รัฐเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ เร่งเสริมทักษะการออม

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2018.02.26
กรุงเทพฯ
180226-TH-aging-society-1000.jpg นักเรียนโรงเรียนผู้สูงวัยเดินแถวเข้าชั้นเรียน ณ เทศบาลพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2559
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวกับผู้ร่วมงาน ผู้สูงอายุไทย ก้าวไกลไทยแลนด์ 4.0 "สร้างวินัยการออม ชีวิตพร้อมเมื่อสูงวัย” ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ โดยเฉพาะวินัยการออม เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในอีกสองปีข้างหน้า ให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่อย่างพึ่งพาตัวเองได้ หลังการสำรวจพบว่าหนี้ภาคครัวเรือนขยายตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ถึง 91.1% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

“จากการติดตามและประเมินผล แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ทุกระยะ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี ที่ผ่านมา พบว่าคนไทยไม่มีการเตรียมความพร้อมเรื่องการออมเงิน โดยผลจากการประเมินยังพบว่า จำนวนคนที่มีการเตรียมความพร้อมเป็นผู้สูงอายุมีน้อยกว่า 30% จึงนับเป็นความท้าทายของประเทศในการรับมือกับสังคมสูงวัยทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคมโดยรวม” รมว.พม. กล่าว

จากผลสำรวจสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปี 2560 พบว่าครัวเรือนไทยเป็นหนี้มากกว่า 91.1% ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี มีเพียง 8.9% เท่านั้นที่ไม่มีหนี้ ซึ่งคนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่จำนวน 32.4% เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป รองลงมา 30.5% เป็นหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สิน เช่น บัตรเครดิต โดยการเปิดเผยของเครดิตบูโร พบว่า กลุ่มคน Gen Y หรือกลุ่มคนวัยเริ่มต้นทำงานใหม่ อายุต่ำกว่า 30 ปี มีแนวโน้มเป็นหนี้บัตรเครดิต และใช้สินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้นและเป็นหนี้เสียเร็วขึ้น โดยสรุปแล้ว ประชาชนเพียง 30% มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ ส่วนอีก 70% ยังไม่มีความพร้อม

การกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภาคีเครือข่ายบูรณาการคณะทำงานประชารัฐเพื่อสังคม ให้ความรู้ในการสร้างวินัยการออม โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้แนะนำการหาเงินรายได้เสริมในแต่ละเดือน การทำบัญชีเงินออม เช่น เงินออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน เงินออมเพื่อเกษียณ การใช้เงินอย่างฉลาดและรู้ขยายดอกผล คือ การนำเงินออมไปลงทุนในทางเลือกต่างๆ เช่น หุ้น ทองคำ กองทุนรวม หรือ อสังหาริมทรัพย์ ที่สำคัญในแต่ละเดือนควรออมเงินไว้ส่วนหนึ่งตามรายได้หลัก ประมาณ 5-10% ของรายรับและไม่ควรใช้เงินจำนวนนี้เลย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ

นางรำไพ เอกโชติ ชาวนาจากจังหวัดขอนแก่น อายุ 68 ปี เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ ว่าไม่ได้มีการวางแผนเรื่องการออมเงิน หรือการนำเงินลงทุนไปให้ออกดอกออกผล เพียงแต่ดูแลสุขภาพให้ดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็เพียงพอแล้ว

“ไม่ได้กังวลเรื่องสถานะทางการเงิน พยายามบริหารรายได้ที่มีอยู่ให้ลงตัว ไม่ได้อยากเพิ่ม ไม่ได้อยากรวย แต่ไม่สร้างหนี้สินเพิ่ม ไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวอะไร มั่นใจว่าไม่น่ามีปัญหา ทำปัจจุบันให้ดี กินอาหารตรงตามเวลา ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็เพียงพอแล้ว ถ้าตายไปก็บริจาคร่างกายไปแล้วไม่เป็นภาระกับลูกหลาน” นางรำไพ เอกโชติ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับเบนาร์นิวส์

รัฐ-เอกชน เตรียมความพร้อมสังคมผู้สูงอายุ

ข้อมูลของสหประชาชาติ ในภาวะประชากรผู้สูงอายุ (United Nations World Population Aging) พบว่า หลังจากปี 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิงได้แก่ เด็กและผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน และในปี 2560 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กมีน้อยกว่าผู้สูงอายุ สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธ์ุอย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งภาวะดังกล่าวมีความสําคัญ และส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุกด้านของสังคม

ทั้งนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รายงานจำนวนประชากรไทยปัจจุบันประมาณ 65.9 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ 10.5 ล้านคน หรือร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งหมด ถือได้ว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) ตั้งแต่ปี 2548 และคาดว่าจะมีสถานะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในปี 2564 คือ มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่เด็กเกิดใหม่มีอัตราลดลง

ส่งผลให้สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มรูปแบบเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประเมินไว้ ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างเร่งให้ความสำคัญในเรื่องการเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเงินของผู้สูงวัย เพิ่มขึ้นจากการเตรียมความพร้อมทางด้านสังคม

นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ระบุว่า กรมฯ ได้เตรียมกิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุตลอดทั้งปี 2561 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ จะได้จัดแสดงนวัตกรรมความรู้ทางการเงิน เพื่อสังคมผู้สูงอายุ (Innovation in Financial Literacy for Ageing Society) มาเผยแพร่ให้แก่ผู้สูงอายุและคนทุกช่วงวัย เพื่อการเตรียมความพร้อมในการเป็นสังคมผู้สูงอายุ รวมถึงนวัตกรรมด้านสาธารณสุข อาหาร เครื่องแต่งงาน ในเดือนต่อไป

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครั้งล่าสุดในปี 2557 พบว่าแหล่งรายได้หลักในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุมาจากบุตรถึง 36.7% รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 33.9% เบี้ยยังชีพจากราชการ 14.8 เงินบำเหน็จ บำนาญ 4.9% จากคู่สมรส 4.3% ดอกเบี้ยเงินออมและการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ 3.9%

รัฐ-เอกชนเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ พัฒนาคุณภาพชีวิต

ในขณะที่ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนเป็นปัญหาของสังคม หลายรายป่วยเป็นโรคซึมเศร้า บางพื้นที่มีรายงานการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุที่ถูกทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมจัดทำโครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อเป็นการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ในช่วงที่ลูกหลานต้องออกไปทำงานในเวลากลางวัน

เทศบาลพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ได้เปิดให้ผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เข้าเรียนในหลักสูตรสูงวัย (สว.) ในสาขาดูแลสุขภาพ กิจกรรม นันทนาการ ในโรงเรียนผู้สูงวัยพิบูลมังสาหาร โดยเปิดเรียนทุกวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 9.00-12.00 น. โดยจะมีการเริ่มต้นกิจกรรมด้วยการเคารพธงชาติพร้อมกัน และเดินเป็นแถวเข้าเรียนในห้องเรียนซึ่งดัดแปลงมาจากหอประชุมรวมของเทศบาล

ภาพของผู้สูงอายุชายหญิง ผมสีขาว บางคนถักเปีย บางคนเกล้าผม แต่งกายชุดนักเรียนขี่จักรยานบ้าง ขึ้นรถรับส่งไปโรงเรียนบ้าง หรือบางรายมีผู้ปกครองมาส่งมารับ เป็นภาพคุ้นตาของผู้คนในอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

นายพิสุทธิ์ ยอดคำ ประธานนักเรียนและผู้ริเริ่มความคิดในการก่อตั้งโรงเรียนผู้สูงวัย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งโรงเรียนว่า เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยได้มีกิจกรรมสร้างสุขภาพด้วยกัน พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตให้แก่กัน โดยนักเรียนสูงวัยทุกคนจะได้ใส่ชุดนักเรียน เพราะบางคนไม่มีโอกาสได้ไปโรงเรียนหรือเรียนหนังสือในตอนเป็นเด็ก เชื่อว่าการทำกิจกรรมนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในพื้นที่ได้ดี

“จากตอนเริ่มต้นมีนักเรียนแค่ไม่ถึง หกสิบคน ตอนนี้มีมากกว่าร้อยคน ทุกคนตื่นเต้นรอคอยที่จะได้ไปโรงเรียนในวันอังคาร ช่วยทำให้เขามีกิจกรรมและตั้งตารอคอย ไม่เป็นคนแก่เหงาเฝ้าบ้านอีกต่อไป” ประธานนักเรียนกล่าว

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ มีส่วนสนับสนุนข้อมูลในรายงานฉบับนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง