ประเทศไทย: อดีตนักหนังสือพิมพ์ปั่นจักรยานเพื่อรณรงค์สันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
2016.03.17
กัวลาลัมเปอร์

ฮัสซัน อับดุล ราห์มาน หรือผู้ที่ใช้นามปากกาว่า แอสโตรา จาบัต เป็นชื่อที่สื่อมาเลเซียคุ้นเคยกันดี เพราะงานเขียนที่เป็นที่ถกเถียงกันของเขา ในสิ่งตีพิมพ์ชื่อ มิงกวน มาเลเซีย ซึ่งเป็นสิ่งตีพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ของหนังสือพิมพ์รายวันภาษามาเลย์ที่ชื่อ อุตูซัน มาเลเซีย
งานเขียนของเขาก่อให้เกิดการถกเถียงกันมากจนกระทั่งเมื่อปี 2556 สำนักงานพัฒนากิจการอิสลามของมาเลเซียได้ตราหน้าว่าอดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้นี้ว่า เป็นผู้ให้การสนับสนุน “ลัทธิเสรีนิยมและพหุนิยม”
หนึ่งในงานเขียนของเขาที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดคือ ผลงานที่มีชื่อว่า “ศาสดามูฮัมหมัดสั่งให้เราปฏิเสธบทลงโทษในศาสนาอิสลาม” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 นับแต่นั้นมา พวกอนุรักษ์นิยมได้เรียกงานเขียนของเขาว่าแหกคอก
แอสโตรายังเขียนถึงความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ซึ่งเป็นหัวข้อปกติ สำหรับผู้ที่มาจากจังหวัดนราธิวาสเช่นเขา
ออกอากาศ
แอสโตรากล่าวว่า คอลัมน์ของเขาใน “มิงกวน มาเลเซีย” ทำให้เขาได้รับอีเมลและจดหมายอย่างน้อย 8,000 ฉบับ พร้อมกับลูกกระสุนปืนสองลูกจากบรรดาผู้วิจารณ์งานเขียนของเขา
ในปี 2556 แอสโตรานำงานเขียนของเขาออกอากาศ และได้กลายเป็นนักจัดรายการวิทยุชั้นนำของสถานีมีเดีย เซลาตัน (สื่อภาคใต้) สถานีวิทยุของไทยที่ออกอากาศเรื่องการเมือง และส่งเสริมการอภิปรายเกี่ยวกับความขัดแย้งในภาคใต้ มีผู้ติดตามฟังรายการของเขากว่า 2 ล้านคนทั่วเอเชีย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ แอสโตราได้วางปากกาและปิดไมโครโฟน เพื่อหันไปปั่นจักรยานแทน ชายวัย 62 ปีผู้นี้กำลังปั่นจักรยานข้ามประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เพื่อเผยแพร่ข้อความผ่านการเดินทางด้วยการปั่นจักรยานเพื่อสันติภาพของเขา นี่เป็นผลมาจากการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เกิดเหตุรุนแรงขึ้นมากมายหลายครั้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 20 ราย นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา เหตุการโจมตีครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในช่วงวันครบรอบ 56 ปี ของการสถาปนาขบวนการแนวร่วมปฏิบัติแห่งชาติมลายูปัตตานี โดยขบวนการนี้ยังคงเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีอำนาจมากที่สุดในบรรดากลุ่มติดอาวุธที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
เมื่อวันอาทิตย์ ผู้ก่อความไม่สงบได้ฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศ โดยบุกเข้ายึดโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ขณะที่ทำการโจมตีที่ตั้งทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดนราธิวาส องค์การสหประชาชาติ และ Human Rights Watch กล่าว เมื่อวันพุธ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OCHCR) ได้ออกแถลงการณ์ตำหนิการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบจำนวน 10-50 คน โดยรายงานกล่าวว่า คนเหล่านี้ได้บุกเข้ายึดโรงพยาบาลเจาะไอร้อง ในจังหวัดนราธิวาส เป็นเวลาประมาณ 30 นาที ขณะที่มีผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่การแพทย์อยู่ข้างในโรงพยาบาล
เบนาร์นิวส์ได้พบกับแอสโตราในกรุงกัวลาลัมเปอร์ หลังจากที่เขาเริ่มปั่นจักรยานออกจากประเทศไทยได้เป็นระยะทาง 1,400 กิโลเมตร โดยใช้เวลาประมาณสองเดือนเศษ
เขาได้พบปะกับผู้คนตลอดทาง และใช้เวลาในการ “อธิบายและทำให้คนเข้าใจถึงความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยเน้นว่า สันติภาพเป็นหนทางเดียวเท่านั้น
การเดินทางด้วยการปั่นจักรยานครั้งนี้ของเขา ซึ่งเขาเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง เกิดจากความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่ต้องการเห็นสันติภาพในดินแดนบ้านเกิดของเขา แม้การปั่นจักรยานครั้งนี้จะเป็นการกระทำที่ดูเหมือนเล็กน้อยก็ตาม แต่เขาเชื่อว่า ทุกคนต้องมีส่วนช่วยกันในการทำให้เกิดสันติภาพ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“การจะบรรลุสันติภาพได้นั้น เราต้องใช้วิธีที่หลากหลายของเราเอง วิธีของผมคือ การปั่นจักรยานไปถึงประเทศทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน
“ตอนนี้ เรามีอำนาจในการได้มาซึ่งการประกาศสันติภาพ... และผมกำลังทำในส่วนของผม เพื่อช่วยเร่งให้เกิดสันติภาพเร็วขึ้น พร้อมกันกับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่น ๆ ที่ต้องการให้เกิดการประกาศสันติภาพขึ้นในภาคใต้ของไทย” เขาบอกแก่เบนาร์นิวส์ในการให้สัมภาษณ์เป็นพิเศษ
แอสโตราคิดว่าจะเผยแพร่งานเขียน และวิดีโอสารคดีเกี่ยวกับการเดินทางของเขาในครั้งนี้
“ผมหวังว่าสารคดีนี้จะได้รับการแพร่ภาพในประเทศไทย ผมยังหวังด้วยว่า ผู้คนจะชอบ และเข้าร่วมในการรณรงค์เพื่อสันติภาพของผม” เขากล่าว
การปั่นที่น่าเสี่ยง
แอสโตราประสบความท้าทายต่าง ๆ ตลอดช่วงแรกของการปั่นของเขา
“มีกลุ่มติดอาวุธในภาคใต้ของไทย และทหารที่ต่อต้านความคิดเรื่องการประกาศสันติภาพ เพราะคนพวกนั้นคิดว่ายังไม่พร้อมเท่าไหร่ที่จะยุติการสู้รบลง” เขากล่าว
การเดินทางของแอสโตราเริ่มขึ้นด้วยการปั่นเป็นเวลาหกวัน จากจังหวัดปัตตานีไปยังนราธิวาส ร่วมกับนักปั่นอีกกว่า 30 คน จากมหาวิทยาลัยมหิดลในกรุงเทพฯ มหาวิทยาลัยสงขลาในจังหวัดปัตตานี และนักปั่นจากภาคใต้ของไทย
ในตอนแรก แอสโตราประสบความยากลำบาก และมักจะรั้งท้ายขบวนเสมอ เพราะเขาไม่ใช่นักปั่นระยะไกล
“นี่เป็นการปั่นที่น่าเสี่ยง เพราะผมมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเป้าของกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่ม เพราะพวกนั้นรู้ว่าผมเป็นใคร และรู้ภารกิจการปั่นของผมในครั้งนี้” เขากล่าว “ที่สุดแล้ว ในวันสุดท้ายของการปั่นในภาคใต้ของไทย ผมปั่นได้อย่างคงเส้นคงวา และปั่นนำขบวนนักปั่นทั้งทีมตลอดวันนั้น”
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แอสโตราได้แยกตัวออกมาจากทีม และปั่นคนเดียวจากประเทศไทยไปยังมาเลเซีย โดยปั่นเป็นเวลา 17 วัน ด้วยระยะทางกว่า 800 กม. ไปจนถึงกรุงกัวลาลัมเปอร์
“การปั่นช่วงนี้แตกต่างไปจากช่วงแรกของผมในประเทศไทย ผมไม่ได้เจอภัยคุกคามจากกลุ่มติดอาวุธในมาเลเซียเลย แต่ผมต้องทนกับสภาพอากาศที่รุนแรง และต้องดูแลตัวเองในยามฉุกเฉิน” เขากล่าว
ความท้าทายตลอดเส้นทาง
ในไม่ช้า เขาได้พบกับนักปั่นชาวมาเลเซียคนอื่น ๆ แอสโตราเล่าให้ฟังถึงความปลาบปลื้มยินดีของเขา ในขณะที่เขาปั่นไปยังรัฐต่าง ๆ ในมาเลเซีย โดยบอกว่า ผู้คนในท้องที่และบรรดาผู้ติดตามผลงานเขียนของเขา โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ได้ให้การต้อนรับเขาเป็นอย่างดี
“ผมไม่คิดว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างดีขนาดนั้นจากคนในท้องที่ที่นี่ พวกเขาจัดหาที่พักค้างแรมและอาหารให้แก่ผม ผมรู้สึกโชคดีที่ถูกล้อมรอบด้วยคนมีน้ำใจ” เขากล่าว
นอกจากข้อความเกี่ยวกับสันติภาพแล้ว แอสโตรายังต้องการเผยแพร่แนวคิดเรื่องการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพด้วย
หนึ่งปีสำหรับสันติภาพ
แอสโตรากำลังปั่นจักรยานต่อไปยังภาคใต้ของมาเลเซีย โดยจะปั่นเข้าไปในสิงคโปร์ และปั่นกลับมายังประเทศไทยผ่านทางรัฐต่าง ๆ ของมาเลเซีย เช่น ปะหัง ตรังกานู และกลันตัน
เขาคาดว่าการปั่นครั้งนี้จะใช้เวลาหนึ่งปี โดยเขาจะปั่นเข้าไปในเขมร เวียดนาม ลาว เมียนมาร์ อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และติมอร์ เลสเต
ขณะที่แอสโตรากำลังปั่นจักรยานเพื่อรณรงค์ให้เกิดสันติภาพ รัฐบาลทหารของไทยยังคงพยายามโน้มน้าวกลุ่มติดอาวุธและกลุ่มย่อยต่าง ๆ ต่อไป เพื่อขอให้กลับสู่การพูดคุยเพื่อสันติอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 เมื่อประเทศยังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลพลเรือน
รัฐบาลได้กำหนดการลงนามในข้อตกลงสันติภาพเอาไว้ที่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 แต่ พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง สมาชิกคนหนึ่งในคณะเจรจาของไทย ไม่ได้บอกว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ ความขัดแย้งที่มีมานานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนกว่า 6,000 รายแล้ว นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา