่งงานก่อนวัยอันควรในทุกกรณี การแต่งงานก่อนวัยอันควรกับเด็กที่ยากจนเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก โดยสามีที่เป็นผู้ใหญ่ นี่เป็นการละเมิดสิทธิของเด็กในหลายๆ ด้าน” อังคณา นีละไพจิตร บอกแก่เบนาร์นิวส์
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายกล่าวว่า กฎหมายแพ่งของไทยอนุญาตให้ผู้หญิงแต่งงานได้เมื่ออายุครบ 20 บริบูรณ์ หรืออายุ 17 ปี กรณีที่ผู้ปกครองยินยอม หรือ 15 ปี ในกรณีศาลสั่ง
ปฏิกิริยาจากชาวมาเลเซีย
กรณีการแต่งงานของเด็กหญิงไทยวัย 11 ปี ยังทำให้รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซียออกมาเรียกร้องให้ชายชาวมาเลเซีย และเด็กหญิงคนดังกล่าวแยกกันอยู่ โดยกล่าวว่าเธอได้ปรึกษากับศาลชารีอะห์แล้วเกี่ยวกับเรื่องนี้
นางวาน อาซิซาห์ วาน อิสมาแอ ผู้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสตรี ครอบครัว และการพัฒนาชุมชน ในรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซียด้วย กล่าวว่า เรื่องนี้ทำให้จำเป็นต้องเร่งดำเนินการในการเพิ่มอายุขั้นต่ำสำหรับการแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็น 18 ปี
หนึ่งในนโยบายของพรรคแนวร่วมฝ่ายค้าน 'ปากาตัน ฮาราปัน (PH)' ที่เอาชนะพรรค 'แนวร่วมแห่งชาติ’ ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม คือ การเพิ่มเกณฑ์อายุขั้นต่ำสำหรับการแต่งงาน
นางวาน อาซิซาห์ วาน อิสมาแอ กล่าวว่า จำเป็นต้องเพิ่มเกณฑ์ขั้นต่ำเกี่ยวกับอายุ เพื่อปกป้องเด็กและหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องเฒ่าหัวงู การแสวงหาประโยชน์จากเด็ก และสื่อลามกเด็ก
มารียัม อัฮหมัด ในจังหวัดปัตตานี ประเทศไทย มีส่วนร่วมในรายงานฉบับนี้