คณะพูดคุยสันติสุขกล่าว รัฐได้ตอบสนอง สองข้อเรียกร้องของมาราปาตานี

โดย นาตาลี ศรีสุจริต และ นาซือเราะ
2015.08.28
TH-TALK-REVIEW-620 พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข แถลงข่าวเรื่องการดำเนินการกระบวนการสันติภาพกับกลุ่มมาราปาตานี เมื่อ 28 ส.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์ที่ 28 ส.ค. 2558 พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้กล่าวในการแถลงข่าวที่กองบัญชาการกองทัพบกว่า ทางรัฐบาลได้ให้การตอบสนองแก่ข้อเรียกร้องของฝ่าย มาราปาตานี โดยทางพฤตินัยอยู่แล้ว และเหลือเพียงการให้การคุ้มครองทางกฎหมายแก่คู่เจรจา หรือ Party B ที่ต้องตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการ

พลเอก​อักษรา ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไทย หลังจากที่กลุ่มมาราปาตานีได้เสร็จสิ้นการแถลงข่าวเรื่องผลการพูดคุยกับทางการไทยไปเมื่อวาน ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่ส่วนหนึ่งทางมาราปาตานี ได้ย้ำข้อเสนอสามข้อคือ การยอมรับความชอบธรรมของกลุ่มมาราปาตานีว่าเป็นคู่เจรจา การยกระดับปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ และการขอความคุ้มครองทางกฎหมายแก่ผู้แทนของกลุ่ม

“คณะพูดคุยฯ ได้มีคำตอบทั้งสามข้ออยู่แล้ว ดังนี้คือ การยอมรับในองค์กรนั้น เราให้การยอมรับอยู่แล้วในฐานะ Party B ที่มาร่วมพูดคุยสันติสุข แต่องค์กรจะได้รับการยอมรับจากสังคมหรือไม่นั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับแนวทางต่อสู้ขององค์กรว่าใช้แนวทางใด ระหว่างการใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธี  ถ้าหากมาราเองยืนยันในแนวทางสันติ  ก็ย่อมได้รับการสนับสนุนยอมรับจากประชาชนเช่นเดียวกัน” พลเอกอักษรากล่าว

“ในเรื่องขอให้การพูดคุยสันติสุขเป็นวาระแห่งชาติ คงต้องอธิบายอีกครั้งว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบายในเรื่องนี้ให้มีความต่อเนื่องไว้แล้ว (นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2558 – 2564) โดยคณะพูดคุยฯ ฝ่ายไทย (Party A) ก็ล้วนแล้วแต่ประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการในตำแหน่งหลักที่มีความสำคัญ และไม่ติดยึดกับตัวบุคคล เพราะเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง และฝ่าย “มารา” (Party B) ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องจัดผู้แทนมาร่วมพูดคุยกับเราในจำนวนสมาชิกที่เท่ากัน จึงไม่ต้องห่วงเรื่องการเป็นวาระแห่งชาติ และความต่อเนื่อง” พลเอกอักษรา กล่าวเพิ่มเติม

สำหรับเรื่องสุดท้าย คือ การคุ้มครองให้ความปลอดภัยทางกฎหมาย ในเรื่องนี้เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมและเกี่ยวข้องกับหลายส่วนราชการ โดยต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ เพราะจะมีผลทางกฎหมาย และความร่วมมือของส่วนราชการด้านความมั่นคงหลายหน่วยงานที่จะผิดพลาด หรือเลือกปฏิบัติไม่ได้ ทุกคนย่อมได้สิทธิเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายไทย

“โดยในเรื่องนี้จำเป็นต้องจัดตั้ง Joint Working Group หรือ “คณะทำงานร่วม” ขึ้นมาเพื่อจัดทำร่างรายละเอียดของการดำเนินการให้ตรงความต้องการของทุกฝ่ายต่อไป โดยท่านนายกรัฐมนตรี พร้อมยินดีให้การสนับสนุน” พลเอกอักษรากล่าว

นอกจากนั้น พลเอก​อักษรา กล่าวถึงข้อเสนอจากฝ่ายไทย ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง

“ผมขอเรียนถึงข้อเสนอของฝ่ายเราทั้งสามข้อ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของพื้นที่ การพัฒนาในพื้นที่เฉพาะเรื่องสำคัญที่ต้องรีบทำก่อน  รวมทั้ง การให้โอกาสทุกคนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยเท่าเทียมกัน ล้วนทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียงของคณะพูดคุยฯ แต่อย่างใด”

“ตัวจริง” หนึ่งในมาราปาตานี

เมื่อวันศุกร์ 28 ส.ค. นี้ หลังจากการเปิดตัวของ มาราปาตานี วานนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้ให้ความเห็นต่อนัยยะกระบวนการพูดคุย และสันติสุขที่จะนำสู่คนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

“ในส่วนกรณีเป้าหมายสูงสุดของขบวนการ คือแผ่นดิน คือเอกราช แต่เงื่อนไขเหล่านี้ อยู่ที่การพูดคุย อาจเป็นเขตปกครองพิเศษก็ได้ แต่ทั้งหมด ก็ต้องให้ประชาชนเป็นฝ่ายตัดสิน” ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าว แก่ เบนาร์นิวส์

“นี่คือการแสดงอุดมการณ์ของขบวนการที่ชัดเจน ขบวนการมีเป้าหมายการต่อสู้ เขาไม่ได้เปลี่ยน อีกด้านหนึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า การเจรจาอาจมีการปรับตัว มีการต่อรองเป็นช่องทางโดยไม่ใช้ความรุนแรงต่อสู้ ซึ่งอาจจะปรับมาเป็นการปกครองตนเอง ถือเป็นหัวใจสำคัญ ของการพูดคุยของทั้งสองฝ่าย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว แก่ เบนาร์นิวส์

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยังได้กล่าวในบทสัมภาษณ์ ที่ตีพิมพ์ ในเวบไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ วันนี้ว่า

“ผมคิดว่าเป็นตัวยืนยันอยู่อย่างหนึ่ง บีอาร์เอ็นมองเห็นประโยชน์ และยอมรับกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่ถึงไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีคนของบีอาร์เอ็นมาร่วมด้วยอย่างเป็นทางการ เขาก็รู้อยู่ว่าคนที่เป็นตัวนำของเขาคือ สุกรี ฮารี ก็ถือว่าเป็นตัวจริง” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

“ก็ขึ้นอยู่กับการมอง ดูทัศนะของทางฝั่งผู้นำรัฐบาลในขณะนั้นนะครับ พอจะยอมรับกันให้มันเข้าสู่ในวาระของชาติได้หรือไม่ ส่วนของ มาราปาตานี ที่ต้องการให้เป็น เพราะกลัวจะไม่แน่นอน ถ้ารัฐบาลเปลี่ยนแล้วมันจะเปลี่ยนไปอีก แต่ถ้าเป็นวาระแห่งชาติ หมายความว่าเข้าไปสู่กระบวนการของรัฐสภา หรือเป็นวาระที่รับรองโดยสภา อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดความมั่นใจได้มากขึ้น ทางรัฐบาลจะต้องพิจารณา หากเป็นไปได้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความสบายใจมากขึ้นต่อกระบวนการพูดคุยนี้”

“ระยะสั้นคิดว่ายังไม่มี ยังไม่เห็นภาพชัด ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น ... หลังจากที่มีการเปิดเวทีพูดคุยกันแล้ว ผมยังมีความเชื่อมั่นว่ามันน่าจะมีผลต่อการลดความรุนแรงได้อยู่เหมือนกัน แต่เราก็ประมาทไม่ได้ เพราะว่าก็ยังมีกลุ่มคนไม่เห็นด้วยอยู่เหมือนกัน ก็ต้องดูกันต่อไป” ผศ.ดร.ศรีสมภพ ในบทสัมภาษณ์ ที่ตีพิมพ์ใน เวบไซต์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

การเริ่มต้นใหม่ในกระบวนพูดคุยสันติสุข มาถูกทางแล้ว

การประชุมลับที่ผ่านมา ที่ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันอังคารที่ 25 ส.ค. ระหว่างสองฝ่าย คือ คณะผู้แทนของรัฐบาลไทย และกลุ่มเจรจาตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น หมายถึงกระบวนการพูดคุยสันติสุขได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง อย่างเป็นทางการ หลังจากที่สะดุดไปเมื่อปลายปี 2556 โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เพื่อยุติความรุนแรงที่ดำเนินมากว่าทศวรรษ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตกว่า 6,000 คน ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็น เมื่อวันศุกร์ 28 ส.ค. 2558 นี้

นับว่าเป็นความพยายามที่เห็นผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ เนื่องจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้ออกมาเปิดตัวต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกนั้น แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะหาทางทางออกร่วมกัน จากความขัดแย้งกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ที่คุกรุ่น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

"ตัวแทนบางคนในกลุ่มเจรจาฝ่ายผู้เห็นต่างนี้ ยังเคยมีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพครั้งอดีต สมัยรัฐบาลนางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 แต่เวลานั้น ไม่ได้เปิดเผยตัวกับสื่อ" นักวิเคราะห์ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์

"เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ยังคงมีพื้นที่สำหรับการเจรจาต่อรองอีก ซึ่งย่อมหมายถึงกลุ่มมาราปาตานี ที่ออกมาเปิดตัวต่อสาธารณะ ก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในภารกิจแทนคนของตน” รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช กล่าวแก่ เบนาร์นิวส์ อดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าวเอพี และอดีตนักวิเคราะห์ ของอินเตอร์แนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ ในกรุงบรัสเซลส์ ที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและป้องกันความขัดแย้งทั่วโลก

"อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยจะต้องพร้อมที่จะพูดคุย เกี่ยวกับการกำกับดูแลในภาครัฐ และการปรับโครงสร้างในการแบ่งแยกอำนาจการปกครอง ระหว่าง กรุงเทพฯ และ ปัตตานี มิฉะนั้นกระบวนการก็จะไร้ประโยชน์"

ผู้ได้รับผลกระทบจากแดนใต้ ให้โอกาสกระบวนสันติสุข

นางยาแมะอะ มะนาหิง อดีตภรรยาของนายอับดุลเลาะ สุหลง ที่ถูกยิงเสียชีวิตในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อต้นปี 2551 กล่าวว่า กรณีการเปิดตัวของ มาราปาตานี เป็นเรื่องที่ดี ถ้าคนเหล่านั้น จะสามารถยุติเหตุการณ์ได้

“เพราะสิบเอ็ดปีที่มีเหตุการณ์ความรุนแรง ประชาชนเดือดร้อน ผู้หญิงกี่พันคน ต้องกลายเป็นหญิงหม้าย เด็กกี่พันคนที่ต้องกลายเป็นเด็กกำพร้า เพราะน้ำมือคนเหล่านั้น มีแต่ความสูญเสีย เมื่อมีโอกาสสร้างความสงบก็อยากให้สงบจริงๆ” นางยาแมะอะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“สามข้อเรียกร้องที่รัฐขอ และสามข้อเรียกร้องที่มาราขอ คิดว่าถึงเวลาที่ทั้งรัฐเอง และมาราต้องหยุด แล้วคิดทำเพื่อประชาชนจริงๆ สักที ไม่ว่าจะรับได้หรือไม่ได้ ก็ขอให้รับข้อเสนอของแต่ละฝ่าย เพราะทุกวันนี้ ประชาชนเดือดร้อนจริงๆ เดือดร้อนมาก เดือดร้อนมานานแล้ว คนสองฝ่ายทะเลาะกัน แต่สุดท้ายคนที่เดือดร้อนคือประชาชน”

“ไม่ว่าการพูดคุยระหว่างทั้งสองกลุ่มจะสรุปว่าอย่างไร เชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการที่สุดคือความสงบสุข จะสงบด้วยวิธีไหนก็ยอมรับได้หมด ขอแค่อย่างเดียว อย่าให้มีคนที่ต้องตาย ต้องสูญเสียเพราะความรุนแรงอีกเลย” นางยาแมะอะกล่าว

ทางด้านนางสาวอาอีดะ  บือราเฮง ผู้สูญเสียน้องชายจากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ยิงชาวบ้าน ที่บ้านปูโล๊ะปูโย อ. หนองจิก จ. ปัตตานี เสียชีวิต 4 คน ได้รับบาดเจ็บ 5 คน เมื่อต้นปี 2555 กล่าวว่า ที่ผ่านมา ขบวนการต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ ส่วนใหญ่มาจากคำที่รัฐเรียก ไม่เคยเห็นตัวขบวนการเหล่านั้นจริงๆ เลยว่า มีตัวตนจริงหรือไม่ แค่การกล่าวอ้างจากรัฐ เพราะสิ่งที่เห็นชัดมาตลอด รัฐก็ใช้ความรุนแรงที่ทำกับประชาชน อย่างเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านปูโล๊ะ ที่ปัตตานี ยังเอาผิดคนร้ายไม่ได้จนทุกวันนี้

“การที่ขบวนการรวมตัวมาเป็นมารา ก็ไม่แน่ใจว่า คนที่ก่อเหตุในพื้นที่จริง คือกลุ่มเหล่านี้ ถ้าใช่ การเปิดตัวของพวกเขา ก็ถือว่ามีความพยายามที่จะสร้างความสงบ แต่ ความสงบจะเกิดขึ้นไม่ได้หากรัฐยังไม่ได้แก้ที่ระบบและความคิดของรัฐเอง” นางสาวอาอีดะ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง