มาเลเซียและไทยโต้แย้งกรณีปิดชายฝั่งไม่รับผู้อพยพเพิ่ม

โดย ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.05.14
TH-boat-620 ผู้อพยพชาวโรฮีนจานอนเหยียดอยู่บนเรือลำหนึ่ง ห่างจากชายฝั่งจังหวัดสตูลของไทย 17 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
เอื้อเฟื้อภาพโดย กองทัพเรือไทย

เมื่อวันพฤหัสบดี ชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แก้ตัว กรณีตัดสินใจห้ามผู้อพยพชาวโรฮีนจาและชาวบังกลาเทศที่หิวโหยอดอยากจำนวนมากบนเรือ เข้าประเทศ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากต่างประเทศและภายในประเทศที่โจมตีนโยบายนี้

“กองทัพเรือไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ควรหยุดผลักไสไล่ส่งคนเหล่านี้ และหันมาร่วมกันช่วยเหลือผู้อพยพที่ตกระกำลำบากบนเรือเหล่านั้น” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ องค์กรฮิวแมนไรทส์วอทช์ (Human Rights Watch) ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่ง

“รัฐบาลเมียนมาได้ก่อวิกฤตนี้ขึ้นโดยการกดขี่ชาวโรฮีนจาเรื่อยมา” เขากล่าว “ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทำให้เหตุการณ์แย่ลงไปอีกมาก ด้วยนโยบายเย็นชาที่ผลักไสไล่ส่ง ‘มนุษย์เรือ’ ระลอกใหม่นี้ และทำให้หลายพันชีวิตต้องตกอยู่ในอันตราย”

นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ “รู้สึกตกใจ เมื่อทราบว่าบางประเทศอาจกำลังห้ามเรือบรรทุกผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้าประเทศ” แถลงการณ์ฉบับหนึ่งของยูเอ็นกล่าว

"เลขาธิการสหประชาชาติได้กระตุ้นให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ธำรงไว้ซึ่งพันธะผูกพันว่าด้วยการช่วยเหลือในทะเล ... เขายังกระตุ้นให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกในการนำผู้อพยพขึ้นฝั่งอย่างทันกาล และเปิดชายแดนและท่าเรือไว้เพื่อช่วยเหลือผู้อ่อนแอที่ต้องการความช่วยเหลือ” แถลงการณ์นั้นกล่าว

ยุติธรรมแล้วหรือ

เมื่อวันพฤหัสบดี กองทัพเรือไทยกล่าวว่า ได้ซ่อมแซมเรือและจัดหาเสบียงเพิ่มให้แก่ชาวโรฮีนจาจำนวน 300 คน บนเรือลำหนึ่งที่อยู่ห่างจากจังหวัดสตูลออกไป 17 กิโลเมตร แต่เจ้าหน้าที่อ้างว่าผู้โดยสารบนเรือไม่ต้องการขึ้นฝั่ง

“ไม่มีใครบนเรืออยากขึ้นมาบนฝั่งไทย พวกเขาอยากเดินทางไปอีกประเทศหนึ่ง” พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว สำนักข่าวเอพีรายงาน

ขณะเดียวกัน มาเลเซียก็ไม่ยอมให้เรือบรรทุกผู้อพยพประมาณ 500 คน ลำหนึ่งที่อยู่นอกรัฐปีนัง ทางตอนเหนือของมาเลเซีย และเรืออีกลำที่บรรทุกผู้อพยพ 300 คน ที่อยู่ใกล้เกาะลังกาวี เข้าประเทศ ตามรายงานข่าวหลายรายงาน

"เรากำลังให้สัญญาณที่ถูกต้องแก่คนเหล่านั้น เพื่อส่งพวกเขากลับไปยังที่ที่จากมา” สำนักข่าวรอยเตอส์อ้างคำพูดของนายวัน จูไนดิ ตวนกู จาฟาร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย

"ประเทศของคนเหล่านั้นไม่ได้กำลังอยู่ในช่วงทำสงคราม ถ้าเรือไม่เสียหายอะไร พวกเขาควรแล่นเรือกลับไปยังประเทศของตัวเอง"

ที่กรุงเทพฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยยอมให้ผู้อพยพเดินทางเข้ามาในประเทศมานานแล้ว แต่จะยอมให้คนเหล่านั้นอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยไม่ได้

“ถ้าเราเปิดประตูต้อนรับอย่างเสรี ทุกคนก็เข้ามาได้ตามอำเภอใจสิ” เขากล่าว

ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยอยู่แล้วประมาณ 100,000 คน ในค่ายผู้ลี้ภัยจำนวนเก้าแห่งตามชายแดนติดกับเมียนมา เขากล่าว

“ส่วนเรื่องที่จะไปประเทศที่สาม เลิกพูด ไม่มีใครรับ แต่ทุกคนพยายามที่จะให้ประเทศกลางเช่นเรารับผิดชอบ มันเป็นธรรมหรือไม่”

จำเป็นต้องมีมาตรการด้านมนุษยธรรมจากประเทศอิสลามทันที

บรรดานักเคลื่อนไหวและผู้นำศาสนาในประเทศที่ได้รับผลกระทบ ต่างแสดงความไม่พอใจอย่างยิ่งต่อการผลักไสไล่ส่งเรือผู้อพยพ

“นี่ไม่ใช่การผลักไสไล่ส่ง แต่เป็นการผลักให้ตาย” เนอร์ คาห์น ผู้อำนวยการองค์กร Ain o Shalish kendro องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายองค์กรหนึ่งในบังกลาเทศ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง