วิกฤตผู้อพยพ: หลายชาติจะเข้าร่วมการประชุมหารือเร่งด่วนในกรุงเทพฯ
2015.05.27

ผู้แทนจาก 17 ชาติ จะเข้าร่วมการประชุมหารือหนึ่งวันในกรุงเทพฯ ในวันศุกร์นี้ เป็นการประชุมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อหารือเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติกล่าวว่า ชาติที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาอย่างเร่งด่วน ไม่เพียงเฉพาะพูดคุยเท่านั้น
ชาติที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตผู้ยอพยพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จำเป็นต้องป้องกันและปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ และต้องให้ความสำคัญสูงสุดในการช่วยเหลือ และมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ยอพยพจำนวนหลายพันคน ที่ยังเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล ตามคำกล่าวของเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติในกรุงเทพฯ
“ขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่าเหตุการณ์นี้จะลงเอยอย่างไร ... แต่ขบวนการอาชญากรต้องถูกจัดการอย่างจริงจัง” เจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคของสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“การปกป้องชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด” ในวิกฤตการอพยพ หรือโยกย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมายที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เขากล่าว
"มีปัญหาแน่นอน เมื่อสถาบันต่างๆ เช่น กรมตำรวจ ไม่ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก หรือไม่ให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้ หรืออาจเป็นไปได้ว่า สถาบันตำรวจถูกแทรกซึมโดยกลุ่มอาชญากร” ดักลาสกล่าว
"เราจำเป็นต้องให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งหมดทำงานด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน สื่อสารกัน และปราบปรามกลุ่มเหล่านี้ เพราะนี่เป็นเรื่องร้ายแรงทีเดียวที่พวกนั้น [ขบวนการค้ามนุษย์] สามารถดำเนินการมาได้นานขนาดนี้ โดยการนำพาคนหลายพันคนจากประเทศหนึ่ง ไปอีกประเทศหนึ่ง และอีกประเทศหนึ่ง พวกนี้ต้องเป็นขบวนการอาชญากรแท้ๆเลยทีเดียว จึงจะทำขนาดนั้นได้” เขากล่าวเสริม
ต้องใช้กระบวนการที่ครบวงจร
การปราบปรามขบวนการลักลอบขนผู้อพยพ เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งต้องอาศัยการดำเนินการที่ประสานงานกันเป็นอย่างดีของนานาชาติ วิเวียน แทน โฆษกหญิงประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) กล่าว
"เห็นได้ชัดว่านี่เป็นปัญหาของภูมิภาค ซึ่งต้องใช้แนวทางแก้ไขของภูมิภาค เป็นสิ่งที่ดีที่ชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้กำลังมาประชุมกัน เพื่อหารือถึงปัญหานี้ร่วมกัน นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี” แทนกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“แต่การแก้ไขต้องใช้กระบวนการที่ครบวงจร จะใช้การบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียว หรือการปราบปรามขบวนการลักลอบขนผู้ย้ายถิ่นเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะไม่ได้ผล”
ชาติต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต้องให้ความสำคัญแก่การช่วยเหลือคนที่ยังเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล และเร่งส่งอาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ให้แก่คนเหล่านั้น เธอกล่าว
ตามข้อมูลขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการย้ายถิ่นฐาน (IOM) ณ วันจันทร์ ยังมีผู้อพยพ ย้ายถิ่นฐานอย่างผิดกฎหมายประมาณ 4,000 คน อยู่กลางทะเล และนับแต่วันที่ 4 พฤษภาคมเป็นต้นมา ได้มีผู้อพยพประมาณ 3,200 คน ขึ้นฝั่งในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียแล้ว
ปัญหานี้จะแก้ไม่ได้ ถ้าประเทศเหล่านี้ไม่ “จัดการกับต้นเหตุที่แท้จริง ถ้าไม่จัดหาสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่คนเหล่านี้ในเมียนมาและบังกลาเทศแล้วล่ะก็ พวกเขาก็จะยังออกมาเสี่ยงชีวิตบนเรือของผู้ลักลอบขนมนุษย์อยู่ดี” แทนกล่าวเสริม
เมียนมาถูกมองว่าเป็นต้นตอของปัญหา เพราะไม่ยอมรับชาวมุสลิมโรฮีนจาซึ่งส่วนใหญ่มาจากรัฐยะไข่ทางตะวันตกของประเทศ เป็นพลเมืองของประเทศ
"มาเลเซียจะขอคำรับรองจากรัฐบาลเมียนมาในการจัดการกับวิกฤตนี้ ขณะเดียวกันก็จะเน้นที่ความสำคัญในการค้นหาและแก้ไขสาเหตุหลักของปัญหานี้” นายอนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย กล่าว โดยบอกคร่าว ๆ ถึงระเบียบวาระการประชุมของรัฐบาลมาเลเซียในการประชุมหารือเร่งด่วนที่กรุงเทพฯ
"เรายังจะขอให้เมียนมาคงการสนับสนุนต่อไป และนำโครงการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไปปฏิบัติในภูมิภาคนี้” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์
ไม่เคยปรากฏมาก่อน
การประชุมในวันศุกร์นี้จะเป็นครั้งแรกที่บรรดาชาติต่าง ๆ จากทั่วภูมิภาคนี้ มารวมตัวกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการโยกย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมาย
ตามข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย การประชุมว่าด้วย “การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย” ครั้งนี้จะมีผู้แทนจาก 17 ประเทศเข้าร่วม อาทิ ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย บังกลาเทศ เมียนมา อินเดีย ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม อัฟกานิสถาน อิหร่าน ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา
คณะผู้แทนจากสหรัฐอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ และ UNHCR, UNODC และ IOM จะเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย
“การประชุมพิเศษครั้งนี้เป็นการเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้ภูมิภาคนี้ร่วมมือกันอย่างครบวงจร เพื่อจัดการกับการเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนของการย้ายถิ่น แบบไม่ปกติ ทั่วทั้งอ่าวเบงกอลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา” กระทรวงการต่างประเทศของไทยแถลงในข่าวสารนิเทศฉบับหนึ่ง
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ไทยได้ประกาศเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมหารือเร่งด่วนครั้งนี้ ท่ามกลางการปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อพยพย้ายถิ่นหลายพันคนในเรือหลายลำต้องหาทางขึ้นฝั่งในประเทศอื่นที่อยู่ใต้ลงไปจากไทย
แปดวันหลังจากนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียและมาเลเซียประกาศเลิกนโยบายผลักดันเรือของผู้อพยพออกไป และยอมให้ที่พักพิงชั่วคราวเป็นเวลาไม่เกินหนึ่งปีแก่ผู้อพยพ แต่ไทยยังไม่ตกลงที่จะรับผู้อพยพเพิ่มเติม
ค่ายพักในป่า
ทั้งมาเลเซียและไทยต่างก็พบค่ายพักและหลุมฝังศพผู้อพยพ ในบริเวณภูเขาที่เป็นป่าทึบตามชายแดนของประเทศทั้งสอง
ไทยได้จับกุมตัวเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ฐานต้องสงสัยค้ามนุษย์ รวมทั้งนายกเทศมนตรีและรองนายกเทศมนตรีในจังหวัดสงขลา
เมื่อวันพุธ มาเลเซียประกาศว่าได้จับกุมตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณสิบกว่านาย ฐานต้องสงสัยมีส่วนพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ แต่ยังไม่ได้ชี้ชัดลงไปว่าผู้ต้องสงสัยเหล่านี้มีความเกี่ยวโยงหรือไม่กับค่ายพัก 28 แห่ง และหลุมฝังศพ 139 หลุม ที่พบในรัฐเปอร์ลิส
“ผู้ต้องสงสัยสี่คนถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฐานต้องสงสัยพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ และเมื่อเร็วๆนี้ อีกแปดคนถูกจับกุมตัวโดยสำนักคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของมาเลเซีย” นายวัน จูไนดี ตวนกู จาฟาร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
บรรดาราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายพักดังกล่าว ต่างก็ไม่รู้สึกแปลกใจ แม้ทางการมาเลเซียจะอ้างว่ารู้สึกแปลกใจก็ตาม
"ฉันอยู่ที่นี่มา 30 ปีแล้ว ฉันเห็นชาวโรฮีนจาจำนวนมาก พวกเขามักจะอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่” ซานิ ฮาชิม วัย 80 ปี ราษฎรในรัฐเปอร์ลิส บอกแก่สำนักข่าวเอเอฟพี
ผู้อพยพที่ตัวผอมกะหร่องจะเข้าไปที่ไร่เล็กๆของเขา เพื่อขออาหาร น้ำ และเสื้อผ้า เขากล่าว
"เราทำเท่าที่เราทำได้ และถ้าพวกเขายืนหรือเดินไม่ได้ เราก็เรียกเจ้าหน้าที่มาพาตัวไป” อ้างอิงคำพูดของเขา
อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์ และ ฮาตา วาฮารี มีส่วนร่วมในรายงานชิ้นนี้