ครม. เคาะเสนอร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเข้าสภา เป็นวาระแห่งชาติ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.01.09
กรุงเทพฯ
ครม. เคาะเสนอร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเข้าสภา เป็นวาระแห่งชาติ สภาพท้องฟ้าเหนือกรุงเทพฯ ในช่วงเช้า หลัง PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้ม เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567
นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้นำการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเสนอ ร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ด้านกรมการแพทย์เตือน ฝุ่นพีเอ็ม2.5 อาจส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้า และส่งผลให้ผู้ใหญ่มีอาการสมองเสื่อม หลังจากที่ปัจจุบัน ทั่วประเทศกำลังเผชิญปัญหาสภาพอากาศอย่างหนัก

“ครม. เห็นชอบ พ.ร.บ. อากาศสะอาดไปเสนอต่อรัฐสภาซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกฤษฎีกาได้ตรวจสอบตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว เป็นการดำเนินการนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงต่อสภาไปเป็นวาระแห่งชาติ” นายเศรษฐา กล่าวหลังการประชุม ครม.

“เรื่อง พีเอ็ม2.5 ที่มีผลต่อสุขภาพต่อพี่น้องประชาชน รัฐบาลยืนยันมีทั้งมาตรการ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อเร่งสร้างอากาศสะอาด สภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ความปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนทุกคน” นายกรัฐมนตรี ระบุ

ในอดีต ประเทศไทยยังไม่เคยมีกฎหมายเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยสำหรับ ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ของรัฐบาล ที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเร็ว ๆ นี้ สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ 1. มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการจัดการอากาศสะอาด ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกรรมการระดับจังหวัดขับเคลื่อนนโยบายทั้งด้านการปฏิบัติ และวิชาการ

2. ทำระบบการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ติดตามเฝ้าระวัง เก็บฐานข้อมูล และกำหนดกรอบการบริหารสภาพอากาศ 3. กำหนดมาตรการการลดและควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด 4. กำหนดเขตเฝ้าระวังและเขตประสบมลพิษทางอากาศ 5. ทำเครื่องมือและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด เช่น กำหนดภาษี ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับอากาศ และ 6. กำหนดความรับผิดทางแพ่งและบทกำหนดโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย

ปัญหาสภาพอากาศในประเทศไทย ถูกพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (2.5 PM) ซึ่งเป็นฝุ่นที่สามารถลอดผ่านรูจมูกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและส่งผลต่อสุขภาพได้ สำหรับประเทศไทย ระบุว่า หากพีเอ็ม2.5 เฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงสูงกว่า 50 มคก./ล.บม. ถือว่าเกินมาตรฐานและเริ่มมีผลกับสุขภาพ ขณะที่ในหลายประเทศกำหนดค่ามาตรฐานที่ 25 มคก./ล.บม.

การผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ระบุว่า กรุงเทพฯ นครราชสีมา นครสวรรค์ พิษณุโลก ลำปาง สุพรรณบุรี และจังหวัดอื่น ๆ รวม 31 จังหวัด กำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่นพีเอ็ม2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยแบ่งเป็นภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐานเกือบทุกพื้นที่ ภาคเหนือ 8 พื้นที่ ภาคตะวันออก 7 พื้นที่ ตะวันออกเฉียงเหนือ 2 พื้นที่ มีเพียงภาคใต้ที่ยังมีสภาพอากาศดี

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้กรมการแพทย์ เผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า หากประชาชนรับฝุ่นพีเอ็ม2.5 มากเกินไป อาจส่งผลกระทบได้ โดยหากฝุ่นถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดอาจมีผลกระทบต่อสมอง

“การศึกษาพบว่ามีการสะสมของอนุภาคฝุ่นพีเอ็ม2.5 ในสมองจริง ในเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงเจริญเติบโต จะพบว่าพัฒนาการของสมองช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้รับพีเอ็ม2.5 มีผลกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบในระบบประสาทส่วนกลาง และหากผลกระทบนี้ลุกลามไปยังสมองที่ทำหน้าที่อื่น จะส่งผลให้การทำงานของสมองในตำแหน่งนั้นผิดปกติไป เช่น ความจำเสื่อม” นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา ระบุ

สำหรับ ร่างพ.ร.บ. อากาศสะอาด นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ คณะกรรมการสภาลมหายใจ เชียงใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า “วิธีแก้ปัญหาที่ผ่านมา เป็นการแก้ชั่วคราว ไม่ได้มีการวิเคราะห์ถึงปัญหาอย่างจริงจัง ฉะนั้นข้อดีของ พ.ร.บ. อากาศสะอาด คือการแก้ไขอย่างเป็นระบบจริง ๆ และคนในพื้นที่ก็น่าจะได้มีส่วนร่วม ซึ่งเป็นแนวทางที่ยั่งยืน เพราะแต่ละจังหวัดจะมีโมเดลแก้ปัญหาเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน”

ขณะที่ ศ.ดร. ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) เคยเปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ประเทศไทยเผชิญปัญหาฝุ่นตั้งแต่ปี 2558 แต่สังคมเริ่มตระหนักในปี 2562 เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อยลงทำให้เห็นปัญหาเด่นชัด การแก้ปัญหาจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน

“ญี่ปุ่นก็เคยเจอปัญหาฝุ่น แต่เมื่อมีการพัฒนาขนส่งมวลชนครอบคลุมทุกที่ ค่าที่จอดรถราคาแพง คนหันมาใช้ขนส่งมวลชนมากขึ้น ปัญหาก็ลดลง สิ่งที่แนะนำคือ การทำงานที่บ้าน ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อยกระดับสิ่งแวดล้อม ถ้าทำได้จริงมันจะลดการใช้รถยนต์มหาศาล เพราะถ้าต้องขับรถตอนเช้า 2 ชั่วโมง เย็น 2 ชั่วโมง ปีนึงเสียเวลาบนท้องถนน 45 วัน มันไม่สมเหตุสมผล” ศ.ดร.ศิวัช กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2566 เชียงใหม่ถูกระบุว่า เป็นหนึ่งในเมืองที่มีสภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดในโลก ด้วยค่าพีเอ็ม2.5 ระดับ 212 มคก./ล.บม. รศ.พญ. บุษยามาส ชีวสกุลยง หัวหน้าหน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการศึกษาและพบว่า ภาคเหนือมีผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่าภาคอื่น โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับพีเอ็ม2.5

ปี 2561-2565 พบว่า 3 อันดับจังหวัดที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอดมากที่สุด อยู่ในภาคเหนือ คือ ลำปางที่มีผู้ป่วยมะเร็งปอด 45 คน ต่อจำนวนประชากรหนึ่งแสนคน, เชียงใหม่ 41 คนต่อหนึ่งแสนคน และน่าน 38 คนต่อหนึ่งแสนคน ขณะที่กรุงเทพ 24 คนต่อหนึ่งแสนคน ส่วนอันดับสุดท้ายคือ ปัตตานี 6 คนต่อหนึ่งแสนคน

จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง