ผู้นำประเทศในเอเชียประณามเหตุกราดยิงในเมืองออร์แลนโด
2016.06.13

เมื่อวันจันทร์ บรรดาผู้นำของประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าร่วมกับนานาประเทศ แสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อเหตุกราดยิงที่เกิดขึ้นเมื่อวันสุดสัปดาห์ ในไนท์คลับคนรักเพศเดียวกันแห่งหนึ่งในรัฐฟลอริดา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 คน เป็นที่กล่าวหากันว่ามือปืนได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์อิสลามหัวรุนแรง
เจ้าหน้าที่และผู้นำจากสี่ประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมจำนวนมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ ตลอดจนมาเลเซียและไทย ได้ส่งหนังสือแสดงความเสียใจถึงชาวอเมริกัน เกี่ยวกับเหตุกราดยิงที่ไนต์คลับชื่อ เดอะพัลส์ ในเมืองออร์แลนโด
“ข้าพเจ้าขอประณามการกระทำการก่อการร้ายอันป่าเถื่อนนี้อย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และขอย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะ ‘ไม่ยอมรับโดยเด็ดขาด’ ต่อการก่อการร้ายทุกรูปแบบและคตินิยมสุดโต่งนิยมความรุนแรง” นางชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศกล่าวผ่านนายอิห์ซานุล การิม โฆษกรัฐบาล เมื่อวันจันทร์
“ขอให้เราเพิ่มความพยายามร่วมกันเป็นสองเท่า เพื่อกำจัดภัยอันตรายที่น่ารังเกียจเหล่านี้ให้หมดไปจากสังคมอันรักสันติของเราเถิด” นางชีค ฮาสินา กล่าวเสริม เมื่อวันศุกร์ รัฐบาลบังกลาเทศได้เริ่มมาตรการกวดขันทั่วประเทศต่อกลุ่มมุสลิมติดอาวุธที่ต้องสงสัย หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมหลายครั้งที่มุ่งเป้าไปที่ นักเขียนที่ไม่สังกัดศาสนาใด สมาชิกของชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาต่าง ๆ และคนอื่น ๆ
เหยื่อของเหตุฆาตกรรมดังกล่าว รวมถึงนายซูลฮัซ มานนัน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ์ของคนรักเพศเดียวกัน บรรณาธิการนิตยสารฉบับแรกของบังกลาเทศ ที่ครอบคลุมเฉพาะเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (หรือ LBGT) ในบังกลาเทศ เขาและชายอีกคนหนึ่งถูกชาวมุสลิมหัวรุนแรงฟันด้วยมีดจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 เมษายน นับแต่เหตุครั้งนั้นเป็นต้นมา มีรายงานว่าชุมชนกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ของบังกลาเทศ ได้พากันหลบซ่อนตัว เพราะเกรงกลัวว่าสมาชิกของตนอาจตกเป็นเป้าของการโจมตีอีก
“รัฐบาลและประชาชนของข้าพเจ้าขอยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับรัฐบาลของท่านและประชาชนผู้เป็นมิตรของสหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ และขอย้ำอีกครั้งในความมุ่งมั่นของเราที่จะร่วมมือกับท่าน ในการต่อต้านการก่อการร้าย และคตินิยมสุดโต่งนิยมความรุนแรง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่ออารยธรรมมนุษย์” นางชีค ฮาสินา ซึ่งไม่ได้ประณามการฆาตกรรม นายซูลฮัซ มานนัน อย่างเป็นทางการ กล่าว
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุตัวมือปืนชายที่กระทำการคนเดียวในเหตุกราดยิงที่เมืองออร์แลนโด ซึ่งถูกกระทำวิสามัญฆาตกรรมในเหตุครั้งนั้น ว่าคือ นายโอมาร์ มาทีน วัย 29 ปี ชาวอเมริกันเชื้อสายอัฟกัน เขาปฏิญาณตนแสดงความจงรักภักดีต่อกลุ่มรัฐอิสลามหัวรุนแรง (ไอเอส) เมื่อโทรศัพท์ถึง 911 ซึ่งไม่นานก่อนที่จะก่อเหตุรุนแรง ซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บจำนวน 53 ราย ในไนต์คลับแห่งนั้น ในช่วงเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ (ตามเวลาท้องถิ่น) รายงานกล่าว
หลังจากเหตุดังกล่าว กลุ่มไอเอสได้ออกมาประกาศผ่านทางสื่อ Aamaq เพื่อรับผิดชอบต่อการโจมตีในเมืองออร์แลนโดครั้งนี้ ซึ่งเป็นเหตุกราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในสหรัฐฯ สำนักข่าวซีบีเอสนิวส์รายงาน แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่านายโอมาร์ มาร์ทีน เกี่ยวข้องโดยตรงกับกลุ่มหัวรุนแรงที่มีฐานในตะวันออกกลางกลุ่มนั้นหรือไม่
“ผมรู้สึกเศร้า โกรธ และตกใจมาก เมื่อได้ยินข่าวเกี่ยวกับเหตุกราดยิงในเมืองออร์แลนโด ผมรู้สึก ในฐานะที่เป็นเกย์คนหนึ่งในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมมากที่สุด สถานที่เช่น เกย์ไนท์คลับเป็นที่ที่ปลอดภัยสำหรับพวกเราที่จะมาพบกันและสังสรรค์กัน แต่เหตุครั้งนี้ทำให้พวกเรา กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LBGT) รู้สึกไม่ปลอดภัยอีกต่อไป” นายอะดาโม คอนเนอร์ ชาวอินโดนีเซียวัย 32 ปี ผู้ที่ทำงานเป็นพยาบาลในวอชิงตัน ดี.ซี. บอกแก่เบนาร์นิวส์
“เหตุครั้งนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า การดิ้นรนต่อสู้ของเราในฐานะกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังต้องมีอีกยาวนาน” เขากล่าวเสริม “ผมรู้สึกโกรธผู้ก่อเหตุครั้งนี้มาก ไม่ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังเหตุอันน่าสลดนี้จะเป็นคนชาติพันธุ์ ศาสนา หรือเชื้อชาติใดก็ตาม”
‘การบิดเบือนของศาสนาอิสลาม’
ทางการอเมริกันได้ประกาศว่า เหตุกราดยิงครั้งนี้เป็นการก่อการร้ายและอาชญากรรมที่มาจากความเกลียดชัง ซึ่งมีเป้าหมายที่กลุ่มคนที่มีวิถีทางเพศแตกต่างออกไป โดยกล่าวว่า ดูเหมือนว่ามือปืนได้รับอิทธิพลจากอุดมการณ์อิสลามหัวรุนแรงที่เผยแพร่ทางออนไลน์
“[ใ]นขั้นนี้ เรายังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามือปืนถูกสั่งจากภายนอก แต่ดูเหมือนว่า ในนาทีสุดท้าย มือปืนได้ประกาศแสดงความจงรักภักดีต่อกลุ่มไอเอสไอแอล แต่ ณ ตอนนี้ ไม่มีหลักฐานว่ามือปืนถูกสั่งโดยกลุ่มไอเอส และในขั้นนี้ ยังไม่มีหลักฐานโดยตรงว่า มือปืนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการที่ใหญ่กว่า... นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกแก่บรรดาผู้สื่อข่าวที่ห้องทำงานของประธานาธิบดี เมื่อวันจันทร์ โดยใช้ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งของกลุ่มไอเอส
ตามบันทึกการถอดเสียงที่เปิดเผยโดยทำเนียบขาว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า “ที่สุดแล้ว นี่เป็นสิ่งที่เราจะต้องจัดการ ซึ่งแน่ใจว่า แม้เราจะตามล่ากลุ่มไอเอสไอแอลและกลุ่มหัวรุนแรงอื่น ๆ ในต่างประเทศ ... ว่า หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดที่เราจะมีก็คือ การโฆษณาชวนเชื่อประเภทนี้ และการบิดเบือนของศาสนาอิสลามที่คุณเห็นว่าเกิดขึ้นทางอินเทอร์เน็ต และการที่สิ่งเหล่านี้สามารถแทรกซึมเข้าไปในจิตใจของคนมีปัญหา หรือคนที่อ่อนแอ และการเห็นคนเหล่านั้นถูกกระตุ้นให้ลงมือก่อเหตุอันน่าโศกสลดต่อคนที่นี่ในสหรัฐอเมริกา และที่อื่นในโลก”
‘ความเลวร้ายของแนวคิดหัวรุนแรง’
ในอินเดียและปากีสถาน สองประเทศที่ถือว่า การร่วมเพศของคนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย นายกรัฐมนตรีของสองประเทศนี้แสดงความรู้สึกตกใจต่อเหตุกราดยิงในรัฐฟลอริดาครั้งนี้
“ตกใจมากที่ได้ยินข่าวเหตุกราดยิงในเมืองออร์แลนโด สหรัฐอเมริกา ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ” นายนาเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย กล่าวผ่านทางทวิตเตอร์
นายนาวาซ ชาริฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน ประณามการกระทำนี้ว่าเป็น “เพียงการสำแดงอีกอย่างหนึ่งของความเลวร้ายของแนวคิดหัวรุนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสัญญาว่าจะต่อสู้กับมันทุกๆ วัน”
เหตุกราดยิงในรัฐฟลอริดาครั้งนี้ขัด “กับหลักการทุกหลักของพหุนิยม การอดกลั้น และมนุษยธรรม นี่ไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงของชาวมุสลิมส่วนใหญ่” สถานีวิทยุของปากีสถานที่ดำเนินการโดยรัฐ หยิบยกคำกล่าวของนายกรัฐมนตรีปากีสถานมา เมื่อวันจันทร์
‘การเสียชีวิตที่ไร้ความหมาย’
ในประเทศอื่น เจ้าหน้าที่และผู้นำของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ต่างก็ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9) ทรงแสดงความเสียพระราชหฤทัยผ่านทางแถลงการณ์ฉบับหนึ่งที่ออกโดยสำนักพระราชวัง และส่งถึงนายบารัค โอบามา นายกรัฐมนตรีสหรัฐฯ และประชาชนชาวอเมริกัน
“พระราชินีและข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับข่าวเหตุกราดยิงที่ไนต์คลับในเมืองออร์แลนโด ซึ่งเป็นผลให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างไร้ความหมาย” พระมหากษัตริย์ไทยทรงตรัสในการสื่อถึง “ความเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง” สำหรับ “ความสูญเสียที่แก้ไขไม่ได้”
ขณะเดียวกัน ในกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ สมาชิกของชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศของไทย ได้เข้าร่วมกับนายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในการจุดเทียนนอกสถานทูตสหรัฐฯ เพื่อไว้อาลัยผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์โจมตี ในรัฐฟลอริดาครั้งนี้ มีการแสดงความไว้อาลัยอื่น ๆ ในเมืองสำคัญทั่วโลก ตั้งแต่ซานฟรานซิสโก กรุงเบอร์ลิน ซิดนีย์ และเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์
“หวาดกลัวจากเหตุกราดยิงในออร์แลนโด ขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและเพื่อนของเหยื่อในเหตุการณ์นี้ ศาสนาอิสลามรังเกียจการคร่าชีวิตของผู้บริสุทธิ์” นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เขียนในทวิตเตอร์
อย่างไรก็ตาม ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี ชาวมาเลเซียสองหรือสามคนได้โพสต์ข้อความในสื่อสังคม โดยเห็นด้วยกับการโจมตีนั้น เพราะเหยื่อเป็น "คนบาป” แต่ชาวมาเลเซียจำนวนมากประณามข้อความเหล่านั้นอย่างรวดเร็ว
ในกรุงจาการ์ตา กระทรวงการต่างประเทศได้ออกแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง โดยกล่าวว่า “อินโดนีเซียขอประณามเหตุกราดยิงในเมืองออร์แลนโด เราขอแสดงความเห็นอกเห็นใจอย่างสุดซึ้งแก่ครอบครัวของเหยื่อ รัฐบาล และประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา” ตามรายงานของสำนักข่าวอันตารา ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล
แต่นายฟาห์รี ฮัมซาห์ รองโฆษกของสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย (DPR) ทวีตข้อความว่า “เหตุกราดยิงที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากครั้งนี้เกิดขึ้น เพราะคนรักเพศเดียวกันที่เห็นได้โจ่งแจ้งเกินไป” สำนักข่าวเอพีรายงาน
อิกา อิงกัส ในวอชิงตัน, คัมราน เรซา ชาด์ฮูรี ในกรุงธากา, โรหิต วาดห์วานีย์ ในชัยปุระ ประเทศอินเดีย, ราซลาน ราชิด ในกรุงกัวลาลัมเปอร์, ภิมุข รักขนาม ในกรุงเทพฯ และเนอร์ดิน ฮาซัน ในกรุงจาการ์ตา มีส่วนในรายงานชิ้นนี้