ผู้นำอาเซียนย้ำความสำคัญในสิทธิการเดินทะเล-เดินอากาศโดยเสรี ในทะเลจีนใต้
2020.06.26
กรุงเทพฯ

ในวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกล โดยย้ำให้ประเทศสมาชิกเปิดความเชื่อมโยงระหว่างกันให้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการรับมือกับการเผชิญหน้าของประเทศมหาอำนาจ ที่อาจทำให้ประชาคมอาเซียนถูกบังคับให้เลือกข้าง
ทั้งนี้ ผู้นำสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน ยังได้กล่าวย้ำถึงเรื่องความมั่นคง และสิทธิการเดินทะเล และการเดินอากาศเสรี ในทะเลจีนใต้
“เราได้เห็นการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ การเพิ่มขึ้นของกระแสชาตินิยม และต่อต้านโลกาภิวัตน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพระหว่างประเทศ และท้าทายระบบพหุภาคีนิยม อาเซียนจึงควรร่วมมือกันต้านกระแสเหล่านี้ เสริมสร้างระบบภูมิภาคนิยมให้เข้มแข็ง และส่งเสริมช่วยเหลือเกื้อกูลระดับโลก ผนึกกำลังในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค หลีกเลี่ยงการถูกบังคับให้เลือกข้าง” พลเอกประยุทธ์กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนสิงหาคมที่แล้ว นายไมเคิล ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้สมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนออกเสียงต่อต้านสิ่งที่นายไมเคิล เรียกว่า “การบังคับขู่เข็ญของประเทศจีน” ที่สืบเนื่องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ ในขณะที่ได้เน้นย้ำว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียน “เลือกข้าง” ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งแต่อย่างใด
“...และต้องเป็นสะพานเชื่อมโยงมหาอำนาจ ที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับภูมิภาค ใช้มุมมองของอาเซียนต่ออินโดแปซิฟิกให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้อาเซียนสามารถรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ทั้งทางบก อากาศ และ ทางทะเล ด้วยการเจรจาหารือร่วมกัน และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มอาเซียน ก่อตั้งในปี 2510 เป็นการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่ชาติมหาอำนาจอย่างประเทศจีน มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้ ที่คาดว่ามีน้ำมันดิบมากมาย กับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนบางประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน จนทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาค โดยที่สหรัฐอเมริกาได้พยายามรักษาสิทธิการเดินทะเลและการเดินอากาศโดยเสรี ในและเหนือน่านน้ำแห่งนี้ด้วย ในขณะที่อาเซียนเองพยายามสร้างสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจ
ด้านประเทศสมาชิกได้ย้ำถึงความสำคัญของการรักษาและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความปลอดภัย และเสรีภาพในการเดินเรือ การเดินอากาศในทะเลจีนใต้ รวมทั้งการธำรงไว้ซึ่งกฎหมายสากล ที่รวมถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล 1982 การทำงานร่วมกันในการวางปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ และการนำประมวลแนวการปฏิบัติในทะเลจีนใต้มาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวทางกฎหมายสากล
นอกจากนั้น ยังได้ย้ำถึงการไม่ใช้กำลังทหาร และควบคุมกิจกรรมของตนเองที่อาจจะสร้างความซับซ้อนให้กับปัญหามากยิ่งขึ้น หรือยกระดับความขัดแย้ง ที่มีผลกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคง รวมทั้งการกระทำใด ๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ยุ่งยากขึ้น
3 แนวทางขับเคลื่อนอาเซียน ยุคหลังโควิด19
ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสนอ 3 แนวทางในการขับเคลื่อนอาเซียน ในยุคหลังโควิด19
ประการแรก อาเซียนควรเร่งดำเนินการในการเปิดความเชื่อมโยงระหว่างกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้า เพื่อช่วยฟื้นฟูธุรกิจและการเดินทาง โดยอาจพิจารณาจากความเป็นไปได้ในการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศสมาชิกที่มีความพร้อมก่อน สร้างช่องทางพิเศษสำหรับนักธุรกิจ ประชาชน บนพื้นฐานของมาตรการด้านสาธารณสุขที่ยอมรับร่วมกัน
ประการที่สอง อาเซียนควรเร่งลงนามในความตกลงทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (Regional Comprehensive Economic) เพื่อช่วยในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และ 10 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจดิจิตัล คือกุญแจสำคัญที่จะเพิ่มมูลค่าจีดีพีของอาเซียนให้สูงขึ้น 1.3 ล้านล้านดอลล่าห์สหรัฐ อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตาม “โมเดลเศรษฐกิจ BCG”
ประการที่สาม อาเซียนควรมีการสร้างภูมิคุ้มกันระยะยาว โดยประเทศไทยจะร่วมบริจาคเงินจำนวน 100,000 ดอลล่าห์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนกองทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางสาธารณสุข และส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวขอบคุณเพื่อนประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้ดูแลช่วยเหลือคนไทยในแต่ละประเทศ และอำนวยความความสะดวกในการส่งคนไทยเหล่านั้นกลับบ้าน พร้อมกล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยก็ได้ดูแลให้ความช่วยเหลือพลเมืองของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ได้รับผลกระทบ และอำนวยความสะดวกให้เดินทางกลับ รวมจำนวนกว่า 18,000 คน