เมียนมาต้องการแรงงานเพื่อรบ กระทบวิกฤตแรงงานในไทย

เรดิโอฟรีเอเชีย และเบนาร์นิวส์
2024.05.15
เมียนมาต้องการแรงงานเพื่อรบ กระทบวิกฤตแรงงานในไทย แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาทำงานในโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าของไต้หวัน ใน อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550
รอยเตอร์

รัฐบาลทหารเมียนมาออกมาตรการห้ามแรงงานชายทำงานนอกประเทศ เหตุเพราะอยากกระตุ้นให้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร

กลุ่มสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมหลายกลุ่มอ้างว่า มาตรการของทางการเมียนมาที่ห้ามพลเมืองชายทุกคนเดินทางไปทำงานนอกประเทศ เนื่องจากต้องการให้พวกเขาเข้ามาเสริมกำลังของกองทัพ อาจจะส่งผลให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทย เนื่องจากแรงงานเมียนมาเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้หลายอุตสาหกรรมการทำงานในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาเป็นเวลาหลายปี และพวกเขากำลังกังวลว่าตนเองจะสามารถทำงานในไทยต่อไปได้อีกนานแค่ไหน

ประชากรชาวเมียนมากว่า 250,000 ราย ทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งถือเป็นแรงงานข้ามชาติกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดจากแรงงานข้ามชาติกว่า 3.3 ล้านราย โดยส่วนใหญ่แล้วแรงงานเมียนมาจะทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในโรงงาน กลุ่มงานบริการ และแรงงานด้านเกษตรกรรม ส่วนอีกกว่า 25,000 ราย ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมประมง

รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศระงับใบอนุญาตการทำงานนอกประเทศของพลเมืองชายที่อยู่ในวัยเกณฑ์ทหารและกำลังหาลู่ทางทำงานในต่างประเทศเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมุ่งหวังว่าจะช่วยสนับสนุนการบังคับการเกณฑ์ทหาร ช่วยเสริมสร้างกำลังพลที่แข็งแกร่งขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้พ่ายแพ้ต่อสงครามให้กับฝ่ายต่อต้านหลายฝ่ายที่ต่อสู้เพื่อล้มล้างอำนาจของรัฐบาลทหาร

โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษาการรณรงค์นโยบายเพื่อเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติแห่งประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันแรงงานเมียนมากว่าครึ่งที่ทำงานในประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ทางกฎหมายที่คลุมเครือ เนื่องจากใบอนุญาตทำงานที่ออกโดยทางการเมียนมาหมดอายุ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่แน่ชัดว่ารัฐบาลจะต่ออายุให้เมื่อไร

“ถ้าอ้างอิงจากบันทึกความเข้าใจ ใบอนุญาตของแรงงานเมียนมาราว 150,000 ราย หมดวาระแล้ว และต้องเดินเรื่องทำเอกสารสำคัญบางฉบับใหม่กับรัฐบาลในประเทศของพวกเขา” โรยทรายเสริม โดยอ้างอิงถึงบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงาน

“เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าพวกเขาจะเชื่อฟังมาตรการการห้ามทำงานนอกประเทศหรือไม่ หลายคนยังหวาดกลัวที่จะเดินทางกลับบ้านเพื่อไปต่ออายุเอกสาร... เพราะกลัวว่ารัฐบาลจะไม่อนุญาตให้เดินทางออกไปทำงานนอกประเทศอีก”

ผู้ก่อตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานอพยพชาวเมียนมาออกความเห็นว่า เขาแน่ใจว่าชายฉกรรจ์ที่ตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไปเพื่อต่ออายุใบอนุญาตการทำงานนอกประเทศจะต้องถูกบังคับให้สมัครเข้ารับการเกณฑ์ทหาร

“พวกเขาหวาดกลัวที่จะเดินทางกลับประเทศเพราะว่ารัฐบาลจะไม่อนุญาตให้เดินทางออกมาอีก ทันทีที่พวกเขากลับประเทศ พวกเขาก็ต้องทำงานให้กับกองทัพ” ทู ชิต  กรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาในไทย กล่าวกับสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมการจัดหางานให้ข้อมูลว่า เศรษฐกิจของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และต้องการแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 คน ซึ่งเมียนมาถือเป็นแหล่งแรงงานใหญ่ที่จะตอบโจทย์ความต้องการแรงงานจำนวนมากได้

“คิดว่าเรื่องจำนวนแรงงานน่าจะกระทบบ้าง เพราะมันเป็นวัยกำลังทำงาน ที่จะต้องเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพื่อทำงาน ซึ่งประเทศไทยก็นับว่าขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว” สมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย

สมชายกล่าวด้วยว่า เรื่องแผนการรับมือคงต้องรอนโยบายของรัฐบาลก่อน ว่าส่วนที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ จะมีแผนอย่างไร และยังกงวลว่าแรงงานจะสามารถกลับมาทำงานได้หรือไม่

“เราต้องรอดูว่าช่องทางด่านชายแดนต่าง ๆ เขาจะข้ามได้หรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล” สมชาย ระบุ

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชียว่า ไทยควรจะยอมรับแรงงานเมียนมาไม่ว่าเขาจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไรก็ตาม

มีทางหนึ่งที่ไทยจะช่วยได้ คือถ้าเขาเข้ามาเถื่อน แบบผิดกฎหมาย ไม่มีพาสปอร์ตหรือใบอนุญาตทำงาน เราก็ควรออกใบอนุญาตให้เขาทำงาน เขาหนีภัย หลบภัยมา เขาไม่อยากถูกเกณฑ์ทหาร เขาก็หนีกันมาอยู่แล้ว เราก็ช่วยเขาให้เขามีงานทำ ช่วยธุรกิจเราด้วย” มงคล ระบุ

เดือนที่ผ่านมา รายงานด้านกิจการภายในและความขัดแย้งของประเทศเมียนมาชี้ว่า หลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหาร ระบุให้ประชากรชาวเมียนมาทั้งชายและหญิงต้องเข้ารับราชการทหารเพื่อรับใช้ชาติจำนวน 50,000 คนต่อปี โดยกำหนดให้ผู้ชายอายุระหว่าง 18-35 ปี และผู้หญิงอายุระหว่าง 18-27 ปี เข้ารับราชการทหารเป็นเวลา 2 ปี ชาวเมียนมากว่า 100,000 คน ต่างลี้ภัยเข้ามาในต่างแดนเพื่อหลบหนีสงคราม

ด้าน ทู ชิต เสริมอีกว่า ก่อนหน้านี้ มีเยาวชนชาวเมียนมาที่หนีเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ทราบจำนวนแน่ชัดทำงานแบบผิดกฎหมายอยู่ก่อนแล้ว

“พวกเขาหวังว่าประเทศไทยจะออกบัตรชมพูให้” เขาเอ่ย อ้างอิงถึงบัตรชั่วคราวที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้

ด้าน ประเทศไทยและประเทศอาเซียนประเทศอื่น ๆ ได้พยายามหยิบยกประเด็นฉันทามติ 5 ข้อขึ้นมาเพื่อพูดคุยกับเมียนมา แต่ผู้นำทางการทหารซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ก่อรัฐประหารในปี 2564 ปัดตกการพูดคุยประเด็นนี้ไปโดยสิ้นเชิง

โรยทราย ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องทบทวนแก้ไขความร่วมมือต่าง ๆ กับทางการเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลทหารชุดนี้มีศักยภาพที่จะกุมอำนาจได้น้อยลงเรื่อย ๆ

“นี่คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องแก้ไขให้ได้” เธอกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง