สหรัฐฯ ปรับยกระดับไทย ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.06.30
วอชิงตัน และ กรุงเทพฯ
TH-trafficking-1000 ผู้อพยพชาวโรฮิงญานั่งในเรือลำหนึ่งที่ลอยเคว้งคว้างในน่านน้ำไทย นอกเกาะหลีเป๊ะ ในทะเลอันดามัน วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
เอเอฟพี

ปรับปรุงข้อมูล 12:30 p.m. ET 2016-07-01

เมื่อวันพฤหัสบดี รัฐบาลสหรัฐฯ ปรับชื่อประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำในการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยให้เหตุผลว่า เพราะไทยมีกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นและมีการดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์มากขึ้น

การปรับยกอันดับดังกล่าวเกิดขึ้นหนึ่งปี หลังจากรัฐบาลทหารภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มมาตรการที่เข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้นกับการค้ามนุษย์ โดยรับปากว่าจะแก้ปัญหาที่รัฐบาลพลเรือนชุดก่อนไม่สามารถทำได้

“มีการสืบสวนเรื่องการค้าแรงงานเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแพร่หลายของแรงงานบังคับในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยยังคงเกิดขึ้นต่อไป” กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวไว้ในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons Report หรือ TIP) ประจำปี 2559

“รัฐบาลไทยเพิ่มความพยายามที่จะลงโทษทางอาญาแก่ข้าราชการที่มีส่วนพัวพันในการค้ามนุษย์ อย่างไรก็ตาม การพัวพันของข้าราชการยังคงเป็นสิ่งที่ขัดขวางความคืบหน้าในการปราบปรามการค้ามนุษย์ต่อไป" รายงานฉบับดังกล่าว กล่าวไว้

TIP เป็นรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ที่มีการวัดประเมินการดำเนินการของแต่ละประเทศ ในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ภายในประเทศนั้น ๆ ประเทศที่อยู่ในอันดับต่ำสุด คือ กลุ่ม Tier 3 อาจมีผลกระทบโดยรัฐบาลสหรัฐอาจระงับ หรือเพิกถอนความช่วยเหลือบางประการ ในระดับทวิภาคี

"เมื่อเราพูดถึง "การค้ามนุษย์" เรากำลังพูดถึงการเป็นทาส – แรงงานทาสในสมัยปัจจุบัน ที่ถึงวันนี้ ยังคงมีมากกว่า 20 ล้านคน ที่ตกเป็นเหยื่อในทุกวันนี้" จอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา กล่าว ในงานประกาศรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี ในวันพฤหัสบดีนี้

"แรงงานทาสสมัยใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศที่มีสงคราม มันมีอยู่ในถิ่นที่ลับตาและที่ ๆ ผู้คนอาศัยอยู่ทั่วไปในทุกมุมโลก - แม้ในทะเล" เขากล่าว ก่อนที่จะเอ่ยยกรายงานบางส่วนจากนิวยอร์กไทม์ส ที่เล่าเรื่องราวของชาวกัมพูชา ซึ่งถูกหลอกค้ามนุษย์มา และถูกล่ามโซ่ตรวน อยู่ในเรือประมง ในประเทศไทย

รองนายกรัฐมนตรีไทยกล่าว: "ข้าราชการที่เหนื่อยมา คงพอใจ"

TIP ปี 2559 จัดอันดับให้ไทยอยู่ในกลุ่ม “Tier 2 Watch List” นั่นคือ ประเทศที่ “กำลังพยายามอย่างมาก” ที่จะให้เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐฯ แต่จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งหมด "มีมากหรือกำลังเพิ่มขึ้นมาก”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มด้านสิทธิมนุษยชน ด้านแรงงานและกลุ่มเคลื่อนไหวอื่น ๆ ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์การปรับอันดับขึ้นของ TIP ให้แก่ประเทศไทยของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐในการจัดอันดับในรายงาน TIP พร้อมกับมีการยื่นจดหมายถึงนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ โดยข้อความตอนหนึ่งในจดหมายกล่าวว่า มันจะ “บั่นทอนความพยายามของนานาประเทศอย่างมากและอย่างถาวร ในการปรับปรุงสภาพการทำงานของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย"

"เราผิดหวังมาก ในการตัดสินครั้งนี้ ซึ่งในมุมมองของเรา เป็นการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จริง" จูดี้ เกียร์ฮาร์ท ผู้อำนวยการ  International Labor Rights Forum – และองค์กรที่ลงนาม – กล่าวในการแถลงข่าว

"แรงงานข้ามชาติยังคงเป็นหนึ่งในกลุ่มอ่อนแอและกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดในประเทศต่อการค้ามนุษย์ และไทยไม่สามารถแสดงถึงความตั้งใจที่จะดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน ที่จะปกป้องพวกเขาจากการถูกแสวงหาผลประโยชน์" จูดี้ เกียร์ฮาร์ท กล่าวเพิ่ม

ส่วน แมทธิว สมิธ ผู้อำนวยการองค์กรฟอร์ตี้ฟายไรท์ และ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการอพยพย้ายถิ่นอย่างผิดกฎหมายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกแถลงข่าวถึง การได้รับการปรับยกอันดับขึ้นของไทย

"2558 เป็นปีแห่งวิกฤติประวัติการณ์ของ การค้ามนุษย์ในประเทศไทย การปฏิบัติของรัฐบาลไทยส่งผลกระทบโดยตรงกับ 'วิกฤตเรือ' ที่สั่นสะเทือนไปทั่วทั้งภูมิภาค เมื่อปีที่แล้ว" แมทธิว สมิธ กล่าว "ประเทศไทยมีการพัฒนาที่สำคัญในเดือนที่ผ่านมา แต่การปรับเลื่อนอันดับขึ้น สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2558 นั้น น่าจะเร็วเกินไป และส่งสัญญานที่ไม่ถูกต้อง ให้กับรัฐบาล"

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมไทย ได้กล่าวถึงข่าวว่าสหรัฐอเมริกาได้ปรับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยจาก Tier 3 เป็น Tier 2 Watch List จริง ข้าราชการที่ทำงานก็จะรู้สึกพอใจมาก

“ไม่รู้ผลจะออกมาอย่างไร แต่ถ้าออกมาดี ข้าราชการก็พอใจนะ ที่เหนื่อยมาก็คงจะพอใจนะ” พลเอกประวิตร กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ในวันพุธวานนี้ ก่อนการเดินทางไปเยือนพม่าเป็นเวลาสองวัน

“เรื่องนี้ เราต้องถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ ที่ท่านนายกให้ความสนใจ และกำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องดำเนินการ” พลเอกประวิตร กล่าวถึงความตั้งใจของประเทศไทยในการพยายามแก้ปัญหาการค้ามนุษย์

ไทยตกไปอยู่ในกลุ่มต่ำสุดของการจัดอันดับของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2557 ไม่นานหลังจากที่ทหารเข้ายึดอำนาจ ในเดือนพฤษภาคม และหนึ่งปีหลังจากนั้นก็ยังถูกจัดอันดับกลุ่ม Tier 3 แม้มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน จะได้รับการเลื่อนขั้นขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม Tier 2 กลุ่มที่ต้องคอยเฝ้าจับตามอง

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ องค์กรสิทธิมนุษยชนของสหรัฐอเมริกา กล่าว ไทยจำเป็นต้องนำกฎหมายใหม่ ที่ช่วยทำให้ไทยได้รับการปรับยกอันดับไปปฏิบัติ

"การเลื่อนอันดับของไทยจะอยู่ได้ไม่นาน ถ้ารัฐบาลไม่ตระหนัก [ว่า] การแก้กฎหมายเท่านั้นไม่เพียงพอ และรัฐบาลต้องเอาจริงเอาจังในการปราบปรามทำลายเครือข่ายผู้ค้ามนุษย์ที่ละเมิดสิทธิและทารุณกรรมแรงงานอพยพ โดยไม่ได้รับการลงโทษแต่อย่างใด” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์

“ยังคงมีความแตกต่างอย่างมากระหว่างรายงานอันสวยหรูของรัฐบาลไทยที่ส่งให้แก่ประชาคมนานาชาติ กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ กับแรงงานอพยพที่อ่อนแอ ความเป็นจริงก็คือ จนถึงปัจจุบัน กฎหมายและข้อบังคับที่เปลี่ยนแปลงไป ยังไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเท่าไรนักกับชีวิตของคนงานชาวพม่า หรือกัมพูชาที่ถูกค้ามนุษย์” เขากล่าว

ตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงอันตราย

รายงานปี 2555 โดยนักวิจัยจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization of Migration หรือ IOM) และสถาบันนโยบายการโยกย้ายถิ่นฐาน (Migration Policy Institute) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเพื่อกำหนดนโยบายสาธารณะของสหรัฐฯ กล่าวว่า ปัจจุบัน ในประเทศไทยมีแรงงานอพยพย้ายถิ่น ประมาณ 3.5 ล้านคน และประมาณหนึ่งล้านคนในจำนวนนี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียน แรงงานอพยพส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ตามรายงานจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

แรงงานอพยพส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการถูกขายไปเป็นผู้ให้บริการทางเพศ หรือแรงงานทาสบนเรือประมง

ประเทศไทยยังเป็นประเทศทางผ่านสำหรับการลักลอบขนคนหรือค้ามนุษย์ ไปยังประเทศที่สามด้วย รวมถึงผู้อพยพชาวบังกลาเทศและชาวมุสลิมโรงฮิงญาที่หนีการกดขี่ทารุณกรรมในประเทศเมียนมา

ในเดือนพฤษภาคม 2558 ไทยเริ่มมาตรการกวดขันการอพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย หลังจากพบซากศพผู้ต้องสงสัยว่าลักลอบอพยพเข้าประเทศผิดกฎหมาย ที่ค่ายกักกันของผู้ค้ามนุษย์ในป่า จังหวัดสงขลา ใกล้พรมแดนไทยกับมาเลเซีย

จากการค้นพบ จนมีการกวาดล้างดังกล่าว ทำให้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาจำนวนเก้าสิบสองคน รวมทั้ง อดีตนายทหารระดับพลโทนายหนึ่ง และนี่ถือเป็นการพิจารณาคดีค้ามนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

แมทธิว สมิธ จากฟอร์ติไฟไรท์ บอกแก่เบนาร์นิวส์เมื่อเดือนเมษายนว่า สถานการณ์ของเหยื่อการค้ามนุษย์ “ดีขึ้นมาก” ในบางอย่าง ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

“ในเวลานี้ เมื่อปีที่แล้ว มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนถูกกักตัวไว้ในค่ายกักกัน ในประเทศไทย ปัจจุบัน ไม่มีค่ายเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว” แมทธิว สมิธ ผู้อำนวยการ ฟอร์ตี้ฟายไรท์ (Fortify Rights) กล่าว

เขากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีหลุมศพบางแห่งที่ยังไม่ได้ถูกค้นพบและดำเนินการสืบสวน

“ตัวผมเองได้ไปยังหลุมฝังศพหลายแห่งที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในการขุดพบเมื่อปีที่แล้ว เรามีเหตุผลให้เชื่อว่า มีศพจำนวนมากถูกฝังอยู่ในบริเวณนั้น ในบางพื้นที่ของจังหวัดสงขลา และพื้นที่อื่น ๆ ในภาคใต้ น่าจะดีกว่า หากรัฐบาลไทยดำเนินการสอบสวนต่อไป เพราะปัจจุบัน การสอบสวนได้ยุติลงแล้ว

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 6 องค์กรเอ็นจีโอของไทยและระหว่างประเทศ ได้กดดันรัฐบาลไทยยุติ “การกักตัวโดยพลการและไม่มีกำหนดเวลา” ต่อผู้ลี้ภัย และให้การคุ้มครองพยานที่ให้ปากคำในศาลเกี่ยวกับคดีการค้ามนุษย์

อดีตนายตำรวจนายหนึ่ง หัวหน้าทีมสอบสวนคดีการค้ามนุษย์ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ต้องขอลี้ภัยไปยังออสเตรเลียเมื่อปลายปี 2558 โดยกล่าวว่า เขาเกรงจะถูกหมายเอาชีวิต

พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ และคณะของเขาได้ยื่นฟ้องผู้ต้องสงสัยจำนวน 153 คน รวมทั้งข้าราชการทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และนักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลในทางภาคใต้ของไทย พล.ต.ต. ปวีณ บอกแก่ผู้สื่อข่าวในออสเตรเลียว่า ผู้ทรงอิทธิพลในรัฐบาล กองทัพ และกรมตำรวจ ได้สั่งยุติการสอบสวนที่เขากำลังทำอยู่

"ผู้มีอิทธิพลบางคนไม่พอใจ” เกี่ยวกับการออกหมายจับผู้ต้องสงสัยที่เป็นสมาชิกขบวนการค้ามนุษย์" พล.ต.ต. ปวีณ บอกแก่บีบีซีนิวส์

* รายงานเพิ่มเติม ความคิดเห็นขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิเแรงงาน สหรัฐอเมริกาและระหว่างประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง