หนองจิก ปัตตานี พัฒนาพื้นที่รกร้างริมทาง หวังเพิ่มรายได้ประชาชน

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.05.09
ปัตตานี
TH-agriculture-1000 นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และนายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ร่วมเปิดโครงการบูรณาการเกษตรก้าวหน้าริมทางหลวงสาย 43 ที่ อ.หนองจิก จ. ปัตตานี วันที่ 9 พฤษภาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์ (9 พ.ค. 2559) นี้ ที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ส่วนราชการได้ร่วมเปิดโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชน หวังช่วยเหลือชาวสวนยางที่ได้รับผลกระทบจากภาวะราคายางตกต่ำ

โดยนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมด้วยนายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน และประชาชน รวมกว่า 150 คน เป็นสักขีพยานในการเปิดโครงการบูรณาการเกษตรก้าวหน้าริมทางหลวงสาย 43 ที่บริเวณริมถนนสาย 43 ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก

โดยโครงการนี้ดำเนินการบนที่ดินของรัฐที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ 755 ไร่ เป็นโครงการพัฒนาฟาร์มเกษตร เพื่อสร้างอาชีพเสริมให้กับประชาชนในพื้นที่

โดยจะเน้นการปลูกพืชผักในแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผน การบริหารจัดการ ร่วมกับภาครัฐ ภายใต้นโยบายประชารัฐ

นายสุริยะ อมรโรจน์วรวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงจุดมุ่งหมายของการดำเนินโครงการต่อสื่อมวลชนว่า “โครงการดังกล่าวต้องการพลิกฟื้นผืนแผ่นดินที่ถูกทิ้งร้างไปสู่แปลงเกษตรผสมผสาน เพื่อประโยชน์ในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ สร้างรายได้ให้กับประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของพื้นที่”

ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ชี้แจงว่า โครงการนี้จะเน้นที่การพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนมีความรัก ความสามัคคี และมีจิตใจอาสาที่จะดูแลคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของตนเองให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งผู้คนที่สัญจรผ่านไปมาในแต่ละวันยังสามารถใช้ประโยชน์ร่วมได้

“โครงการนี้ หวังให้ประชาชนมีความร่วมมือร่วมใจทำงาน มีความทุ่มเทเพื่อภูมิลำเนาบ้านเกิดของตนเอง และเชื่อว่าโครงการจะเป็นประโยชน์ และสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับประชาชนทุกคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากโครงการสามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะดำเนินการขยายผลการทำงานไปยังพื้นที่ร้างอื่นๆ ต่อไป” นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายอาหามะ มีนา ชาวอำเภอหนองจิก กล่าวว่า ประชาชนหวังว่าโครงการนี้จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนได้

“ดีใจมากที่หน่วยภาครัฐเข้ามาส่งเสริมอาชีพให้กับประชาชน เพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงที่ยางราคาตกต่ำและอากาศร้อนจัด ทำให้น้ำยางออกมาไม่ดีเท่าที่ควร มั่นใจว่า หลังจากนี้ชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มจากส่วนนี้ มากกว่า 300-500 บาทต่อครอบครัว” นายอาหามะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในปี พ.ศ. 2556 ประชากรไทยมีรายได้ต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 193,394 บาท ส่วนประชากรในปัตตานีมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปีเพียง 73,745 บาท ยะลา 95,947 บาท และ นราธิวาส 65,081 บาท เท่านั้น

สถานการณ์ราคายางตกต่ำ

ในปัจจุบัน น้ำยางดิบมีราคากิโลกรัมละ 56-57 บาท ยางแผ่นมีราคากิโลกรัมละ 58 บาท และเศษยางหนึ่งกิโลกรัม มีราคา 20-22 บาท โดยในช่วงนี้ถือว่า ราคายางเพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากน้ำยางผลิตได้น้อย เพราะเข้าสู่ฤดูพักกรีดยางในหน้าร้อน

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี 2558 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้ดำเนินนโยบายการนำยางพารามาแปรรูป เพื่อการใช้งานในประเทศ การสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชทางเลือกพร้อมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการชดเชยรายได้ไร่ละหนึ่งพันห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินสิบห้าไร่ ทำให้ราคายางพาราเริ่มสูงขึ้นจากเดิมที่มีราคาประมาณกิโลกรัมละ 35 บาท เป็นกิโลกรัมละ 45 บาท

อย่างไรก็ตาม นายทรงวุฒิ ดำรงกุล ประธานกรรมการวิสาหกิจชุมชนพัฒนาและแปรรูปน้ำยางตาชี อำเภอยะหา จังหวัดยะลา และคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 ว่า รัฐบาลควรเร่งดำเนินนโยบายการแปรรูปยางพารา เพื่อใช้งานในประเทศ เพื่อรักษาราคายางพาราให้อยู่ในระดับที่เกษตรกรไม่เดือดร้อน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง