ทะเลมาบตาพุด กับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีทางหวนกลับ

ชาวประมงพื้นบ้าน : ขยะทะเลมหาศาล ดินใต้ทะเลเริ่มเป็นเลน สัตว์น้ำไม่สามารถอยู่ได้
วัจนพล ศรีชุมพวง
2024.10.14
ระยอง
ทะเลมาบตาพุด กับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีทางหวนกลับ ก้อน สินนอก ชาวประมงพื้นบ้านหนองแฟบออกเรือทำประมงชายฝั่ง มาบตาพุด ระยอง วันที่ 26 สิงหาคม 2567
วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์

“เมื่อก่อนบนฝั่งมีต้นกระถินขึ้นเต็มไปหมด ทะเลมีกุ้ง หอย ปู ปลา อุดมสมบูรณ์มาก ๆ อาชีพประมงพื้นบ้านจึงได้รับความนิยม อ่าวเต็มไปด้วยเรือหาปลาเทียบท่าจนนับนิ้วไม่ถ้วน ภาพที่เห็นจนชินตา คือ ครอบครัวพาเด็ก ๆ มาเล่นที่ชายหาด เวลาเดียวกันชาวเลก็ลงอวนหาปลากันคึกคัก” มนตรี คำประสิทธิ์ ชาวประมง บ้านหนองแฟบ อำเภอมาบตาพุด เล่าย้อนอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน

ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทำให้เกิดกลุ่มประมงพื้นบ้านถึง 48 กลุ่มที่นี่

“กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านหนองแฟบ” คือหนึ่งในนั้น ความสดของอาหารทะเลที่นี่ กลายเป็นเครื่องหมายการค้าที่สามารถดึงดูดคนต่างถิ่นให้แวะเวียนมาเลือกซื้ออาหารทะเลสดอร่อยจากเรือประมง

ในช่วงเช้าของทุกวัน ชาวประมงจะออกเรือไปวางอวนในทะเลใกล้ชายฝั่ง สายหน่อยพวกเขาจะไปอีกรอบเพื่อเก็บสิ่งที่อวนดักได้ แล้วนำมาขายให้กับลูกค้าที่มารอเลือกซื้อปูม้า ปูดำ ปูลายเสือ ปูใบ้ หอย กั้ง กุ้งแชบ๊วย ปลาหมึก ปลาเก๋า ปลากะพง ปลาอินทรี ฯลฯ เพื่อไปกินเอง หรือบ้างก็เพื่อนำไปส่งต่อให้กับร้านอาหารที่ต้องการวัตถุดิบสดอร่อย

ความคึกคักของหนองแฟบในฐานะแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยวที่อุดมไปด้วยธรรมชาติอันสมบูรณ์ ตลอดหลายสิบปีเดินมาถึงจุดหักเลี้ยว เมื่อโครงการนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในปี 2524 พร้อมด้วยโรงงานนับร้อย บริษัทพลังงาน และท่าเรือน้ำลึก แรงงานจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาที่นี่ พร้อมกับการพัฒนาทางวัตถุอย่างไม่หยุดยั้ง

6-7 ปีก่อน การขยายตัวของนิคมฯ เริ่มเข้าใกล้พื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้าน การขุดลอกและถมทะเล การสร้างท่าเรือน้ำลึกทำให้คนพื้นถิ่นดั้งเดิมพบว่า ทะเลที่พวกเขารู้จักไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“เวลาเก็บหอย เก็บปูที่ติดอวน เราเจอดินเลนมากขึ้น กุ้ง ปลาที่จับได้ก็น้อยลง คิดว่าในอนาคตไม่น่าจะมีสัตว์น้ำหน้าดินชนิดไหนอยู่ได้ เพราะดินใต้ทะเลเป็นเลนไปหมดแล้ว” ก้อน สินนอก ชาวประมง บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้น

ชาวประมงพื้นบ้านบอกว่า ดินใต้ทะเลเริ่มเป็นเลน หลังจากที่มีการขุดลอกและถมทะเล 4-5 ปี ให้หลัง พวกเขาเริ่มพบว่า พื้นที่ของเลนใต้ทะเลได้ขยายใหญ่ขึ้นจนน่าตกใจ

นอกจากสภาพระบบนิเวศที่แย่ลง ชาวบ้านเริ่มพบปรากฏการณ์ประหลาด เช่น ขยะทะเลจำนวนมหาศาลที่ถูกพัดมารวมกันในแอ่งกระทะของหาดหนองแฟบ ปรากฏการณ์นี้ทำให้ชาวประมงต้องขยับจุดวางอวนเพื่อหลบขยะทะเลไปเรื่อย ๆ 

หนึ่งปีที่ผ่านมามีความพยายามของภาครัฐและเอกชนในการฟื้นฟูทะเลมาบตาพุด ด้วยการปล่อยสัตว์น้ำกว่า 4 ล้านตัว ลงในทะเล แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่เป็นอย่างที่คาด เพราะชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ยังคงลดลงแบบไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด 

สุดท้ายแล้ว การพัฒนาที่เกิดขึ้นในมาบตาพุด แม้จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความอึดอัดใจให้กับชาวประมงจำนวนไม่น้อย แม้พวกเขาจะพยายามร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้รับการชดเชยบ้าง แต่ก็ดูเหมือนว่ามันจะไม่สามารถทดแทนกับวิถีชีวิตของพวกเขาที่ต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

2 fishery rayong.jpg

ชาวประมงพื้นบ้านหนองแฟบ ขนอวนจับปูขึ้นเรือเพื่อออกทำประมงชายฝั่ง ระยอง วันที่ 25 สิงหาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

1 fishery rayong.jpg

สภาพอ่าวหนองแฟบที่กลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านหนองแฟบ ยังคงทำประมงอยู่ในพื้นที่ซึ่งติดกันกับสถานีขนส่งก๊าซเหลวขนาดใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง วันที่ 25 สิงหาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์) 

3 fishery rayong.jpg

ชาวประมงพื้นบ้านหนองแฟบ ขนอวนจับปูขึ้นเรือเพื่อออกทำประมงชายฝั่ง ระยอง วันที่ 25 สิงหาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์) 

5 fishery rayong.jpg

สภาพขยะจากทะเลในบริเวณอ่าวหนองแฟบ ส่วนใหญ่เป็นขยะที่ลอยมาเกยฝั่ง ระยอง วันที่ 26 สิงหาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

6 fishery rayong.jpg

ชาวบ้านหนองแฟบขุดหอย ใกล้กับสถานีขนส่งก๊าซเหลวขนาดใหญ่ของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง วันที่ 26 สิงหาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์)

11 fishery rayong.jpg

ร้านอาหารเข้ามารับซื้อปูและปลาที่ชาวประมงพื้นบ้านหนองแฟบจับมาได้ ระยอง วันที่ 26 สิงหาคม 2567 (วัจนพล ศรีชุมพวง/เบนาร์นิวส์) 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง