ห้าปีหลังเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ จับตัวผู้ต้องสงสัยได้สามราย

มารียัม อัฮหมัด
2021.08.11
ปัตตานี
ห้าปีหลังเหตุระเบิด 7 จังหวัดภาคใต้ จับตัวผู้ต้องสงสัยได้สามราย เจ้าหน้าที่และหน่วยกู้ชีพช่วยเหลือผู้บาดเจ็บจากเหตุระเบิดที่ตลาดคนเดิน ใกล้ศาลากลาง จังหวัดตรัง วันที่ 11 สิงหาคม 2559
เบนาร์นิวส์

ในวันครบรอบห้าปี ของการเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดและวางเพลิง ตามสถานที่ต่าง ๆ ใน 7 จังหวัดภาคใต้ ในวันพุธนี้ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บกว่า 30 ราย แหล่งข่าวกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับตัวผู้ต้องสงสัยได้สามราย จากหมายจับกว่าสิบรายที่เป็นบุคคลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายสิทธิพงษ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งรับว่าความให้กับลูกความที่เกี่ยวพันกับการวางระเบิดและวางเพลิง ในระหว่างวันที่ 10 ถึง 12 สิงหาคม 2559 กล่าวว่า การพิจารณาคดีล่าช้าลงเพราะมีสถานการณ์ไวรัสโคโรนา ซึ่งในห้วงเวลานั้นได้เกิดเหตุระเบิดมากกว่าสิบครั้งในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ภูเก็ต และหัวหิน อันเป็นที่ตั้งของพระราชวังไกลกังวล

“ที่จริงคดีไม่ได้ล่าช้า แต่เนื่องจากต้องเลื่อนเพราะโควิด ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยจริง ๆ โดยปกติแล้วคดีความมั่นคง ศาลยุติธรรมจะนัดพิจารณาคดีต่อเนื่องชัดเจน” นายสิทธิพงษ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันพุธนี้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ระเบิดที่ใช้การก่อการนั้น มีวัสดุ และลักษณะการประกอบเหมือนกับระเบิดที่คนร้ายใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้ใช้ภาพจากวงจรปิดระบุอัตลักษณ์ของคนร้าย จนทราบว่า ทั้งหมดเป็นคนในท้องที่สามจังหวัดชายแดนใต้

หลังจากเกิดเหตุได้ประมาณหนึ่งเดือน ได้มีเหตุการณ์วางระเบิดหน้าโรงเรียนบ้านตาบา อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยในคราวนั้น แกนนำอาร์เคเค ซึ่งเป็นเซลปฏิบัติการของขบวนการบีอาร์เอ็น ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การวางระเบิดที่หน้าโรงเรียน รวมทั้งการโจมตีเป้าหมายในภาคใต้ตอนบน เมื่อวันที่ 10 ถึง 12 สิงหาคม เรื่อยมา เป็นฝีมือของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ต้องการแสดงความไม่พอใจต่อความไม่จริงใจของรัฐบาลไทยในการพูดคุยสันติสุข

ในเวลานั้น คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เจรจากับมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มของขบวนการก่อความไม่สงบต่าง ๆ เพื่อหาทางยุติความไม่สงบ โดยปกติแกนนำระดับสูงของกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่มีสมาชิกหลบหนีไปอยู่ในมาเลเซีย ไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่ได้เปิดการเจรจากับคณะพูดคุยฯ โดยตรงเมื่อต้นปี 2564 นี้

ทนายความสิทธิพงษ์ ระบุว่า หลังจากถูกจับหลังเกิดเหตุได้ไม่นานใน พ.ศ. 2559 ทั้งสามรายถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ตามประกาศจากคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ เกี่ยวกับการกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ก่อนที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงในเดือนกรกฎาคม 2562 ให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม  

ทนายความสิทธิพงษ์ กล่าวว่า นายมูฮัมหมัด มูฮิ ชาวจังหวัดปัตตานี รับสารภาพว่าเป็นผู้วางระเบิดในภูเก็ต ได้ถูกจำคุกและพ้นโทษเรียบร้อยแล้ว

ส่วน นายอับดุลกอเดร์ สาแล๊ะ ที่ถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ และร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์นั้น ศาลจังหวัดตรังได้ยกฟ้องไปเมื่อเดือนพฤษภาคม ปีนี้ และคาดว่าทางฝ่ายอัยการจะยืนอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น

ในวันพุธนี้ ภรรยาของนายอับดุลกอเดร์ ซึ่งขอสงวนนามเพื่อความเป็นส่วนตัว กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สามีของตนต้องต่อสู้คดีด้วยความยากลำบาก

“เราได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ได้นำหลักฐานเท่าที่มีมายืนยันความบริสุทธิ์ สุดท้ายศาล (ทหาร) ก็ยังสั่งฟ้อง... ตอนแรกเขาจะไม่รับหลักฐานเพิ่ม แต่ต่อมาให้เรายื่นไป แล้วไม่รู้ว่าเอามาประกอบการพิจารณาด้วยหรือเปล่า แต่เราพอมีหวังเลยสู้คดี” ภรรยาของนายอับดุลกอเดร์ กล่าว

ทนายความสิทธิพงษ์ ระบุว่า จำเลยคนที่สาม คือ นายอับดุลสตอปา สุหลง ปัจจุบันถูกขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดภูเก็ต ซึ่งศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 2 กันยายน 2564 มีการเลื่อนคดีมาตลอดเพราะโรคระบาดโควิด

210811-TH-bombing-south-insert.jpg

เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนเฝ้าใกล้กับจุดวางระเบิด ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 12 ส.ค. 2559  (เอเอฟพี)

ในการดำเนินคดีเหล่านี้ นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ เห็นว่าเวลานานมากเกินไป และเป็นภาระในการแสวงหาความยุติธรรมของครอบครัวจำเลย

“ในตอนแรกต้องขึ้นศาลทหาร ในช่วง คสช. ซึ่งพลเรือนไม่ควรต้องขึ้นศาลทหาร เพราะไม่มีความเท่าเทียมในการต่อสู้ มีทั้งความล่าช้าและความไม่สะดวกในการเดินทางของครอบครัว เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม” นางสาวอัญชนา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ นางสาวอัญชนา พร้อมด้วยพวกอีกสองคน โดนกองทัพบกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท เพราะกล่าวหาว่าทหารซ้อมผู้ต้องสงสัย ขณะที่อยู่ในศูนย์สอบถามในค่ายอิงคยุทธบริหาร ก่อนที่จะถอนการดำเนินคดี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560

นับตั้งแต่กลุ่มก่อความไม่สงบเริ่มปฏิบัติการครั้งใหม่ในปี พ.ศ. 2547 ได้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 ราย ตามข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง