อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี นราธิวาสพบ “ผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้า” แห่งที่ 2 ในไทย

ระพี มามะ
2017.02.20
นราธิวาส
TH-butterfly-620 นายสนธยา กาญจนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อุทยานแห่งชาติบูโด-ปาดี อธิบายถึงชนิดต่างๆของผีเสื้อที่อาศัยในพื้นที่อุทยาน 16 กุมภาพันธ์ 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดี (16 กุมภาพันธ์ 2560) ที่ผ่านมา อุทยานบูโด-สุไหงปาดี ต.บาเจาะ จ.นราธิวาส จัดงานเปิดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชมผีเสื้อ เชิญชวนนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมพันธุ์ผีเสื้อกว่า 100 ชนิดในพื้นที่อุทยาน เผยค้นพบ “ผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้า” พันธุ์หายาก ซึ่งในประเทศไทยพบเพียง 2 แห่งเท่านั้นคือ จังหวัดสระแก้ว  และนราธิวาส

การเปิดโครงการครั้งปฐมฤกษ์ของอุทยานบูโด-สุไหงปาดี มีนายสิทธิชัย หมัดสี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี น.ท.ปฎิญญา แตงพลัก ผบ.ฉก.นย.นราธิวาส 32 และนายธีระศักดิ์ แวยูโซะ นายกเทศมนตรีตำบลบาเจาะ จ.นราธิวาส ร่วมเป็นประธานเปิดงาน โดยได้เชิญเยาวชนกว่า 300 คนเข้าเยี่ยมชมอุทยาน เพื่อศึกษาธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์จนกลายเป็นแหล่งรวมของผีเสื้อกว่า 100 ชนิด

นายสนธยา กาญจนะ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ อุทยานแห่งชาติบูโด-ปาดี หนึ่งในผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ผีเสื้อในประเทศไทยเปิดเผยถึงอุทยานแห่งบูโด-สุไหงปาดี ว่า อุทยานแห่งนี้มีเนื้อที่ประมาณ 294 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นอุทยานที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากมีความชื้นจากฝนที่ตกตลอดทั้งปี

“ผีเสื้อจะอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นป่า และตามแหล่งน้ำจืด บริเวณน้ำตกปาโจ ซึ่งน้ำตกดังกล่าว มีทั้งหมด 7 ชั้น ในส่วนการดูหรือส่องดูผีเสื้อ สามารถเดินดูได้ในบริเวณชั้น 1 รอบบริเวณป่าและน้ำตก ตามเส้นปกติและเส้นทางเดินป่า ซึ่งจะพบเห็นผีเสื้อหลายชนิดบินวน และเกาะกิ่งไม้ เป็นภาพผีเสื้อที่มีสีสันความสวยงามตามธรรมชาติเหนือคำบรรยาย” นายสนธยากล่าว

นายสนธยาระบุว่า ในการศึกษาวิจัยพันธุ์ผีเสื้อในพื้นที่อุทยานบูโด-สุไหงปาดี ตลอดระยะแค่ 2 ปี สามารถเก็บข้อมูลผีเสื้อที่อาศัยในพื้นป่าแห่งนี้ได้เกือบ 100 ชนิด โดยพบผีเสื้อหายาก เช่น ผีเสื้อสกุล (haraga) ผีเสื้อท้ายขาวปุยหิมะ (darpa pteria)  ผีเสื้อเจ้าหญิงสีฟ้า (prothoe franck) ผีเสื้อแหวนมลายู (ragadia makuta)

“ชนิดที่สำคัญคือ ผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้า (drina maneia) เป็นชนิดผีเสื้อที่หายาก และในตำราหนังสือวิจัยผีเสื้อพบว่า ในอดีตมีที่เดียวในประเทศไทยคือ ที่อุทยานแห่งชาติบางสีดา จ.สระแก้ว ปัจจุบัน พบที่อุทยานน้ำตกปาโจ นราธิวาส จำนวนมากเช่นกัน” นายสนธยากล่าว

นายสนธยาเพิ่มเติมว่า ผีเสื้อหนอนกลอยสีฟ้าถือเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศมาก การค้นพบครั้งนี้จึงมีความสำคัญต่อนักวิจัยธรรมชาติเป็นอย่างยิ่ง โดยนอกจากเป็นแหล่งรวมพันธุ์ผีเสื้อหายากแล้ว อุทยานบูโด-สุไหงปาดี ยังเป็นพื้นที่แรกที่พบใบไม้สีทอง หรือย่านดาโอะ ไม้เถาขนาดใหญ่ ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง หรือขนสีทองแดง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ซึ่งพบเฉพาะในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลาเท่านั้น และในอุทยานยังมีนกเงือกถึง 6 ชนิดอีกด้วย อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี และน้ำตกปาโจ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศศึกษาธรรมชาติ โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการดูผีเสื้อจะเป็นช่วงเวลาประมาณ 09.00 -15.00 น. โดยจะมีเจ้าหน้าที่อุทยานคอยอำนวยความสะดวก และรักษาความปลอดภัยตลอดทั้งวัน

เยาวชนเดินเยี่ยมชมอุทยานบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส 16 กุมภาพันธ์ 2560

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง