ประเทศไทย: 7 วันอันตราย ตาย 478 ราย สูงสุดรอบ 10 ปี

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.01.05
กรุงเทพฯ
TH-accident-road-620 ซากรถโตโยต้าฟอร์จูนเนอร์ที่พังยับเยินถูกลากไปที่จอดรถ หลังจากชนกับรถสองแถว ในเขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2560
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดี (5 มกราคม 2560) นี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดในช่วง 7 วันอันตราย ของการเดินทางช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาว่า เกิดอุบัติเหตุ 3,919 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 478 ราย ถือว่ามีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่มีการเก็บสถิติ โดยชี้ว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น มาจากปริมาณรถที่เดินทางสัญจรมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา

นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ.2560 กล่าวว่า ช่วงระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2559-4 มกราคม 2560 มีปริมาณรถบนท้องถนนทั้งขาเข้าและขาออกกรุงเทพฯ จำนวน 11,053,835 คัน เมื่อเทียบกับช่วงปกติ มีปริมาณรถ 8,765,808 คัน เพิ่มขึ้น จำนวน 2,288,027 คัน คิดเป็นร้อยละ 26.10 จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น

“ตัวเลขเฉพาะของรถยวดยานพาหนะที่สัญจรไปมา 11 ล้านคันโดยประมาณ จริงๆ แล้วมากกว่านี้นิดหน่อย สูงกว่าปีที่แล้ว 2.2 ล้านคัน เพราะฉะนั้นตัวเลขที่เราดำเนินการในขณะนี้ ถึงแม้จะมีการตรวจวัดต่างๆ มีการดำเนินการอย่างสมบูรณ์แล้ว ตัวเลขของการใช้ยานพาหนะในปีนี้สูงมาก เพราะฉะนั้นมันก็เป็นสัดส่วนของการที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ค่อนข้างมาก” นายสุธีระบุ

จากการรวบรวมตัวเลขอุบัติเหตุทางถนนสะสม 7 วัน (29 ธ.ค.59- 4 ม.ค.60) ของกรมควบคุมและบรรเทาสาธารณภัยพบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 3,919 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 478 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 4,128 คน ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 52.22 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 81.82 รถกระบะ ร้อยละ 8.00 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 36.59 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 31.31

อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 61.78 ถนนทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 36.92 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.49 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 29.24

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ ชลบุรี (33 ราย) จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี และเชียงใหม่ (152 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และอุดรธานี (164 คน)  จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 4 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง และสตูล

นายสุธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วง 7 วันอันตรายที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคม ได้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่จากฝ่ายต่างๆ ในการช่วยดูแลอำนวยความสะดวก และป้องกันอุบัติเหตุ โดยเป็นการขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง และอาสาสมัครรวมทั่วประเทศกว่า 4,700,000 คน เรียกตรวจยานพาหนะรวม 4,419,430 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 727,438 ราย อย่างไรก็ตาม ยังพบจุดแข็งและจุดอ่อนของการดำเนินการอยู่ ซึ่งจุดอ่อนที่พบจะได้นำไปปรับปรุงให้ดีขึ้นในช่วงวันหยุดยาวเดือนเมษายน หรือช่วงวันสงกรานต์ 2560 นี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง