ตำรวจเตรียมออกหมายจับคดีระเบิด 7 จังหวัดใต้เพิ่มอีก 1 ราย
2016.09.14
นครศรีธรรมราช

ในวันพุธ (14 กันยายน 2559)นี้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รอง ผบ.ตร.) เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมประชุมตำรวจและหน่วยงานความมั่นคง เพื่อเร่งรัดการสืบสวนหาความคืบหน้าคดีระเบิดและวางเพลงใน 7 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 11-12 สิงหาคม 2559 เผยจะขอความร่วมมือจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อตรวจสอบหาเส้นทางการเงินด้วย
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยต่อสื่อมวลชนระหว่างลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชว่า ภายใน 1-2 วันนี้ ตำรวจจะเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อออกหมายจับผู้ต้องเพิ่มอีก 1 ราย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางระเบิดที่จังหวัดพังงา และวางแผนที่จะขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว
“ไปตั้งธงไม่ได้ การสอบสวนก็ต้องตามพยานหลักฐาน ก็หวังผลให้ประชาชนชี้เบาะแส เพื่อประโยชน์ในการจับกุม ก็เป็นกลุ่มมาจาก 3 จังหวัด ส่วนใหญ่ก็เคยมีหมายจับ แต่ว่าจะออกมายอมรับทั้งที่ไม่มีหลักฐานมันไม่ได้ ก็กำลังพยายามจะเชื่อมโยงเพื่อให้เข้า ปปง. เพื่อให้ ปปง.ไปตรวจสอบแหล่งที่มา แหล่งทุน จากประสบการณ์ในการทำงานเมื่อปี 47 พบว่า มีการโอนเงินมาจากต่างประเทศเข้ามาเป็นร้อยล้านบาท" พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าว
พล.ต.อ.ศรีวราห์ เพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน มีผู้ถูกออกหมายจับแล้ว 6 คน ซึ่งทั้งหมดมีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจากข้อมูลเชื่อว่า ผู้ที่ถูกออกหมายจับ 5 คน ยังคงหลบหนีอยู่ในประเทศ ยังไม่พบเบาะแสที่เชื่อมกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และยังไม่ทราบว่า เหตุใดกลุ่มบีอาร์เอ็นจึงออกมายอมรับการก่อเหตุครั้งดังกล่าว
ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกออกหมายจับจากคดีนี้แล้ว 6 ราย ประกอบด้วย 1.นายอาหามะ เลงหะ 2.นายรุสลัน ใบมะ 3.นายอัสมีน กาเต็มมาดี 4.นายอากีม ดอเลาะห์ 5.นายอับดุลกอเดร์ สาแล๊ะ และ 6.นายเสรี แวมามุ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุม นายอับดุลกอเดร์ สาแล๊ะ ได้แล้วในวันที่ 3 กันยายน 2559 ที่จังหวัดปัตตานี ขณะที่รายอื่นอยู่ระหว่างการดำเนินการจับกุม
สำหรับก่อนหน้านี้ที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เปิดเผยต่อสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ว่า พบหลักฐานของคดีระเบิดเป็นชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือ ที่มีสัญลักษณ์ของบริษัทให้บริการในประเทศมาเลเซีย และทางการได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซีย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบหลักฐานดังกล่าว ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงรายหนึ่งเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ถึงกรณีนี้ว่า พบหลักฐานการซื้อโทรศัพท์จากประเทศเพื่อนบ้านจริง
"เจ้าหน้าที่ตรวจพบการติดต่อสื่อสารของที่ก่อเหตุ มีการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นบางช่วง โดยการใช้ระบบโทรศัพท์แบบเฉพาะกิจที่ซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ก่อนนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยแบบชั่วคราว รวมทั้งยังพบการซื้อซิมการ์ดในคราวเดียว เป็นจำนวนมากถึง 36 เลขหมาย อย่างกรณีของจังหวัดพังงา พบผู้ร่วมก่อเหตุ มีการใช้โทรศัพท์รวม 4 ครั้ง พบว่า มีปลายสายอยู่ในจังหวัดปัตตานี” เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองด้านความมั่นคงรายหนึ่งกล่าว
ระหว่างวันที่ 11-12 สิงหาคม 2559 เกิดเหตุระเบิดและวางเพลิงหลายครั้งใน 7 จังหวัดภาคใต้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 คน และบาดเจ็บกว่า 30 คน ถือเป็นการก่อเหตุครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในรอบหลายปีของประเทศไทย