ผู้นำศาสนาอิสลามกระตุ้นรัฐเร่งแก้ปัญหาความไม่สงบ หลังเหตุยิงระเบิดเข้าบ้านคน
2016.02.09

ในวันจันทร์ (8 กุมภาพันธ์ 2559) นี้ นายนิมุ มะกาเจ อดีตประธานคณะกรรมการอิสลาม จังหวัดยะลา แสดงความคิดเห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐควรจะรีบหาวิธีแก้ไขปัญหาและป้องกันเหตุความไม่สงบในพื้นที่ ทั้งยังต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อลดความหวาดวิตกของชาวบ้าน หลังมีเหตุการณ์ยิงลูกระเบิดตกใส่บ้านประชาชน
หลังจากที่คนร้ายไม่ทราบกลุ่มได้ทำการยิงระเบิดเข้าใส่บ้านของประชาชนที่ บ้านหมู่ 3 ตำบลกาเยาะมาตี อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งส่งผลให้บ้านหลังดังกล่าวได้รับความเสียหาย แต่เคราะห์ดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
“เป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนกำลังหวาดหวั่นและเล่าลือกันในชุมชน ถือเป็นภารกิจหลักของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาส่วนนี้” นายนิมุ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว ในวันนี้
นายนิมุ ยังได้แนะนำวิธีรับมือกับปัญหาดังนี้ “คิดว่าเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบสภาพของวัตถุระเบิด ประวัติการสูญหาย หรือการประดิษฐ์การนำไปใช้ ต้องพิจารณาว่ามี(ระเบิดลักษณะนี้)ในท้องที่ใดบ้าง ต้องติดตามประวัติบุคคลผู้ก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ ทั้งอดีตและปัจจุบัน”
“ต้องสืบหาข้อมูลเครือข่ายที่สามารถส่งกัน ต้องมีระบบการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้คนไม่ตระหนก แต่ให้ตระหนักในการช่วยเหลือค้นหาและแจ้งเจ้าหน้าที่ โดยมีรางวัลให้ผู้แจ้ง และต้องไม่ข่มขู่ว่าผู้พบเห็นมีส่วนร่วมกับผู้ก่อเหตุรุนแรง” นายนิมุ กล่าว
ทั้งนี้ นายนิมุยังได้เสนอว่า รัฐควรเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติ โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม และดำเนินการด้วยสันติวิธี เพราะเขาเชื่อว่าสันติวิธีเป็นแนวทางพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สร้างสรรค์
เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ระเบิดตรวจสอบ “ระเบิดแสวงเครื่องแบบหัวจรวด” ที่กลุ่มพูโลเอ็มเคพีอ้างว่าเป็นผู้ผลิต เพื่อโจมตีค่ายทหาร อ.หนองจิก จ. ปัตตานี 30 ม.ค. 2559 (เบนาร์นิวส์)
ด้านนายมะแอ สะอะ อดีตสมาชิกขบวนการพูโล ได้เปิดเผยถึงเหตุการณ์ยิงระเบิดดังกล่าวว่า เขาเองเพิ่งทราบข่าวการยิงระเบิดครั้งนี้ จากการที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาสอบถามขอข้อมูล ซึ่งเขาเองได้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ไปว่า หลักฐานที่พบมีลักษณะเหมือนสัญลักษณ์ของขบวนการพูโลจริง
“ก็ได้บอกกับเจ้าหน้าที่ ไปว่าชื่อ NAMPRA Army กับธงชาติเป็นของพูโล ส่วนจะมาจากพูโลจริงหรือไม่นั้นก็ ยังไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่ที่แน่ๆ รอบแรกนายกัสตูรี่ มาห์โกตาออกมายอมรับว่าของพูโล” นายมะแอกล่าว
นายมะแอ กล่าวเสริมว่าตนเองไม่คาดคิดว่า กลุ่มพูโลจะมีความสามารถในการทดลองการยิงระเบิดจากระยะไกลแทนการวางระเบิด
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฎิบัติการนายหนึ่งได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนเกินไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารยังเชื่อว่า การกระทำที่เกิดขึ้นยังเป็นแค่การพยายามที่จะยกระดับศักยภาพของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หาใช่การโจมตีเพื่อสร้างความเสียหาย ดังนั้น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงถือว่าไม่ได้ร้ายแรงจนน่าหวาดวิตก
ขบวนการอ่อนด้อยลง
พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตนายทหารการข่าวที่เคยปฏิบัติการในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ทัศนะว่า การพยายามในการใช้การยิงระเบิดสะท้อนถึงการอ่อนแอลงของการปฏิบัติการ
“กองกำลังของฝ่ายขบวนการอ่อนด้อยลง ในระยะหลังมีรูปแบบการทำงานที่มีการหลีกเลี่ยงการปะทะ ในปีที่แล้ว ในการวางระเบิด มักมีการเข้าโจมตีซ้ำ และมีการล้อมยิง มีการเข้าปะทะ แต่ปีนี้หลีกเลี่ยงการปะทะ”
“อาจจะมีการรวมตัวกันของขบวนการต่างๆ ได้จริง แต่คงไม่สามารถควบคุมกองกำลังในพื้นที่ได้ เป็นการอ้างการเป็นแกนนำ เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เช่น การได้กลับบ้านเป็นฮีโร่ (หากเหตุการณ์สงบ)”
“คนที่เป็นกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องรับจ้างการก่อการเพื่อการเลี้ยงดูชีวิตตัวเองอยู่ โดยมีการแบ่งพื้นที่ตามตำบล เชื่อว่าเหตุการณ์ยังไม่จบ”
ผู้เชี่ยวชาญ: กลุ่มพูโลอาจพยายามขยายบทบาท
ทางด้าน ดร. ซัคคารี อาบูซา ศาสตราจารย์ประจำ National War College แห่งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงในเอเชียอาคเนย์ กล่าวแสดงความคิดเห็น แก่เบนาร์นิวส์วานนี้ว่า
“การที่กลุ่มพูโลมีการออกสื่อในหลายสื่อสังคมออนไลน์เพื่อโฆษณาเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มตนเองนั้น นับว่าน่าสนใจทีเดียว"
"ค่อนข้างชัดเจนว่ากลุ่มนี้กำลังพยายามขยายบทบาทของตนเองในองค์กรมารา ปาตานี และในกระบวนการสันติภาพ"
"และวิธีเดียวที่พวกเขาสามารถทำได้ ก็คือการสร้างสถานการณ์การโจมตี แต่พวกเขามีตัวผู้ก่อการในสนามน้อยกว่ากลุ่มบีอาร์เอ็น ดังนั้น พวกเขาจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆในการก่อเหตุปั่นป่วน”
นักวิชาการกล่าว รัฐบาลไทยไม่ควรประมาท
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า พูโลยังมีบทบาทอยู่ในการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การที่มีระเบิดจรวดในพื้นที่ ปัตตานี และนราธิวาส ถือว่าเป็นเรื่องปกติของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“อาจเป็นไปได้ที่พูโลจะผลิตระเบิดเอง ตามที่ได้ออกมายอมรับหลายครั้งว่าระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่พูโลเป็นคนทำ และก็มีการยอมรับด้วยว่าพูโลมีความเชี่ยวชาญในการผลิตระเบิด”
“ในส่วนของการรวมตัวของกลุ่มขบวนการ คิดว่าเป็นไปได้เพราะหลังจากที่มีองค์กรมาราปาตานีขึ้น พูโลที่มี 3 กลุ่ม ย่อยก็รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว การที่พูโลพัฒนาระเบิดออกมาเป็นจรวดเป็นเรื่องที่พึ่งเกิดขึ้น และแสดงให้เห็นว่าพูโล มีการพัฒนาและต้องการแสดงศักยภาพให้เห็นว่าทำได้ ซึ่งในหลักความจริงเขาก็ทำได้จริงๆ มีศักยภาพภาพจริงๆ”
“รัฐบาลไทยไม่ควรประมาท ถึงแม้ระเบิดที่พบยังไม่มีความน่ากลัว เท่าประเทศสงครามทางตะวันออกกลาง ควรจริงจังในการทำพื้นที่ให้เกิดสันติสุข”
ลักษณะระเบิดแสวงเครื่องรูปแบบใหม่
“ฝ่ายผู้ก่อการพยายามพัฒนายิงหัวระเบิดจากระยะไกล อยากทำเป็นจรวดที่ทำงานได้จริง แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าสามารถทำได้ผลหรือไม่” เจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายท่านหนึ่ง ไม่ประสงค์ออกนามกล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“เท่าที่พบ มีการพัฒนาการยิงหัวระเบิดในสองลักษณะ คือ ที่การบรรจุดินขับอยู่กับฐานยิงเช่นที่นราธิวาส ส่วนอีกแบบเป็นลูกจรวดที่ยิงไปทั้งลูก ที่พบที่ปัตตานี แต่ทั้งหมดมีตราธงของพูโลเหมือนกัน”
“ลูกที่ยิงที่บาเจาะ นราธิวาส ที่ยิงจากฐาน ไม่สามารถยิงได้ไกล ยิงได้เพียงประมาณ 150 เมตร”
“ส่วนที่ปัตตานี พบลูกจรวดที่ไม่สามารถยิงขึ้นได้รวมสองลูก และคาดว่ามีอีกสามลูกที่ยิงไปแล้ว ซึ่งชาวบ้านบอกว่าได้ยินเสียงยิงขึ้นไป แต่ไม่ทราบจุดที่จรวดตก ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังหาร่องรอยอยู่”
เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ดินที่นำมาเป็นดินขับจรวดนั้นเป็นดินชนิดใด สำหรับหัวระเบิดยังคงใช้ดินระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Device – IED)
“สำหรับหัวระเบิด ยังคงใช้หัวรบปุ๋ยยูเรียผสมน้ำมันดีเซล หรือ ANFO (Ammonium Nitrate/Fuel Oils) โดยใช้เชื้อปะทุเพื่อจุดระเบิดที่ดัดแปลงเอาแก๊ปในจานท้ายกระสุนปืน และเข็มแทงชนวน เชื่อว่าการทำงานยังไม่สมบูรณ์ จึงไม่มีการระเบิด”
“หัวจรวดใช้การตัดเป็นแฉก แล้วบีบเข้ามาเชื่อมติดกัน เป็นที่น่าสนใจว่าทำที่ไหน การทำระเบิดของกลุ่มพูโล ตั้งแต่ยุคก่อน จากอัฟกานิสถาน รวมทั้ง เรียนรู้จากอินโดนีเซีย”
“เขาคงจะแสดงออกว่าตนมีอาวุธยิงระเบิด เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองก็เป็นไปได้”