ไทยแถลงต่อสหประชาชาติถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชน พร้อมข้อวิพากษ์จากนานาชาติ
2016.05.11
กรุงเทพฯ

แก้ไขข้อมูล 9:15 a.m. ET 2016-05-12
องค์กรเอ็นจีโอในประเทศไทย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับปรุงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศให้ดีขึ้น โดยผ่านทางกระบวนการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยได้แถลงรายงานกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ที่เจนีวาในวันพุธ (11 พ.ค. 2559) นี้
กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Report) เป็นกระบวนการที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Right Council -- UNHRC) ได้จัดให้มีขึ้นทุกๆ สี่ปี โดยมีสมาชิก 105 ประเทศ จากประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้งหมด 193 ประเทศ เข้าร่วมฟังรายงานของประเทศไทย ในครั้งที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกได้มีข้อเสนอให้ไทยปรับปรุงเรื่องต่างๆ 238 หัวข้อ
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติคาดว่าจะสามารถเสนอข้อเสนอแนะ สำหรับประเทศไทยได้ในวันศุกร์นี้
ในกรุงเทพ ในวันนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น ยูพีอาร์อินโฟ (UPR Info) กลุ่มภาคประชาสังคมไทยเพื่อยูพีอาร์ ฟอรั่มเอเชีย (Forum Asia) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLAW) มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติ และสหภาพยุโรป ได้ร่วมจัดงานถ่ายทอดสดมายังประเทศไทย เพื่อให้นักข่าวในพื้นที่ได้รับทราบ
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนของทางการไทย ได้กล่าวในการแถลงรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เจนีวา ว่า "เราหวังว่า เราทั้งหมดจะเรียนรู้ไปด้วยกัน จากการทบทวนวันนี้"
และกล่าวอีกท่อนหนึ่งว่า “เราต้องการจะทำความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชน ในขณะที่เรากำลังปฎิรูปประเทศ อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐแต่เพียงผู้เดียว แต่เป็นหน้าที่ของสังคมโดยรวม เรื่องการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน รัฐบาลทำให้สังคมเข้าใจในสิทธิของตน ปกป้องสิทธิของตน และไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น”
นายชาญเชาวน์ ยังได้กล่าวถึง การให้การช่วยเหลือผู้อพยพย้ายถิ่นว่า ไทยได้ให้ที่พักพิงและเมื่อเร็ว ๆ นี้ อนุญาตให้คนเหล่านั้นทำงานได้
เอ็นจีโอ: ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ตาม องค์กรเอ็นจีโอด้านสิทธิ เห็นว่าประเทศไทย ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ดีเพียงพอ โดยในสาระสำคัญ ยังมีการบังคับบุคคลให้สูญหายในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา การไม่ปกป้องนักสิทธิมนุษยชน และการปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชน
“ภายในปีสองการอุ้มหายหรือการบังคับให้สูญหายกับนักปกป้องสิทธิฯ สองคน คือ บิลลี่ และล่าสุดพ่อเด่น ที่เป็นนักปกป้องที่ดินที่โคกยาวที่ จ.ชัยภูมิ ส่วนบิลลี่นั้น ที่แก่งกระจาน มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย” น.ส.ณัฐพร อาจหาญ ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม กล่าว
“แต่กระบวนการสืบหาก็เป็นไปอย่างล่าช้า และมันมีกระบวนการที่คุกคามคนที่ตามหาความจริงเหล่านี้ด้วย” น.ส.ณัฐพร กล่าวเพิ่มเติม
นายสุนัย ผาสุก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนั้น ยังมีการคุกคามกลุ่มนักสิทธิมนุษยชนถึงชีวิตหรือการบังคับให้สูญหายไป ทั้งๆ ที่ในกระบวนการยูพีอาร์รอบที่แล้วไทยได้ให้สัญญาว่า จะปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน
“มีคดีค้างเก่า ตั้งแต่ยูพีอาร์รอบที่แล้วถึงปัจจุบัน มีนักสิทธิมนุษยชนเสียชีวิตไปแล้วกว่าสามสิบคน ความคืบหน้าในการเอาตัวตนผิดมาลงโทษมีน้อยมาก” สุนัย กล่าว
ข้อมติสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 61 ปี 2549 ได้เปิดให้มีการลงนาม ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และมีผลบังคับใช้ในปี 2553 โดยมีประเทศร่วมเป็นภาคีแล้วกว่า 90 ประเทศ ประเทศไทยได้ลงนามแล้วแต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน และออกกฎหมายตามมา
และในวันนี้ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศไทยผ่าน พรบ.ป้องกันการทรมานและการอุ้มหายอีกด้วย
นอกจากนั้น นายสุนัย ยังกล่าวว่า หน่วยงานรัฐบาลมีการล้างแค้นนักสิทธิมนุษยชน ที่รายงานเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้วยการตั้งข้อกล่าวหาการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือกล่าวหาเจ้าหน้าที่ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ ส่วนภาคเอกชน ใช้การฟ้องหมิ่นประมาททางอาญา หรือพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์
ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก องค์กรเอ็นจีโอ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย ยกเลิกมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรี ในการออกคำสั่งในเรื่องต่างๆ เช่น คำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 เป็นต้น ที่ห้ามการแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ รวมทั้ง ขอให้ยกเลิกคำสั่งที่ให้อำนาจศาลทหารไต่สวนพลเรือน
นายสุนัย ผาสุก กล่าวว่า ในยุคอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร คุกคามสื่อมวลชนด้วยการให้ธุรกิจในเครือสั่งถอนโฆษณา หรือการถอนในอนุญาตการดำเนินธุรกิจ แต่ภายใตรัฐบาลปัจจุบัน สามารถใช้อำนาจได้โดยตรง ในการเซ็นเซ่อร์ หรือสั่งห้ามสื่อมวลชนไม่ให้รายงานในทางลบต่อรัฐบาล
“ตอนนี้ อำนาจมีมากกว่านั้นเยอะ คือไม่ต้องมาใช้วิธีอ้อม ในการยกเลิกโฆษณา การถอนใบอนุญาต แต่คำสั่งที่ออกมาภายใต้มาตรา 44 สามารถใช้ได้เลย ก็มีการตั้งคำถามของการเซ็นเซ่อร์ในยูพีอาร์ด้วย” นายสุนัยกล่าว
“ในยุคก่อนการใช้กฎอัยการศึก และในยุคต่อมาใช้คำสั่ง คสช. ต่อสื่อหลักๆ ต่อมาเรื่องสื่อออนไลน์มีการเซ็นเซ่อร์... เรื่องของการเอานักข่าวเข้าสู่กระบวนการปิดปาก และการห้ามเดินทางออกนอกประเทศ” นายสุนัยกล่าวเพิ่มเติม
ในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในวันอังคารนี้ว่า การจับบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดต่อ พรบ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งทางการเมือง หรือ การทำประชามติร่างรัฐธรรรมนูญ
“เขาทำผิด พรบ. คอมพิวเตอร์หรือเปล่า ทำวันนี้วันหน้าก็โดนจับ ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง หรือประชามติ เข้าใจหรือยัง?” นายกรัฐมนตรีกล่าว
* แก้ไขข้อมูล บรรทัดคำกล่าวของ นาย ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ