มาเลเซียเริ่มต้นขุดหลุมฝังศพ ของผู้อพยพข้ามชาติ
2015.05.26

ในวันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่มาเลเซีย เริ่มขุดหลุมศพ ที่พบบริเวณหลุมฝังศพเป็นหมู่รวมกันขนาดใหญ่ในป่าติดกับแนวชายแดนไทย ที่เชื่อว่ามีศพของเหยื่อค้ามนุษย์ถูกฝังอยู่
เจ้าหน้าที่กล่าวว่าพวกเขาได้ทำการขุดศพที่สองขึ้นจากหลุมตื้นๆ เมื่อวันอังคารนี้ หลังจากพบศพแรกอยู่บนดิน
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของมาเลเซียระบุว่า ได้ค้นพบหลุมฝังศพเป็นหมู่รวมกันขนาดใหญ่ ซึ่งมีหลุมศพ จำนวนถึง 139 หลุม หลังจากค้นพบค่ายกักกันลักลอบค้ามนุษย์ทิ้งร้าง ในพื้นที่ห่างไกลออกไป ใกล้พื้นที่ บ้านวังเคเลี่ยน (Wang Kelian) ที่หมู่บ้านที่อยู่ทางเหนือของรัฐเปอร์ลิส
เนื่องจากภูมิประเทศที่สูงชันและขรุขระ ลำบากต่อการเดินทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะขุดซากศพมากกว่านี้ และจะมีการขุดต่อในเช้าวันพุธ อาจต้องใช้เวลาถึงสามสัปดาห์ในการดำเนินการ
ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย นาย อาหมัด ซาฮิด ฮามิดิ (Ahmad Zahid Hamidi) ประกาศว่าได้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคน ในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้นพบหลุมฝังศพในป่า และเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติ ตามแนวชายแดนไทยมาเลเซีย
"เราสงสัยว่าบางคนอาจจะมีส่วนร่วม ... แต่เรากำลังทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับพวกเขา ในขณะเดียวกับที่พวกเขาควรจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่นี้" ซาฮิด กล่าวแก่ ผู้สื่อข่าว สำนักข่าวเบอร์นามารายงาน ใน วันอังคาร
"เรายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เราจะดำเนินการทางกฎหมายภายใต้ พรบ.ต่อต้านการค้ามนุษย์และลักลอบนำเข้าผู้อพยพผิดกฎหมาย" เขากล่าวเสริม
การค้นพบที่น่าสะพรึงกลัวในป่าของประเทศมาเลเซียล่าสุดนี้ ถือว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคํญ ตั้งแต่เกิดวิกฤตการอพยพโยกย้ายผิดกฎหมาย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นมา เมื่อมีการค้นพบหลุมฝังศพของผู้อพยพชาวบังคลาเทศ และชาวมุสลิมโรฮีนจา 26 ศพ ในเขตพรมแดนปาดังเบซาร์ ประเทศไทย
พัฒนาการของการค้นพบในครั้งนี้ นับว่าเป็นการค้นพบค่ายกักกันค้ามนุษย์ ในพรมแดนมาเลเซียอย่างเป็นทางการครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดวิกฤต
ชาวบังคลาเทศและผู้อพยพโรฮิงญาจำนวนหลายพันคนได้ขึ้นฝั่งในภูมิภาคนี้ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศไทยเริ่มประกาศจับกุมและกวาดล้างเครือข่ายค้ามนุษย์ และออกนโยบายไม่ให้เรือที่ขนผู้อพยพข้ามชาติผิดกฎหมาย เข้าฝั่ง ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของไทย
เมื่อวันจันทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย กล่าวว่า ไม่มีค่ายกักกันค้ามนุษย์หลงเหลือในภาคใต้ของประเทศแล้ว หลังจากที่มีการค้นพบเจ็ดค่ายด้วยกัน ในพื้นที่พรมแดนไทย ติดกับประเทศมาเลเซีย
"เรายังคงค้นหาค่ายกักกันเหล่านั้น แต่คิดว่า น่าจะไม่มีค่ายหลงเหลือในฝั่งไทยแล้ว" พล.ต.ต.พุทธิชาติ เอกฉันท์ รองผู้บัญชาตำรวจภูธรภาค 9 กล่าว สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน
การเดินทางสองชั่วโมง
ศพที่ถูกขุดค้นพบถูกห่อด้วยผ้าขาวแบบชาวมุสลิมนั้น ถูกขุดพบในป่า บริเวณพื้นที่ที่เรียกว่า บูกิตวังเบอร์มา ผู้บัญชาตำรวจมาเลเซีย มูฮัมหมัด บาฮาร์ อาลีอีส (Mohammad Bahar Alias) กล่าว
"ตำรวจเชื่อว่าสิ่งปลูกสร้าง 37 จุด นั้นดูเหมือนจะเป็นหลุมฝังศพ แต่วันนี้เราขุดได้เพียงศพเดียว" เขากล่าว
เราใช้เวลาถึงสองชั่วโมง ในการเดินขึ้นเขามาถึงบริเวณที่ต้องสงสัยว่าเป็นค่ายกักกันค้ามนุษย์ และยังพบโครงสร้างไม้ประกอบเป็นคอกสองหลัง ที่ล้อมรอบด้วยลวดหนาม
"โครงสร้างไม้ที่กล่าวถึงนี้ น่าจะเป็นกรงขังมนุษย์" บาฮาร์ กล่าว สำนักข่าวเอพีรายงาน
ค่ายนี้น่าจะกักคนได้ถึง 300 คน
การก่อตัวในภูมิภาค
ในวันอังคาร ที่ประเทศไทย ได้มีการลาดตระเวนทางอากาศ ที่ให้ทหารอากาศจัดเครื่องบินลาดตระเวนตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. แล้ว ได้มีการเริ่มต้นเที่ยวบิน ลาดตระเวนทางอากาศในการค้นหาเรือของผู้อพยพที่ติดอยู่ในทะเลอันดามัน เอเอฟพี รายงาน
“โดยเฉพาะการดูแลด้านมนุษยธรรมที่จะทำให้เกิดความชัดเจน เพราะตอนนี้มีหลายคนเป็นห่วง เพราะชาวโรฮีนจาส่วนหนึ่งยังลอยเรืออยู่ อีกทั้งเราเป็นห่วงว่าช่วงนี้เข้าสู่หน้ามรสุมแต่ยังตรวจสอบไม่พบ ทั้งนี้ได้สั่งการให้ทหารเรือรับผิดชอบในการเอาเรือขนาดใหญ่ออกไปในพื้นที่ ของไทยหรือรอยต่อ เพื่อรองรับเหมือนเป็นฐานเรือลอยน้ำ โดยมีแพทย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่คัดแยกอยู่ในนั้น ให้แล้วเสร็จ โดยถ้าเจอชาวโรฮีนจา ก็ให้นำมาที่เรือดังกล่าว และรักษาพยาบาลก่อน และเตรียมการส่งต่อไปที่ศูนย์ พักพิงชั่วคราวของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเราจะอำนวยความสะดวกให้ แต่ต้องอยู่ในกฎหมายไทย” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า
"ถ้าใครได้รับบาดเจ็บหรือป่วยก็สามารถรับการรักษาที่โรงพยาบาลในประเทศไทย แต่จะต้องเผชิญกับการถูกจับกุมในฐานเข้าเมืองผิดกฎหมาย - มันขึ้นอยู่กับพวกเขาที่จะตัดสินใจ" พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า
ข่าวจากอ่าวเบงกอล
ในเมียนมา วันอังคารนี้ เจ้าหน้าที่กล่าวว่า รัฐบาลเมียนมา และบังคลาเทศเพื่อนบ้านได้มีการตกลงที่จะส่งกลับประเทศ ผู้อพยพชาวบังกลาเทศ 200 คน ที่กองทัพเรือเมียนมาพบ ในน่านน้ำของตนและช่วยเหลือไว้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน
จากจำนวนทั้งหมด 208 คน ที่พบบนเรือ เป็นชาวบังกลาเทศ 200 คน และที่เหลือเป็นชาว "เบงกาลี” จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เป็นคำที่เจ้าหน้าที่เมียนมาใช้เพื่ออธิบายกลุ่มชาติพันธุ์โรฮีนจา ที่มีถิ่นอาศัยดั้งเดิมอยู่ในรัฐยะไข่
ในดาห์กา ขณะที่เธอเรียกร้องให้หน่วยงานในประเทศของเธอ หยุดการอพยพที่ผิดกฎหมาย และร่วมกันต่อต้านนักค้ามนุษย์ นาง ชีค ฮาซินา (Sheikh Hasina) นายกรัฐมนตรีบังคลาเทศ ได้กล่าวถึง ความพยายามในการอพยพออกนอกประเทศทางทะเลผิดกฎหมาย เพื่อค้นหาโอกาสทางเศรษฐกิจในประเทศอื่น
“คนเหล่านั้นควรได้รับการลงโทษ” ฮาซินากล่าว เมื่อวันอาทิตย์ สำนักข่าวบังกลาเทศ ซังบัด ซังซตา (Bangladesh Sangbad Sangstha - BSS) รายงาน
"พวกเขาทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศมัวหมอง ในการผลักดันชีวิตไปสู่อันตราย" เธอกล่าว
การร้องเรียนขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน หรือ IOM
ในขณะเดียวกัน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน กล่าวที่กรุงเจนีวา ถึงความจำเป็นในการใช้เงินจำนวน 26 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการช่วยเหลือผู้อพยพจำนวน 10,000 คน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตผู้อพยพข้ามชาติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้
เงินเป็นปัจจัยที่จำเป็น เพื่อใช้ในการจัดหาที่พักพิง อาหาร น้ำ และ การดูแลเยียวยาทางด้านจิตใจ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญส่วนหนึ่งในอีกหลายประการ IOM กล่าว
ตามการคาดการณ์ที่รวบรวมโดย IOM จนถึงวันจันทร์นี้ มีผู้อพยพขึ้นฝั่งแล้วจำนวน 3,200 คน ที่ประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย จากเรือที่เข้ามาทั้งหมด 13 ลำ และ มีผู้อพยพอีก 4,000 คน ยังคงลอยลำอยู่ในทะเล
"สิ่งสำคัญอันดับแรก คือการค้นหาและช่วยเหลือผู้ที่ยังคงอยู่ในทะเล ควบคู่กับการดูแลผู้ที่ขึ้นฝั่งแล้วเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ที่ขาดสารอาหาร และบอบช้ำจากการเดินทาง" เจฟฟ์ ลาโบวิทซ์ หัวหน้าคณะทำงานของไอโอเอ็ม กล่าวในแถลงการณ์ เมื่อวันอังคาร
ฮาตะ วาฮาริ มีส่วนร่วมในการรายงาน