ศาลฎีกายกฟ้องจำเลย ในคดีหมิ่นสถาบันหลังคดีดำเนินมา 6 ปี

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.10.20
TH-article112-1000 กลุ่มนักเคลื่อนไหวนำดอกไม้มาไว้อาลัย นายอําพล ตั้งนพคุณ ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกยี่สิบปี ในคดีหมิ่นฯ ได้เสียชีวิตในเรือนจำ หน้าเรือนจำกรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555
เอเอฟพี

ในวันอังคาร (20 ต.ค. 2558) นี้ ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ยกฟ้อง น.ส. นพวรรณ ตั้งอุดมสุข จำเลย ในความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

โดนกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อฝ่ายโจทก์คือพนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 ได้กล่าวหาจำเลย น.ส. นพวรรณ ตั้งอุดมสุข จำเลย ว่าเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 จำเลย ได้โพสต์ข้อความลงในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ประชาไท ด้วยข้อความที่ทำให้เสื่อมเสียต่อเบื้องสูง เป็นคดีหมายเลขดำ อ.1257/2552 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหามาตั้งแต่ต้น

ในการต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมนั้น ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2554 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าพยานหลักฐานที่เป็นหมายเลข IP Address ซึ่งใช้โพสต์ข้อความและเบอร์โทรศัพท์ สำหรับใช้ต่ออินเทอร์เน็ต ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว                 

จากนั้น อัยการโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งศาลอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2556 เห็นว่าแม้ไม่มีประจักษ์พยาน แต่เจ้าหน้าที่รัฐ พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า หมายเลข IP Address ในเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องไม่สามารถปลอมแปลงได้ และในการโพสต์ข้อความจำเป็นต้องใช้ชื่อและรหัสผ่านด้วย หากรหัสผ่านไม่ตรงกับข้อมูลของจำเลย ก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ จึงพิพากษากลับให้จำคุก 5 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 ซึ่งเป็นบทหนักสุดและให้ยึดเอกสารข้อความการกระทำผิด

ต่อมาจำเลยได้ยื่นฎีกาต่อสู้คดี โดยระหว่างฎีกา น.ส. นพวรรณ จำเลย ได้ประกันตัวไปวงเงิน 1 ล้านบาท โดยวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา แต่ น.ส. นพวรรณ จำเลยไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา ศาลอาญาจึงให้ออกหมายจับและปรับนายประกัน 1 ล้านบาท  

โดยวันนี้ ทนายความ และบิดาของ น.ส. นพวรรณ ซึ่งเป็นนายประกันจำเลย เดินทางมาศาลพร้อมแถลงต่อศาลว่า ยังไม่สามารถติดตามจำเลยได้ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย 

ขณะที่ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำเบิกความขอผู้จัดการฝ่ายบริการลูกค้า ซึ่งให้บริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต พยานโจทก์ รับฟังได้ว่า ตรวจสอบข้อมูลหมายเลข IP Address ที่โพสต์ข้อความในวันที่ 15 ต.ค.2551 พบว่า เป็นรหัสของนางธนาวรรณ ตั้งอุดมสุข เชื่อมต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ และมี IP Address มีชื่อนางธนาวรรณ เป็นลูกค้า ไม่ใช่จำเลย เนื่องจากชื่อผู้ใช้เป็นคนละชื่อกับใบสมัครของจำเลย 

นอกจากนี้ ยังได้ความจากเจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรม คอมพิวเตอร์ว่า พยานได้ตรวจพิสูจน์เครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา และอุปกรณ์เก็บข้อมูลของกลาง ไม่พบการเปลี่ยนข้อความเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2551 แต่กลับพบข้อความในคอมพิวเตอร์ของกลางมีการติดต่อกับเว็บไซต์ประชาไท ทั้งก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุหลายครั้ง

เห็นว่าโจทก์ มีแต่ IP Address เป็นพยานแวดล้อม ซึ่งไม่อาจบ่งชี้ได้แน่ชัดว่าจำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความ ทั้งพยานโจทก์ ต่างเบิกความไม่สอดคล้องกัน ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอด พยานหลักฐานโจทก์ จึงมีความสงสัยพอสมควรให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น พิพากษากลับให้ยกฟ้อง 

ภายหลังการพิพากษาคดีสิ้นสุดลง บิดาของ น.ส. นพวรรณ กล่าวว่า ตนสบายใจขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าลูกสาวไม่ได้ทำ จากนี้ จะทำเรื่องขอถอนหมายจับ และพยายามติดต่อลูกสาวเพื่อแจ้งว่าคดีจบแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ ติดต่อลูกสาวไม่ได้เลย ซึ่งตนคิดคาดว่าคงเพราะไม่อยากให้ครอบครัวเดือดร้อน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง