นายกฯ ชี้ ข้อเสนอทางการเมืองของ 'เยาวชนปลดแอก' ต้องพิจารณาในสภา
2020.07.21
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เสนอให้มีการยุบสภาและอื่น ๆ ว่า ควรไปพิจารณาในสภา และเปิดเผยว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีการประชุมเรื่องการต่ออายุ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันพุธนี้ ขณะที่ประชาชนเตรียมจัดกิจกรรมไล่รัฐบาลทั่วประเทศ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า มีความเป็นห่วงเยาวชนที่มาร่วมชุมนุม โดยเสนอให้ผู้ชุมนุมนำข้อเสนอไปดำเนินการในรัฐสภา
“เรื่องข้อสามข้อก็ไปเสนอกันในสภา ตั้งคณะกรรมการอะไรก็ว่ากันไป มีอยู่แล้ว.. ผมเป็นห่วงกังวลเท่านั้นเอง ในการที่มีการเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้ ก็ได้มีการสั่งการอย่างเดียวว่า ขอให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เห็นใจในบรรดาเด็ก ๆ ของพวกเรา บรรดานิสิต นักศึกษา แล้วก็เป็นห่วงแทนผู้ปกครองเขาด้วย เท่านั้นเอง.. ก็ระมัดระวังการละเมิด ก้าวล่วง ผมคิดว่าประชาชนคงไม่ยอมนักหรอก ไม่ยอมจะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ไม่สมควรจะเกิดในประเทศไทยของเรา ผมจะไม่พูดมากในเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องการจะให้เป็นประเด็น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พรุ่งนี้ก็จะมีการประชุมกันต่อไปอีกครั้งหนึ่ง ว่ามันมีความจำเป็นอะไรอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุด คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้มีไว้ใช้เพื่ออะไร ผมเคยพูดไปหลายครั้งแล้วล่ะ เพราะหลายกฎหมายมันไม่ครอบคลุมไง ผมไม่ได้เอากฎหมายนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมทั้งสิ้นเลย เพราะว่ามันไม่เกี่ยวเลย เป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ก็มีของเขาอยู่แล้ว ผมไม่ต้องไปสั่งการอะไรเขาเพิ่มเติม” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
การแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ สืบเนื่องจาก ช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม 2563 บริเวณข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีนักศึกษาและประชาชนกว่า 2 พันคน รวมตัวกันชุมนุมขับไล่รัฐบาล ท่ามกลางการเฝ้าระวังสถานการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่าร้อยนาย โดยกิจกรรมระหว่างการชุมนุมประกอบด้วยการปราศรัยของแกนนำนักศึกษา รวมถึงประชาชน การชูป้ายข้อความ การร้องเพลง และการตะโกนโห่ร้อง การชุมนุมโดยภาพรวมเป็นไปอย่างสันติ แต่ก็ที่มีเหตุกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะ ๆ กระทั่งการชุมนุมดำเนินไปจนถึงเวลาประมาณ 00.00 น. ของวันอาทิตย์ แกนนำนักศึกษาจึงประกาศหยุดการชุมนุม
และในวันเดียวกันนี้ พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธานประชุมกำชับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับ ผบ.ร้อยฯ ของ บก.น.1-9 และ บก.อคฝ. ในการดูแลความสงบเรียบร้อยของกลุ่มผู้ชุมนุมต่าง ๆ ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวไปทบทวนหลักการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมฝูงชนให้ถูกต้อง และเป็นไปตามของกฎหมาย การพิจารณาดำเนินคดีกับกลุ่มเยาวชนที่รวมกลุ่มจัดกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานสืบสวนสอบสวน โดยกำลังรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ
ช่วงค่ำ เวลา 20.00 น. กลุ่มนิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในนาม มศว คนรุ่นเปลี่ยน ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ชมสวนใหม่ยามสองทุ่ม” โดยรวมตัวกันกับประชาชนจำนวนหลายสิบคนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ยืนชมสวนซึ่งถูกจัดรอบอนุสาวรีย์ มีการชูป้าย และตะโกนข้อความ ยุบสภา และ สวนสวยจังเลย อย่างละ 10 ครั้ง ก่อนยุติกิจกรรมเมื่อเวลา 20.30 น. ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนาย
ทั้งนี้ ในการชุมนุม นายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ประธานกลุ่มเยาวชนปลดแอก หนึ่งในผู้ร่วมจัดงานได้แถลงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม 3 ข้อ คือ ขอให้รัฐบาลยุบสภาภายใน 2 สัปดาห์ หยุดคุกคามประชาชน และจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยประกาศว่า หากรัฐบาลไม่ตอบรับข้อเรียกร้องจะมีการยกระดับการชุมนุม
“ต้องยุบสภา รัฐบาลสืบทอดอำนาจภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19.. หยุดคุกคามประชาชน.. การคุกคามและยัดข้อหายังดำเนินต่อไป การคุกคามทั้งทางกายภาพและทางกริยา แทบจะไม่ต่างจากสมัยที่ คสช. ยังมีอำนาจอยู่.. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เรามีรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ.. หากไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล ต่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้ เราจะทำการยกระดับการชุมนุมต่อไป” นายทัตเทพ ระบุ
ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่ และอุบลราชธานี มีการชุมนุมเรียกร้องใน 3 ข้อเรียกร้องเดียวกับที่กรุงเทพฯ โดยจังหวัดเชียงใหม่เริ่มกิจกรรมเวลา 17.00 น. บริเวณประตูท่าแพ มีประชาชนเข้าร่วมหลายร้อยคน ขณะที่ในเวลาเดียวกัน หน้าศาลหลักเมืองอุบลราชธานี ประชาชนกว่าร้อยคนได้ร่วมปราศรัยวิพากษ์-วิจารณ์รัฐบาล และเรียกร้องการยุบสภาเช่นกัน
ต่อมาในวันจันทร์ มีกลุ่มประชาชนไปชุมนุมกันที่หน้ากองบัญชาการทหารบก เพื่อตอบโต้การที่ พ.อ.หญิง นุสรา วรภัทราทร อดีตรองโฆษกกองทัพบก เขียนเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า การชุมนุมของประชาชนในวันเสาร์เป็น “ม็อบมุ้งมิ้ง” ไม่มีเหตุผล อีกทั้ง ยังได้มีการปราศรัยต่อต้านการจัดซื้อเครื่องบินเจ็ท GulfStream สำหรับภารกิจของผู้บังคับบัญชา และบุคคลสำคัญ มูลค่า 1.3 พันล้านบาทของกองทัพบกด้วย
ขณะเดียวกัน จังหวัดชลบุรี และมหาสารคาม เตรียมจัดกิจกรรมขับไล่รัฐบาลในวันพุธนี้ จังหวัดขอนแก่น และพระนครศรีอยุธยาจะจัดกิจกรรมในวันพฤหัสบดี จังหวัดนครราชสีมา ลำพูน และอุดรธานี จะจัดกิจกรรมในวันศุกร์ ขณะที่ จังหวัดร้อยเอ็ดเตรียมจัดกิจกรรมในต้นเดือนสิงหาคม 2563
ในเรื่องนี้ นายอนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ความผิดพลาดในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นสาเหตุหลักที่กระตุ้นให้ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล และนายอนุสรณ์ ยังระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
“ความวิตกกังวลเรื่องโควิดลดลง มีมาตรการผ่อนคลายมากขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนเห็นว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นเรื่องทางการเมืองมากขึ้น ประกอบกับความผิดพลาดในการคลี่คลายปัญหาหรือจัดการปัญหาโควิดของรัฐบาล เราเคยเตือนรัฐบาลแล้วว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์นี้มันไม่เกี่ยวกับการควบคุมโรค ถ้าใช้ไม่ถูกมันก็จะหมดความศักดิ์สิทธิ์ไปเอง ซึ่งคิดว่าหลังจากวันที่มีการชุมนุม จะเห็นว่าประชาชนไม่ได้เกรงกลัวการถูกตั้งข้อหาจากรัฐบาล การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จัดการกับคนก็น่าจะค่อย ๆ หมดลง และมันจะย้อนกลับไปหารัฐบาลเอง” นายอนุสรณ์ กล่าว
ศาลฎีกาตัดสินคดี คนฉีกบัตรประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ผิดจริง จำคุก 4 เดือน
ในช่วงเช้า วันเดียวกัน ศาลอาญาพระโขนงได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีฉีกบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 โดยตัดสินให้จำคุก 4 เดือน ปรับ 4 พันบาท นายปิยรัฐ จงเทพ ซึ่งเป็นผู้ฉีกบัตรออกเสียงประชามติ ในคูหาเขตบางนา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 อย่างไรก็ตาม โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี
คดีนี้ เป็นคดีหมายเลขดำ 5952/2559 ที่พนักงานอัยการพระโขนง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคอนาคตใหม่ และอดีตนายกสมาคมเพื่อเพื่อน ตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ โดยคดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2560 ให้ลงโทษนายปิยรัฐ ฐานทำลายบัตรออกเสียง และทำให้เสียทรัพย์ ให้ลงโทษจำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท แต่จำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี
ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ให้จำคุกนายปิยรัฐ 6 เดือน ปรับ 6,000 บาท แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้หนึ่งในสามเหลือจำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี และในวันนี้ นายปิยรัฐ ได้เดินทางไปศาลพร้อมด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ และเลขาธิการคณะก้าวหน้า ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 4 เดือน ปรับ 4,000 บาท นายปิยรัฐ โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 1 ปี